ตรุษจีน เรื่องวุ่นๆ กับมือใหม่หัดไหว้เจ้า / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ตรุษจีน

เรื่องวุ่นๆ กับมือใหม่หัดไหว้เจ้า

 

ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ผมเซ่นไหว้บรรพชนและเทพเจ้าตามประเพณีจีน เนื่องจากปีนี้ไม่ได้กลับบ้านที่ระนอง ผมจึงทำอาหารไหว้คุณแม่เองที่บ้านในกรุงเทพฯ

การไหว้ตรุษจีนนั้น ที่จริงเขาไหว้กันในวัน “สิ้นปี” กล่าวคือ วันที่เราเรียกว่า “วันไหว้” เป็นวันสิ้นปีตามปฏิทินจีน ไม่ใช่วันปีใหม่ เหตุที่เขาไหว้ตอนสิ้นปีก็เพราะขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนบรรพชนที่ได้ดูแลคุ้มครองมาแล้วตลอดปี

อันที่จริงหากใครยึดถือประเพณีเคร่งๆ แล้ว ช่วงตรุษจีนเต็มไปด้วยวันไหว้ ไหว้กันสารพัดตลอดทั้งเทศกาล ไม่ได้ไหว้แค่วันสิ้นปีวันเดียว เริ่มตั้งแต่วันไหว้ส่งเจ้าเตาไฟ ซึ่งกำหนดในวันที่ยี่สิบสี่ค่ำเดือนสิบสองจีน ก่อนจะถึงวันไหว้สิ้นปี แล้วหลังจากนั้นก็ยังมีทยอยไหว้ต่างๆ อีก เช่น ไหว้รับเจ้ากลับมา ไหว้จ่ายสินเอี๋ยเทพโชคลาภ ไหว้วันเกิดพระเช็งจุ้ยจ้อซู ไหว้วันเกิดปู่ฟ้าหรือทีกง เรื่อยไปจนหมดเทศกาล ยาวนานเป็นสิบวัน

ผมว่าจะจัดไหว้ “ทีก้อง” ในวันที่เก้าของตรุษจีน เพราะมันมีคุณค่าทางใจกับคนฮกเกี้ยนและมีมิติทางประวัติศาสตร์ด้วย ไว้คงได้เล่าสู่กันฟังครับ

 

เรื่องคติความเชื่อและพิธีกรรมนี้ คนจีนในเมืองไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังที่คนภายนอกชุมชนจีนเข้าใจ

จีนแต่ละกลุ่มภาษาต่างมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง มีเหมือนมีต่างมีแปลก แม้จะใช้ปฏิทินร่วมกันและมีกิจกรรมหลักๆ อย่างเดียวกัน แต่หากศึกษาในรายละเอียดก็จะพบความหลากหลายแตกต่าง

เรื่องความหลากหลายแตกต่างนี่แหละ ที่ทำให้จีนด้วยกันทะเลาะกันหรือเขม่นกันเยอะแยะครับ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ กูไหว้แบบนี้มึงไหว้ผิด ต้องอย่างงั้นอย่างงี้ ฯลฯ

อีกอย่าง ยังมีเรื่องของหมอดูหรือซินแสผสมโรงเข้ามาอีก ทุกๆ ปีจะออกสื่อว่าต้องไหว้อย่างนี้จะเฮงจะรวย

คนเหล่านี้ก็มีสองพวก พวกหนึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน กับพวกที่อาจไม่มีเชื้อสายหรือไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนแต่ต้องทำงานสร้างรายได้

พวกแรกนั้นอาจมีปัญหาน้อยกว่าเพราะรู้วัฒนธรรมอยู่บ้าง

กระนั้นปัญหาของกลุ่มแรกคือ มักจะเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองมาขยายแล้วบอกว่ามีเฉพาะแบบนี้ที่ถูกต้อง จนราวกับเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมจีนทั้งหมดในเมืองไทย

ผมคิดว่าทุกครั้งที่มีการพูดถึงวัฒนธรรมจีนท้องถิ่นก็ควรบอกว่านี่เป็นวัฒนธรรมถิ่นไหน จะได้มีความชัดเจนว่ามันมีแบบอื่นๆ อีกนะ

ไม่ใช่ว่าจีนกลุ่มไหนมีคนมากสุดจะสมควรผูกขาดความถูกต้องในเรื่องวัฒนธรรม

 

อันนี้เป็นปัญหาเรื่องจีนศึกษาในเมืองไทยด้วยครับ เพราะผมคิดว่าคนเชื้อสายจีนในบ้านเราเกือบทั้งหมดมาจากภาคใต้ของจีน แต่เมื่อเราเรียนเกี่ยวกับจีนในระบบการศึกษา เราต้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนเมืองหลวงหรือจีนกลาง แต่เมื่อเราจะกลับมาสนใจวัฒนธรรมถิ่นตนเอง ก็ต้องขวนขวายหาความรู้ในครอบครัว ซึ่งบางบ้านคนรุ่นอาม่าอาก้องที่มีความรู้ล้วนไปสุขาวดีกันหมดแล้ว

ดังนั้น ขนาดจะกลับไปหารากแก้ว ไปหาความรู้ทางวัฒนธรรมของจีนถิ่นตนเองยังยากลำบาก มิไยจะกล่าวถึงความรู้ทางวัฒนธรรมของเพื่อนจีนกลุ่มอื่นๆ อีก

พอขาดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมของจีนกลุ่มอื่นๆ แล้ว อคติทางความรู้ก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดังที่ปรากฏกันอยู่

ส่วนพวกหมอดูหรือซินแสนี่สนุกมากๆ เพราะเก็บเล็กผสมน้อยมาสร้างนวัตกรรมทางความเชื่อใหม่ๆ ได้เสมอ

ล่าสุดปีนี้เพิ่งมีหมอดูออกมาบอกว่าไม่ควรใส่แดงในวันตรุษจีนเพราะเป็นสีกาลกิณี แต่ควรใส่เขียวมากกว่าตามหลักทักษา

เล่นเอามีคนงงจนเกิดปรากฏการณ์เสื้อสามสีในวันตรุษจีน พวกแรกคือพวกยึดคติความเชื่อเดิมก็ใส่แดงไป

พวกที่เชื่อหมอดูเพราะกลัวซวยก็ใส่เขียว และพวกที่กล้าๆ กลัวๆ เลยเปลี่ยนไปใส่ทองหรือเหลืองไปเลย

ที่จริงผมก็ไม่ได้จะบอกให้คนยึดมั่นถือมั่นตามประเพณีจนไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงอะไรนะครับ ใครใคร่ไหว้หรือทำอะไรก็แล้วแต่เขา แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ หากเรามีองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมหรือเข้าใจที่มา ความหมายของพิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้ก่อน การที่เราจะปรับหรือเปลี่ยนก็จะมีความหมายและเกิดประโยชน์มากขึ้น

คือทำไปด้วยความเข้าใจ มากกว่าความไม่เข้าใจแล้วก็ได้แต่ทำๆ ไป

 

เรื่องการเซ่นไหว้นี่ มีผู้แนะนำว่า เพื่อจะไม่ต้องวิ่งตามซินแสหรือหมอดูไปทุกปีๆ บ้านไหนไหว้มาอย่างไรก็ทำไปแบบนั้น อาหารแบบไหน จำนวนของไหว้ กระดาษไหว้ วิธีการ ฯลฯ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เหมือนใคร เพราะเป็นขนบจารีตของครอบครัว แต่หากมีอะไรอยากปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมหรือสถานการณ์ ก็พูดคุยตกลงกันในครอบครัวครับ

บ้านที่เป็นคนจีนคงใช้วิธีนี้ได้ง่าย แต่สำหรับ “มือใหม่หัดไหว้เจ้า” ซึ่งอาจเป็นคนจีนที่ไม่เคยไหว้เลยหรือเว้นว่างมานานแล้วอยากจะกลับมาไหว้ใหม่ หรือคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนแต่อยากไหว้ คงใช้วิธีทำตามที่สืบๆ กันมาได้ยากเพราะไม่มีตัวแบบ ทีนี้จะทำอย่างไร

ประการแรกครับ หากต้องการไหว้บรรพบุรุษหรือเทพเจ้าในเทศกาลต่างๆ คงต้องเริ่มจากการถามตนเองก่อนว่า จะไหว้เพื่ออะไร เช่น ไหว้เพราะมีความระลึกถึงท่านเหล่านั้น หรืออยากสืบสานวัฒนธรรม หรืออยากโชคดีมีสุข ฯลฯ

หากมีเหตุผลชัดเจนแล้ว จะได้ตัดสินใจว่าควรเริ่มต้นไหว้ไหม

เพราะการเซ่นไหว้ในเทศกาลนับว่าเป็นภาระทางการเงินระยะยาวด้วย โดยเฉพาะการเซ่นไหว้บรรพชน เพราะมีความเชื่อว่าหากได้เริ่มต้นไหว้บรรพชนในเทศกาลต่างๆ ไปแล้ว ห้ามเลิกหรือหยุดไหว้ จะทำให้ไม่เจริญรุ่งเรือง ไม่เป็นมงคล เนื่องจากเชื่อกันว่าบรรพชนท่านจะมารอรับการเซ่นไหว้ทุกปี

หากล้มเลิกไปก็เท่ากับท่านมาเก้อ มาแล้วลูกหลานไม่ยอมเซ่นไหว้

ด้วยเหตุนี้ คนจีนส่วนมาก มักมีบ้านรวมหรือบ้านที่ทำหน้าที่ดูแลการเซ่นไหว้โดยเฉพาะ มีลูกหลานทำหน้าที่ทำอาหารเซ่นไหว้ ซึ่งโดยมากเป็นสะใภ้หรือลูกสาวที่ไม่ได้ออกเรือน และมีเงินกองกลางของครอบครัวหรือเงินกงสีสำหรับการเซ่นไหว้ระยะยาว เพราะที่จริงมันก็เป็นเรื่องใหญ่อย่างที่บอกนี่แหละครับ

ความเชื่อนี้ดูจะเข้มข้นมาก แม้จะเกิดปัญหาทางการเงินในครอบครัวก็ต้องเซ่นไหว้เท่าที่จะทำได้ คุณป้าของผมเคยเล่าว่า สมัยก่อนบางปีท่านไม่มีเงินซื้อไก่เป็นตัวมาเซ่นไหว้ตรุษจีน ท่านก็ต้มไข่ไก่ แล้วก็บอกบรรพชนว่า ปีนี้มีเพียง “ไก่เนื้ออ่อน” เท่านั้นที่เอามาไหว้ ขอให้บรรพชนเห็นใจ แต่ก็ไม่มีการยกเลิกการไหว้สักครั้ง

นอกจากนี้ คนจีนยังถือกันว่า หากการเงินปกติหรือรุ่งเรืองดี ของไหว้จะต้องมีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง หรืออย่างน้อยก็เท่าเดิม

 

คนเชื้อสายจีนที่เพิ่งหัดไหว้ ไม่ว่าเทพหรือบรรพชน หากไม่มีธรรมเนียมเดิมของครอบครัว ก็ลองดูว่าตนเองเป็นคนจีนภาษาไหน แล้วก็ไหว้ไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่นตนก็ดีครับ หรือจะลองเปรียบเทียบวัฒนธรรมจีนต่างๆ แล้วเลือกเฟ้นที่คิดว่าเหมาะสมก็ไม่ผิด

ส่วนผู้ที่ไม่มีเชื้อสายจีนแต่อยากเริ่มต้นไหว้ อันนี้ผมคิดว่าควรศึกษาดูว่าการไหว้แต่ละเทศกาลมีความหมายอะไร เราไหว้เพื่ออะไร แล้วพิจารณาหลักของการไหว้ ความหมายของสิ่งต่างๆที่ใช้ในพิธี ดูจีนแต่ละกลุ่ม แล้วปรับมาเป็นของตนเองก็ย่อมได้

ที่สำคัญ ผมคิดว่าเราอาจปรับเปลี่ยนความหมายของการเซ่นไหว้ในพิธีต่างๆ ให้สอดรับกับสภาวการณ์ทางสังคมไทย เช่น นอกจากจะขอความเจริญรุ่งเรืองในทางส่วนตัวแล้ว ก็น่าจะขอพรเผื่อไปยังผู้ทุกข์ยาก หรือขอพรแก่สังคมโดยรวม

เพราะถ้าสังคมรุ่งเรือง สังคมมีธรรม และมี “เต๋า” หรือมรรควิถีที่ถูกต้องแล้ว

พวกเราทุกคนก็จะได้รับประโยชน์