การเมือง ‘น้ำมันรั่ว’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

การเมือง ‘น้ำมันรั่ว’

 

ผ่านมา 2 สัปดาห์เต็มๆ เหตุการณ์น้ำมันดิบของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง รั่วไหลลงอ่าวไทย ยังคงเต็มไปด้วยข้อสงสัยคาใจผู้คน ทั้งตัวเลขปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล การใช้สารเคมีสลายน้ำมันกว่า 8 หมื่นลิตรกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเล และรัฐบาลจะเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษแบบไหนกันแน่

ทำไมการตรวจสอบปริมาณน้ำมันรั่วของภาครัฐใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน นี่เป็นคำถามตัวโตๆ

เวลานี้ชาวบ้านรับรู้ตัวเลขล่าสุดจากฝ่ายบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ อ้างถึงผลคำนวณล่าสุดน้ำมันดิบรั่วว่ามีจำนวน 39 ตัน หรือเท่ากับ 47,000 ลิตร เพียงด้านเดียว

ถ้าเอาตัวเลขของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานมากางดูพบว่า บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ มีกำลังกลั่นน้ำมันวันละ 175,000 บาร์เรล หรือราว 20 ล้านลิตร ในจำนวนนี้ ส่งผ่านท่อใต้ทะเลโหลดใส่เรือขนส่งน้ำมันไปเท่าไหร่ คณะกรรมการตรวจสอบน่าจะรู้แล้วว่าปริมาณน้ำมันรั่วในวันนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

และข้อมูลทั้งหมดควรนำมาเปิดเผยให้รับรู้กันได้แล้ว

 

ในวันที่ 25 มกราคม บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ อ้างว่ามีเหตุน้ำมันรั่วจากท่อใต้ทะเลเมื่อเวลา 21.06 น. วันที่ 25 มกราคม อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ราว 20 กิโลเมตร

คุณสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ระบบทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลและท่อใต้ทะเลของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ทำมาตั้งแต่ปี 2538 จะหมดอายุการใช้งาน และต้องรื้อเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมดภายในปี 2568

นั่นเท่ากับว่าท่อน้ำมันดังกล่าวผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 27 ปี จึงมีโอกาสที่ท่อและวาล์วน้ำมันใต้ทะเลจะแตกหรือรั่วได้ทุกขณะ

คุณสนธิยังบอกว่า เมื่อต้นเหตุน้ำมันรั่วมาจากท่อใต้ทะเล การปิดเปิดวาล์วต้องใช้นักประดาน้ำ และต้องใช้เวลานานในการปิดท่อ

ประเด็นน่าสงสัย นักประดาน้ำใช้เวลาในการปิดวาวล์สกัดน้ำมันรั่วไหลนานเท่าไหร่

บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ แจ้งกรมควบคุมมลพิษ ครั้งแรกปริมาณ 400,000 ลิตร จากนั้นลดลงมาเหลือ 160,000 ลิตร ถัดมา 5 หมื่นลิตร

อีกวัน คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันยอดใหม่ที่ 2 หมื่นลิตร ในที่สุดก็มาจบที่ตัวเลข 47,000 ลิตร

ตัวเลขปริมาณน้ำมันรั่วย่อมมีผลต่อคดีและการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งจากฝ่ายภาครัฐ ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ

น้ำมันรั่วออกมาน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีผลดีกับบริษัท ความรับผิดชอบกับความเสียหายก็ย่อมลดน้อยลงตามสัดส่วน

หรือว่าการเปลี่ยนตัวเลขจากครั้งแรกจนกระทั่งมาจบครั้งสุดท้ายเป็นเรื่องของการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับกลุ่มการเมืองอย่างที่มีข่าวสะพัด?

 

ในประเด็นการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมัน หรือ Dispersant นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ว่า มีการอนุมัติให้ฉีดสารเคมีชนิดนี้ 85,400 ลิตรซึ่งพิจารณาแล้วตามความจำเป็น

ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนโปรยสารเคมีตัวนี้ลงทะเลต้องผสมน้ำ 10 เท่า หากใช้ในปริมาณ 85,400 ลิตร สามารถสลายคราบน้ำมันได้มากถึง 854,000 ลิตร

จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า ถ้าน้ำมันรั่วในปริมาณแค่ 47,000 ลิตรอย่างที่บริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ อ้าง ทำไมต้องขออนุมัติใช้สารเคมีนี้มากมายขนาดนั้น?

ในภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เมื่อเย็นวันที่ 27มกราคม หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วได้ 2 วัน พบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกินพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร

หรือว่าการโปรยสารเคมีในปริมาณมากมายมหาศาลครั้งนี้ต้องการให้คราบน้ำมันแตกตัวในระดับโมเลกุลขนาดเล็กลงสู่ท้องทะเลเร็วที่สุด กลบสายตาชาวบ้าน ลดแรงกดดันทางการเมืองที่จะพุ่งกระแทกใส่รัฐบาล?

 

สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากขึ้นเท่านั้น แม้จะยกข้ออ้างสารเคมีคล้ายๆ กับน้ำยาล้างจานระดับความปลอดภัยตามมาตรฐาน food grade อย่างที่คุณวราวุธให้สัมภาษณ์

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ มีทั้งเกิดจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล และสารเคมีที่ฉีดโปรยลงทะเลซึ่งไปทำปฏิกิริยากับคราบน้ำมันแล้ว

กระจายตกตะกอนในท้องทะเล

รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า น้ำมันรั่วไหลเกิดผลกระทบทั้งสิ้น เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เกิดเป็นครั้งแรก เมื่อ 9 ปีก่อนเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เวลาผ่านไป 1 เดือน ตรวจสอบพบปะการังฟอกขาว

ส่วนคราบน้ำมันจะเคลือบเหงือกสัตว์น้ำอย่างหอยปูปลาทำให้ขาดอากาศหายใจ

การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 2-3 ปี ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง

ส่วนประเด็นคุณสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข กินโชว์อาหารซีฟู้ดที่จับมาจากทะเลระยอง หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วผ่านไปแค่ 10 วัน สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยจากการกินอาหารทะเลนั้น

น่าจะเป็นแค่สร้างภาพทางการเมืองมากกว่า

เพราะหากคุณสาธิตต้องการพิสูจน์ความจริงว่าน้ำมันรั่วใต้ทะเลระยองไม่ได้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ ต้องตั้งทีมแพทย์ สาธารณสุข ลงไปเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลและตรวจวิเคราะห์ผลสัตว์ทะเลอย่างใกล้ชิดพร้อมๆ กับรายงานให้ประชาชนทราบในทุกระยะจนกว่าทะเลกลับมาใสสะอาดไร้คราบน้ำมัน

เช่นเดียวกัน คุณวราวุธ ศิลปอาชา ถ้าต้องการโชว์ความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม จากการใช้สาร Dispersant กำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลระยอง

ที่คุณวราวุธอ้างเป็นสารระดับ Food Grade ก็ต้องติดตามวิเคราะห์ผลกระทบอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน

ที่สำคัญ คุณวราวุธต้องนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้กับบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ผู้ก่อมลพิษทางทะเลในขณะนี้อย่างเข้มข้น เพราะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว รวมถึงต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทเพื่อนำไปชดเชยกับประชาชน กลุ่มธุรกิจการค้าท่องเที่ยว ประมง รวมถึงค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของรัฐโดยเร็วที่สุด