ปู๊น…ปู๊น…รถไฟญี่ปุ่นมาแล้ว/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ปู๊น…ปู๊น…รถไฟญี่ปุ่นมาแล้ว

 

บริษัท JR ฮอกไกโด ญี่ปุ่นได้มอบรถไฟดีเซลที่ปลดระวางแล้ว 17 ตู้ เป็นรถไฟด่วน Okhotsk(オホーツク)Kiha รุ่น 183 ให้แก่ไทยโดยไม่คิดมูลค่า โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่ง 42.25 ล้านบาท ได้ถูกขนส่งมาทางเรือถึงท่าเรือแหลมฉบังเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา

รถไฟรุ่นนี้เริ่มวิ่งบริการในฮอกไกโด ญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี 2524 ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาก วิ่งระหว่างสถานี อาบาชิริ(網走)ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะฮอกไกโด อากาศหนาวจัดในฤดูหนาวนักท่องเที่ยวนิยมไปดูธารน้ำแข็งในเดือนกุมภาพันธ์ สมัยก่อนมีที่คุมขังนักโทษประเภทถูกปล่อยเกาะแบบเดียวกับเกาะตะรุเตาของไทย รถไฟนี้วิ่งเป็นระยะทางกว่า 300 ก.ม. ถึง สถานีซัปโปโร(札幌)เมืองหลักของเกาะฮอกไกโด

เมื่อนำเข้ามาแล้ว การรถไฟฯ มีภาระการซ่อมเครื่องยนต์ และปรับฐานล้อให้เข้ากับรางรถไฟของไทยที่มีขนาดเล็กกว่า ปรับปรุงภายในและระบบปรับอากาศเนื่องจากไทยเป็นเมืองร้อนชื้น แต่รถไฟทั้ง 17 ตู้นี้วิ่งฝ่าอากาศหนาว และหิมะมาตลอดชีวิต

มีการตั้งคำถามว่า เราควรรับของเก่าอายุ 40 ปี มาซ่อม หากต้องหาอะไหล่ ก็จำเป็นต้องสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งอาจเลิกผลิตอะไหล่สำหรับรุ่นนี้แล้ว หรือหากยังมีก็ต้องรอส่งมาจากญี่ปุ่นอีก จะใช้งานได้อีกกี่ปี คุ้มค่าเงินและค่าขนส่งอีกกว่า 42 ล้านบาทหรือไม่

ส่วนเสียงที่สนับสนุนการรับบริจาคก็บอกว่า ของเมด อิน แจแปน มีคุณภาพน่าเชื่อถือ แม้จะเก่าแต่ก็ยังใช้งานได้อีก ถ้าสั่งซื้อรถไฟใหม่ ต้องใช้งบประมาณอีกมาก ซึ่งไม่สมควรต้องเสียนั่นเอง

ญี่ปุ่นเข้มงวดมากเรื่องการกำจัดขยะขนาดใหญ่ ขยะที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ในครัวเรือนที่จะทิ้งทีวี ตู้เย็น เครื่องเรือนเก่า ต้องเสียค่ากำจัด คนญี่ปุ่นมักขายให้ร้านของเก่าซึ่งรับซื้อในราคาถูกแสนถูก บางคนยกให้เพื่อน เพื่อไม่ต้องควักเงินค่ากำจัดขยะ

กรณีรถไฟให้เปล่านี้ก็เช่นกัน หากบริษัทรถไฟ (JR ต่าง ๆ) ไม่เร่งบริจาคหรือหาบ้านใหม่ให้รถไฟปลดระวางเหล่านี้ บริษัทจะต้องแบกรับภาระค่ากำจัดตู้รถไฟเก่าเพื่อให้ตู้ขบวนใหม่มาแทนที่ การจอดทิ้งไว้เป็นสิ่งผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คำนวณคร่าวๆว่า มีค่ากำจัดประมาณตู้ละ 6 – 9 แสนบาท ค่าใช้จ่ายจำนวนมากนี้ยิ่งทำให้ผลประกอบการของแต่ละบริษัทในสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 แย่ลงไปอีก

ญี่ปุ่นเริ่มบริจาครถไฟดีเซลที่ปลดระวางแล้วแบบให้เปล่าให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ประมาณปี 2000 และยังคงทำต่อไป เนื่องจากบริษัทรถไฟJRจำเป็นต้องเปลี่ยนรถไฟที่ใช้อยู่เดิมให้เป็นรุ่นใหม่ที่พัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หนังสือพิมพ์โยมิอุริ(読売新聞)ได้ลงข่าวเกี่ยวกับรถไฟที่ให้ไทยนี้ ในวันที่ 21 มกราคม ว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในหมู่คนไทยในทางไม่เห็นด้วย ชาวเน็ตบางคนบอกว่า ไม่ต่างจากรับ “เศษเหล็ก”(金属くず)มาเลย

กระแสต่อต้านเกิดขึ้นที่เวียดนามเช่นกัน บริษัท JR East ได้บริจาครถไฟดีเซล 37 ตู้ให้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เวียดนามรายงานว่า ผู้คนพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า “สภาพเก่าคร่ำคร่าแล้ว”

อินโดนีเซียก็รับบริจาครถไฟดีเซลกว่า 800 ตู้ จากบริษัท JR East และ บริษัทโตเกียว เมโทร ระหว่างปี 2013 – 2020 พม่าและฟิลิปปินส์ ก็มีรถไฟที่รับบริจาคจากญี่ปุ่นวิ่งบริการอยู่จำนวนมากเช่นกัน

มีรายงานข่าวว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เป็นแฟนตัวยงของรถไฟรุ่นต่างๆ พากันแวะไปยลโฉมรถไฟเก่าที่เคยใช้บริการ ในประเทศปลายทางเหล่านี้ด้วย

ในระยะหลังนี้ มีกระแสต่อต้านการรับรถไฟเก่าจากญี่ปุ่นมากขึ้น อาจเป็นเพราะประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ก็อยากซื้อของใหม่ ๆ ไว้เป็นเจ้าของนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง และค่าปรับปรุงของเก่า ก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย การซื้อของใหม่น่าจะประหยัดและสะดวกกว่า

นาย โคอิชิ คาวามุระ(川村晃一)นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการรถไฟของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า “ตู้ขบวนรถไฟผลิตขึ้นตามคำสั่ง (order made) ถ้าเป็นของเก่าที่รับมา เมื่อเสียอาจต้องใช้เวลารอในการสั่งอะไหล่มาซ่อม แต่สำหรับรถใหม่ผู้ผลิตย่อมมีช่วงเวลารับประกันให้ด้วย” ดังนั้น จึงพบว่าบางประเทศไม่สามารถรักษาสภาพรถไฟที่ได้รับมา และใช้ประโยชน์ต่อไปได้ จำต้องปล่อยทิ้งไว้เป็นเศษเหล็กผุพัง

ในภาวะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ บริษัทผู้ผลิตรถไฟต่างพยายามขยายตลาด โดยเฉพาะจีนเริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งของเจ้าตลาดเดิมคือ ญี่ปุ่นและอเมริกา อาทิ รถไฟใต้ดินในอินโดนีเซีย และรถไฟในฟิลิปปินส์สั่งผลิตจากบริษัทฮิตาชิ บริษัทในเครือของบริษัท JR East ส่วนเวียดนามสั่งผลิตจากทั้งญี่ปุ่นและจีน รถไฟสายสีม่วงของไทยที่เริ่มให้บริการในปี 2016 ก็สั่งผลิตจากบริษัทในเครือบริษัท JR East ของญี่ปุ่นเช่นกัน

นาย คาวามุระ ให้ความเห็นถึงแนวโน้มของการสั่งผลิตรถไฟใหม่ว่า “การใช้รถไฟดีเซลเก่าที่ได้รับบริจาคมาน่าจะเป็นการนำไปใช้เฉพาะเส้นทางเดิมเท่านั้น คงไม่อาจนำไปใช้ในเส้นทางที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้”

บริษัท JR ฮอกไกโดเคยมอบรถไฟดีเซล Hamanasu 10 ตู้ ให้ไทยเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2559 การรถไฟฯ มีแผนจะนำมาให้บริการเส้นทางท่องเที่ยว ลำปาง – เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ – น้ำตกไทรโยคน้อย ใช้เวลาปรับปรุงไม่เกิน 2 ปี แต่…ขบวนรถไฟนี้ยังจอดร้างอยู่ที่ศรีราชา ข่าวล่าสุดว่าจะประกาศทีโออาร์เดือนกุมภาพันธ์นี้และให้บริการได้ต้นปี 2566

ส่วนรถไฟที่ได้รับมาครั้งนี้ การรถไฟฯ ตรวจดูสภาพเบื้องต้นแล้ว ประเมินว่าใช้งานได้อีก 50 ปี ใช้เวลาปรับปรุงประมาณ 2 ปี มีแผนใช้เป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยว โดยทดลองเปิดระยะทางสั้น ๆ คือ สายอุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ สายนครราชสีมา – ขอนแก่น สายกรุงเทพฯ – หัวหิน – สวนสนประดิพัทธ์ และ พื้นที่ท่องเที่ยวแถบภาคกลาง เช่น อยุธยา ลพบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ข่าวล่าสุดว่าจะประเดิมเส้นทางสั้นๆ อยุธยา หรือฉะเชิงเทรา ได้กลางปีนี้

ถ้าแผนเป็นจริง?… เตรียมตัวนั่ง “รถไฟญี่ปุ่น” ไปเที่ยวทั่วไทยกัน ปู๊น ปู๊น…