สุขสันต์วันเกิด! หนึ่งขวบรัฐประหารเมียนมา/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สุขสันต์วันเกิด!

หนึ่งขวบรัฐประหารเมียนมา

 

“ผู้นำรัฐประหารในเมียนมาพยายามที่จะปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ในหนึ่งปีที่ผ่านไป ฝ่ายต่อต้านกลับเข้มแข็งมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน”

Helen Regan ผู้สื่อข่าว CNN

 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาคือ วาระครบรอบ 1 ปี ของการยึดอำนาจในเมียนมา…

1 ปีแล้วที่ความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาที่นำโดยนายพลมินอ่องหล่าย ในการ “กระชับอำนาจ” จากการรัฐประหารในวันนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ และการต่อต้านรัฐบาลทหารจากฝ่ายประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไป และดำเนินไปด้วยความเข้มข้นอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลจะปราบปรามอย่างรุนแรง

หนึ่งปีหลังการรัฐประหารที่ผ่านมา คงจะต้องถือว่าเป็น “บทเรียนสำคัญ” สำหรับนักรัฐประหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภาพการต่อสู้อย่างกล้าหาญของฝ่ายประชาธิปไตย ดูจะเป็น “เครื่องเตือนใจ” อย่างดีว่า รัฐประหารไม่ใช่เส้นทางสู่อำนาจที่ปูลาดด้วย “กลีบกุหลาบ” สำหรับผู้นำทหารอีกต่อไปแล้ว

จนมีคำวิจารณ์ว่าการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้น เป็น “รัฐประหารที่ล้มเหลว” (failed coup) [ความเห็นของ Yanghee Lee ผู้ประสานงานของสหประชาชาติทางด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา]

เพราะจนถึงบัดนี้ รัฐบาลทหารยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง

และตัวเลขความสูญเสียของฝ่ายต่อต้านในรอบหนึ่งปีคือ 1,503 ชีวิต ถูกจับ 11,838 คน

 

มุมมองเปรียบเทียบ

แม้รัฐประหารไทยในปี 2549 และ 2557 จะสร้างคำตอบให้แก่ผู้นำทหารสาย “ขวาจัด” ว่า การยึดอำนาจของทหารในโลกศตวรรษที่ 21 ยังเป็นเรื่องง่าย และเมื่อยึดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกังวลมาก กล่าวคือ ฝ่ายต่อต้านบนถนนจะไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับการใช้อำนาจของผู้นำรัฐประหาร ที่มีทหารเป็นกำลังสนับสนุนหลัก

ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องกลัวพรรคฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลทหารสามารถใช้อำนาจจัดการกับ ส.ส.ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทั้งยังอาจใช้อำนาจยุบพรรคฝ่ายค้านได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังใช้อำนาจทั้งทางทหาร/ตำรวจ และทางกฎหมายจัดการฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างให้เกิด “อาณาจักรแห่งความกลัว” อันจะทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพของการ “ยอมจำนน” และทำให้การต่อต้านรัฐบาลทหารเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด

การใช้มาตรการในแบบ “สายเหยี่ยว” เช่นนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารในหลายประเทศใช้มาก่อน เพื่อควบคุมการต่อต้านที่เกิดขึ้น และยังเป็นมาตรการที่จะแสดงให้เห็นถึง “อำนาจทหาร” ในทางการเมือง

ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในการเมืองไทยมาแล้ว จนปรากฏการณ์เช่นนี้คือ ภาพสะท้อนของความสำเร็จของผู้นำทหารไทย โดยเฉพาะการใช้อำนาจหลังการรัฐประหาร 2557 ที่ผู้นำทหารสามารถควบคุมการเมืองได้ตามต้องการ

และอาเซียนก็ไม่เคยแสดงการคัดค้านรัฐประหารไทยอย่างจริงจัง ภายใต้ “บรรทัดฐานอาเซียน” ที่ยึดหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” จนกลายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่การรัฐประหาร โดยองค์กรในภูมิภาคจะไม่เข้าแทรกแซง

ภาพทางการเมืองในเวทีสาธารณะเช่นนี้กลายเป็นความสำเร็จที่อาจทำให้ผู้นำทหารเมียนมาเกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ทหารจะควบคุมไม่ได้

อีกทั้งผู้นำทหารเมียนมาเคยทำรัฐประหารมาก่อน และประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายมาแล้วทุกครั้ง

อีกทั้งการใช้อำนาจทางทหารในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดในการเมืองของประเทศมานาน แม้จะดูเหมือนไม่แตกต่างกับรัฐประหารในไทย

แต่ว่าที่จริงแล้วรัฐประหารไทย 2557 เผชิญกับแรงต้าน ทั้งในเวทีภายในบ้านและในเวทีนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารทั้งในไทย (2557) และในเมียนมา (2564) เริ่มส่งสัญญาณทางการเมืองว่า การยึดอำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ผู้นำทหารวาดฝันเอาไว้อีกต่อไป…

ยิ่งหันกลับมาดูในวาระครบรอบ 1 ปี ของการยึดอำนาจในเมียนมา ยิ่งเห็นชัดว่ารัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ “ทรงพลังอำนาจ” ในทางการเมืองเช่นในอดีตอีกแล้ว

ฉะนั้น การใช้ความรุนแรงหลังรัฐประหารจึงเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดถึงความพยายามที่ยังไม่จบที่กองทัพไม่สามารถควบคุมการเมืองได้จริง

ผลที่ตามมาจากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ราคาที่ผู้นำทหารเมียนมาต้องจ่ายสำหรับความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจนั้น สูงมาก และเป็นรายจ่ายที่ “ปิดบัญชี” ไม่ลงด้วย

อันอาจกล่าวได้ว่า งบดุลการเมืองของการรัฐประหารในครั้งนี้ เป็น “รายจ่ายสูงสุด” ที่ประเทศต้องเสียให้แก่ผู้นำกองทัพ

 

หนึ่งปีแห่งความรุนแรง

ดังนั้น หากสำรวจสถานการณ์ในรอบปีอย่างสังเขปแล้ว อาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ ดังนี้

1) กองทัพเมียนมาอาจยึดอำนาจได้สำเร็จ แต่กลับไม่สามารถปกครองประเทศได้ และที่สำคัญ ผู้นำทหารยังไม่สามารถที่จะกระชับอำนาจทางการเมืองในการควบคุมสังคมได้จริง การต่อต้านรัฐบาลทหารยังขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง และการปราบปรามของรัฐบาลดำเนินไปอย่างไม่จำแนก จนเกิดข้อเสนอในเวทีระหว่างประเทศให้ถือว่ากองทัพเมียนมาเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”

2) ผู้นำทหารเมียนมาในอดีตอาจใช้กำลังเข้าจัดการฝ่ายต่อต้านและ/หรือฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดาย แต่การใช้กำลังในครั้งนี้กลับต้องเผชิญกับการต้านทานอย่างไม่เกรงกลัว และส่งผลให้ความรุนแรงขยายตัวออกไปในสังคมอย่างกว้างขวาง และสะท้อนให้เห็นในอีกด้านว่าคนไม่กลัวทหารเช่นในอดีต และผู้คนจากหลากหลายกลุ่มเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

3) การเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารสะท้อนให้เห็นชัดว่า การต่อต้านในครั้งนี้มีความเป็นเอกภาพอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อสู้ในอดีต จนเสมือนกับการรัฐประหารในปี 2564 เป็นปัจจัยที่บีบให้ฝ่ายต่อต้านที่มาจากกลุ่มต่างๆ และมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ สามารถร่วมมือกันได้อย่างดีในการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร จนมีข้อสังเกตว่าขบวนการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ เป็นขบวนประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาในปัจจุบัน

4) การต่อต้านรัฐประหารในครั้งนี้ถูกยกระดับทางการเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยการจัดตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” หรือที่เรียกว่า “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (The National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งรับภารกิจในการขับเคลื่อนการต่อสู้ในเวทีสากล รวมทั้งในเวทีสหประชาชาติด้วย อันทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกอย่างชัดเจน

5) ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถสร้าง “แนวร่วม” ภายในประเทศได้อย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นถึงการที่คนหนุ่มสาวชาวเมียนมาส่วนหนึ่ง เดินทางเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในชนบท และยังได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังดังกล่าว อันทำให้การต่อต้านรัฐบาลทหารในอนาคตจะมีมิติของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นถึง “การหนีทัพ” ของกำลังพลในกองทัพ

6) ในเวทีสากลก็เป็นอีกส่วนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันของฝ่ายประชาธิปไตย จนทำให้รัฐบาลทหาร และผู้นำทหารเมียนมาตกเป็น “จำเลย” อย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ และกลายเป็นแรงกดดันอย่างสำคัญที่รัฐบาลทหารต้องเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังฝ่ายรัฐ อันเป็นประเด็นที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

7) แม้รัฐบาลทหารอาจจะได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง ด้วยเหตุผลของผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีนในเมียนมา แต่การกระทำของรัฐบาลจีนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเมียนมาอย่างมาก เพราะเกิดความรู้สึกว่า จีนไม่เพียงแต่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในเมียนมาเท่านั้น หากแต่ยังให้การสนับสนุนกับรัฐบาลทหารที่เป็น “ต้นตอ” ของปัญหาความขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้น จีนจึงเป็นอีกหนึ่ง “จำเลย” ในการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในครั้งนี้

8) ที่ผ่านๆ มา อาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคแทบจะไม่เคยแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารที่เกิดในประเทศสมาชิก บนหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” แต่ในครั้งนี้ อาเซียนพยายามที่จะแสดงบทบาทใหม่ โดยเฉพาะการออกมติเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในเมียนมา และเป็นสัญญาณที่หลายประเทศในอาเซียนไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น

9) อาเซียนพยายามที่หาทางออกด้วยการจัดตั้ง “ทูตพิเศษ” ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบสถานการณ์ความรุนแรงจากการใช้กำลังในเมียนมา แต่จนถึงปัจจุบันทูตอาเซียนยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้จริง และแรงกดดันกลับมาที่อาเซียนที่จะต้องหาทางลดความรุนแรงและความสูญเสีย อันส่งผลให้เมียนมากลายเป็นตัวอย่างของวิกฤตในภูมิภาค ที่อาเซียนจะต้องเข้ามาแก้ไข

10) ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมเมียนมา ทำให้หลายฝ่ายกังวลอย่างมากถึง การขยายตัวของการต่อสู้ ที่นับวันยิ่งเป็น “การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ” และคาดเดาได้ว่า หากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธยกระดับมากขึ้นแล้ว ย่อมนำไปสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” ได้ในอนาคตอันใกล้ หรือในอีกทาง อาจนำไปสู่สภาวะ “รัฐล้มเหลว” ได้เช่นกัน

11) การขยายตัวของความรุนแรงส่งผลโดยตรงต่อสถานะของประเทศ ซึ่งมีปัญหาความยากจนเป็นพื้นฐานแต่เดิม และยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดวิกฤตอย่างหนักในสังคมเมียนมาปัจจุบัน และยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการเร่งให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมสำหรับประชาชนเมียนมา เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

12) หนึ่งปีภายใต้รัฐบาลทหารพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า รัฐประหารไม่ใช่หนทางในการสร้างความหวังให้แก่ผู้คนในเมียนมา แต่กลับเป็นความพยายามของผู้นำทหารที่จะดึงให้การเมืองถอยห่างออกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การเหนี่ยวรั้งในครั้งนี้ไม่ง่ายเช่นในอดีต แต่กลับพาสังคมถลำลึกสู่วิกฤตทางการเมืองมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิด “วิกฤตความมั่นคงของมนุษย์” แก่ผู้คนในสังคมด้วย

13) แม้ผู้นำทหารพยายามที่จะนำเสนอภาพว่า ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และทหารใช้กำลังเพื่อพาสังคมกลับสู่ความสงบเรียบร้อย แต่วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้อำนาจของฝ่ายทหาร ไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม คนในสังคมไม่เชื่อข่าวและข้อมูลของรัฐบาลทหาร

14) การต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม” ในเมียนมาในรอบปีที่ผ่านมา ถูกผลักดันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” ในเวทีการเมืองเอเชีย อันทำให้การต่อสู้กับรัฐบาลทหาร และการคงอยู่ของรัฐบาลทหารในครั้งนี้ มีบริบทระหว่างประเทศทับซ้อนอยู่อีกด้วย

 

อนาคต

จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทำให้มีข้อสรุปในวาระครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารเมียนมาได้ว่า เป็นหนึ่งปีของ “ทุพภิกขภัยแห่งอำนาจ” สำหรับผู้นำทหาร…

เป็นหนึ่งปีที่ผู้นำกองทัพพาสังคมเข้าสู่ “ยุคมิคสัญญี” ได้อย่างน่าใจหาย…

เป็นหนึ่งปีที่พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า รัฐประหารคือ “หายนะ” ของประเทศ…

เป็นหนึ่งปีที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความล้มเหลว” ของรัฐบาลทหาร!