จับสัญญาณเปียงยางรัวทดสอบอาวุธ/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

จับสัญญาณเปียงยางรัวทดสอบอาวุธ

 

บรรยากาศโลกเปิดฉากมาก็ร้อนระอุตั้งแต่ต้นปี ในฟากฝั่งยุโรปก็ยังเต็มไปด้วยความตึงเครียดจากการเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่มีพันธมิตรชาติตะวันตกหนุนหลัง

ฟากเอเชียก็ต้องจับตาดูกันให้ดีกับการทดสอบอาวุธอวดโชว์แสนยานุภาพทางทหารที่จัดมาอย่างถี่ยิบของเกาหลีเหนือ

แค่มกราคมเพียงเดือนเดียว เกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธต่างชนิดที่ผ่านการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาต่อเนื่องไปถึง 7 ครั้งแล้ว

หลังจากเกาหลีเหนือห่างหายไปจากการทดสอบขีปนาวุธอานุภาพสูงอย่างขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) และอาวุธนิวเคลียร์ไปตั้งแต่ปี 2017 อันเป็นช่วงระหว่างที่ความพยายามทางการทูตที่มุ่งคลี่คลายข้อพิพาทขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีระหว่างผู้นำคิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้เริ่มต้นขึ้น ก่อนจะหยุดชะงักไป

 

อาวุธที่เกาหลีเหนือใช้ทดสอบในเพียงเดือนแรกของปีนี้ เริ่มต้นขึ้นด้วยการยิงทดสอบ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ในวันที่ 5 มกราคม และ 11 มกราคม โดยเป็นขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงสูงกว่า 5 เท่า หรือมีความเร็วประมาณ 6,200 ก.ม./ช.ม.

นักวิเคราะห์ชี้ว่าแม้อาวุธชนิดนี้จะชื่อ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง แต่จุดเด่นสำคัญของมันคือสามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธได้

ซึ่งหากเกาหลีเหนือสามารถพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ได้ ก็จะเป็นย่างก้าวครั้งใหญ่ของการพัฒนาคลังแสงของตนเองในการต่อกรกับศัตรูบ้านใกล้เรือนเคียง

ต่อมาเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ (เอสอาร์บีเอ็ม) จำนวน 2 ลูก ที่เกาหลีเหนือทำการปล่อยจากรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่บริเวณชายแดนทางตอนเหนือติดกับจีนเมื่อ 14 มกราคม

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ขีปนาวุธดังกล่าวน่าจะเป็นขีปนาวุธ KN-23 ที่เกาหลีเหนือเคยทำการทดสอบครั้งแรกไปเมื่อพฤษภาคมปี 2019

ขีปนาวุธชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้หลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังทำการยิงทดสอบขีปนาวุธ KN-23 อีก 2 ลูก ที่ปล่อยจากยานขับเคลื่อนด้วยล้อตามหลังมา

17 มกราคม เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ 2 ลูก จากสนามบินในกรุงเปียงยาง ที่สื่อทางการอ้างว่าขีปนาวุธทั้งสองลูกดังกล่าวโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ นักวิเคราะห์สันนิษฐานว่าขีปนาวุธทั้ง 2 ลูกนี้ น่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ KN-24 ที่เกาหลีเหนือเคยทดสอบครั้งล่าสุดเมื่อมีนาคม 2020 โดยขีปนาวุธรุ่นนี้คล้ายกับระบบขีปนาวุธยุทธวิธี MGM-140 ATACMS ของสหรัฐอเมริกา โดยถูกออกแบบมาให้หลบเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธด้วยการบินในวิถีราบมากกว่าขีปนาวุธทิ้งตัวแบบเดิม

25 มกราคม เกาหลีเหนือทำการยิงทดสอบขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล 2 ลูก ทะยานออกไปไกล 1,800 ก.ม. โจมตีเป้าหมายที่กำหนดในทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ

ส่งท้ายเดือน เกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (ไออาร์บีเอ็ม) ชื่อ “ฮวาซอง-12” ซึ่งฝ่ายการข่าวของเกาหลีใต้ระบุว่า ในการทดสอบขีปนาวุธไออาร์บีเอ็มลูกนี้ พุ่งทะยานขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 ก.ม. ในระยะทางไกล 800 ก.ม.

ถือเป็นการกลับมาทดสอบขีปนาวุธฮวาซอง-12 เป็นครั้งแรก นับจากปี 2017 ที่มีการทดสอบอาวุธชนิดนี้หลายครั้ง แต่ประสบความล้มเหลวในครั้งแรกๆ

 

ขณะที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (ซีเอสไอเอส) ของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-12 น่าจะมีรัศมีทำการในระยะ 4,500 ก.ม. เป็นขีดความสามารถที่จะยิงโจมตีได้ไกลถึงเกาะกวม และเกาะอะลูเชียน ในรัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

คำถามคือ การตะลุยทดสอบอาวุธทรงอาณุภาพมากกว่าปกติในชั่วเวลาห่างกันไม่เท่าไรเช่นนี้ของเกาหลีเหนือนั้น แสดงนัยหรือต้องการส่งสารส่งสัญญาณอันใดให้กับคู่ขัดแย้งหรือนานาชาติที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องให้ได้ตระหนักรับรู้หรือไม่

ในความเห็นของนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญมีทั้งที่มีความเห็นสอดคล้องและการตีความแตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งมองว่าน่าจะเป็นเหตุผลทางการเมืองที่เกาหลีเหนือต้องการส่งสัญญาณให้มหาอำนาจโลกและในภูมิภาค ได้ประจักษ์ถึงความแข็งแกร่งของตนเอง

บ้างมองว่าอาจเป็นความต้องการกดดันให้สหรัฐอเมริกากลับมาร่วมโต๊ะเจรจาที่หยุดชะงักไป เพื่อหวังปลดล็อกเกาหลีเหนือจากมาตรการคว่ำบาตร

หรือเป็นความมุ่งมั่นต้องการที่จะทดสอบประสิทธิภาพของระบบอาวุธใหม่ของตนเองที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

 

จังหวะเวลาในการทดสอบอาวุธยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีขึ้นก่อนหน้าที่จีนเป็นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเพียงไม่เท่าไร ขณะที่เกาหลีใต้ก็กำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเดือนมีนาคมที่จะถึง ก็อาจจะมีนัยเกี่ยวข้องในเชิงป้องปราม

การทดสอบอาวุธที่ยังมีขึ้นท่ามกลางสภาวะที่เกาหลีเหนือกำลังต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่หนักทั้งจากการถูกคว่ำบาตร ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของคณะผู้ปกครองเกาหลีเหนือเอง

ถูกมองว่านี่อาจจะเป็นเครื่องมือในการปลุกขวัญกำลังใจ ปลุกความรู้สึกภาคภูมิของคนภายในชาติได้ในขณะที่เกาหลีเหนือจะมีงานรำลึกครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 80 ปีของคิม จอง อิล บิดาของผู้นำคิมในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ และวาระครบรอบ 110 ปีของคิม อิล ซุง ปู่ของผู้นำคิม ซึ่งเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือในวันที่ 15 เมษายน

เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเกาหลีเหนือสามารถพัฒนาอาวุธในคลังแสงของตนเองให้มีความเหนือชั้น มีประสิทธิภาพสูง และมีความสมบูรณ์แม่นยำ หลายชาติย่อมนั่งไม่ติด