หมดข้ออ้าง ‘รัฐประหาร’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

หมดข้ออ้าง ‘รัฐประหาร’

 

ก่อนการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม.ที่พรรคพลังประชารัฐเจ้าของเก้าอี้แพ้หลุดลุ่ยแบบหมดสภาพ โดยพรรคเพื่อไทยชนะขาดลอย และรวมคะแนนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเหนือกว่าฝ่ายเคลียคลออำนาจเผด็จการอยู่หลายขุมนั้น

มีการพูดกันกระหึ่มถึงข่าวรัฐประหาร

นัยว่ามาจากการวิเคราะห์ว่า การเมืองไทยไม่มีทางออก

หนึ่ง สถานภาพรัฐบาลที่ตั้งหน้าตั้งตาสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ดูจะไปไม่รอด รัฐบาลควบคุมเกมในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ การประชุมล่มบ่อยครั้ง เสี่ยงต่อการโหวตในเรื่องสำคัญ ขณะที่ความเดือดร้อนของประชาชนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าจากข้าวของแพง

แรงกดดันให้เปลี่ยนรัฐบาลมีสูงมาก

แต่อีกทางหนึ่ง กลุ่มผู้ครอบครองอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการยึดครองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะไม่ยอมปล่อยอำนาจที่ได้มานั้นแล้วคืนง่ายๆ

ขณะที่หากมีการเลือกตั้งในช่วงที่กระแสพลพรรคตัวเองตกต่ำ มีความเสี่ยงสูงยิ่งที่จะพ่ายแพ้ เท่ากับเสี่ยงต่อความสูญเสีย

ดังนั้น การไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งจึงถูกมองว่าเป็นทางออก และนั่นมีหนทางเดียวคือ “ยึดอำนาจ” ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง

แน่นอนว่า วิธีที่เคยชินคือ “รัฐประหาร” หรือที่เรียกว่า “ปฏิวัติ”

 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นแค่ความเคยชิน แต่หากมองยาวไปถึงความชอบธรรมที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของความเป็นไปได้แทบไม่มีเหลืออยู่

ทุกครั้งของการรัฐประหาร เหตุผลหนึ่งที่ผู้ยึดอำนาจใช้เป็นข้ออ้างคือการทุจริตที่ใช้เป็นเหตุผลว่าต้องยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนดังว่ารัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีทุจริตคดโกง

ทว่าถึงวันนี้ความเชื่อเช่นนั้นยังมีอยู่หรือไม่

จะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 นี้เอง “องค์กรเพื่อความโปรงใสนานาชาติ” (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564

พบว่า จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก ได้อยู่อันดับ 110 ของโลก คือได้จากคะแนนเต็มร้อยได้แค่ 36 คะแนน ลดลงจากอันดับ 104 เมื่อปีที่แล้วที่ได้ 36 คะแนน ซึ่งถือว่าแย่อยู่แล้ว

เทียบกับอาเซียน 11 ประเทศ ไทยอยู่อันดับ 6

ในรายละเอียด

การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด อยู่ที่ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนน

การปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

การดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน เท่ากับปี 2563

ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนน

การมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ได้ 32 คะแนน เท่ากับเมื่อปี 2563

ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนน

เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน

การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน

 

การสำรวจนี้จะทำให้การอ้างเรื่องทุจริตเป็นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นแค่การหาเรื่อง ที่ไร้ความชอบธรรม

การปล่อยข่าวรัฐประหารที่น่าจะกระหึ่มมากขึ้น

เพราะการเมืองที่ไร้ทางออกสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมจะลงสมัครรับเลือกตั้ง

แต่เหตุผลจะไม่มีใครเชื่อว่าเป็นความเลวร้ายของนักการเมืองจากประชาชนอีกแล้ว