บทอัศจรรย์ ‘เรตอาร์’ แหวกขนบของสุนทรภู่

ญาดา อารัมภีร

บทอัศจรรย์ส่วนใหญ่เป็นไปตามขนบหรือตามแบบแผนที่นิยมแต่เดิม มักใช้ปรากฏการณ์ธรรมชาติสื่อถึงการร่วมรัก เช่น พายุ ฟ้าร้องฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ฝนตก รวมไปถึงสัตว์น้อยใหญ่ อาทิ แมลงกับดอกไม้ ช้าง ม้า และปลานานาชนิด

บทอัศจรรย์ที่ไม่เดินตามขนบก็มี แต่ไม่ถึงกับ ‘แหวกขนบ’ โดยสิ้นเชิง ยังคงอยู่ในกรอบความนิยมใช้พายุ ฟ้าร้องและฝนตกเป็นสัญลักษณ์ เพียงแต่รายละเอียดโลดโผนผิดแผกไป โดยนำสัตว์ที่ห่างไกลคำว่า ‘น่ารัก’ เช่น อึ่งอ่าง คางคก นกกระจอก มาถ่ายทอดกระบวนการร่วมรักที่สอดคล้องกับตัวละครและเนื้อเรื่อง

ดังจะเห็นได้จากบทรักของลันได แขกขอทานที่เป็นชู้กับนางประแดะ (เมียประดู่แขกเลี้ยงวัว) ในบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได”

“อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้อง ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่

เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง

ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่ ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง

คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ

นกกระจอกออกจากวิมานมะพร้าว ต้องฝนทนหนาวอยู่งอนหง่อ

ขนคางหางปีกเปียกจนมอซอ ฝนก็พอขาดเม็ดเสร็จบันดาล”

ภาพดูไม่จืดของ ‘ลันได’ ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) บรรยายไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ ‘ซบเซาเมากัญชา’ เป็นคนเข็ญใจมี ‘ข้าวตังกับหนังปลา’ เป็นอาหาร อาบน้ำคลอง หน้าทาแป้งขาวว่อก

ร้ายกว่านั้นคือ ‘นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์’ คือ กางเกงขาดปุปะ ปะแล้วปะอีกจนเข็มที่ใช้ปะหลงตะเข็บ หาทางไปไม่เจอ

อาวุธคู่มือคือ ‘ตระบองกันหมาจะราวี’ ดังที่เล่าว่า ‘พระเยื้องย่างเข้าทางทวารา หมูหมาแห่ห้อมล้อมหน้าหลัง แกว่งตระบองป้องปัดอยู่เก้กัง’

นางประแดะก็ไม่น้อยหน้า ร่างผอมสูงชะลูด หน้าคล้ายอูฐ ผิวดำปี๋ แก้มมีสิวเขรอะ ‘พิศแต่หัวถึงเท้าขาวแต่ตา สองแก้มกัลยาดังลูกยอ’ (ลูกยอมีผิวตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบเนียน) ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ทรวงอกที่ผ่านกาลเวลาและการใช้งานโชกโชน จึงมีสภาพไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ‘สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม’

พระเอกนางเอกรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ เวลามีสัมพันธ์ลึกซึ้ง ใช้อึ่งอ่าง คางคก นกกระจอก สื่อความหมายที่แม้จะหยาบไปสักนิด แต่ให้อารมณ์ขันเข้ากันได้ดี

 

บทอัศจรรย์ที่ ‘แหวกขนบ’ เป็นผลงานของสุนทรภู่ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” สถานการณ์ที่บีบบังคับทำให้พระอภัยมณีจำใจมีอะไรๆ กับนางผีเสื้อสมุทร

“พระฟังคำจำจิตพิศวาส ฝืนอารมณ์สมพาสทั้งโศกเศร้า

การโลกีย์ดีชั่วย่อมมัวเมา เหมือนอดข้าวกินมันกันเสบียง”

สุนทรภู่นำภาพของ ‘การเล่นว่าวระหว่างว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า’ มาเป็นสัญลักษณ์ถ่ายทอดการร่วมรักต่างสายพันธุ์ระหว่างยักษ์กับมนุษย์

ว่าวจุฬาหรือว่าวกุลา มีรูปร่าง 5 แฉก หัวแหลมรูปกรวย เนื่องจากเป็นว่าวขนาดใหญ่ สุนทรภู่จึงใช้แทนนางผีเสื้อสมุทร

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ให้รายละเอียดของว่าวดังนี้

‘ว่าวกุลา, คือว่าวรูปหางเป็นง่ามเช่นหางปลา, มีปีกยาวออกทั้งสองข้าง

ซ้ายขวา, มีหัวยาวยื่นออกเช่นปากกา มีเสียงดังอูดๆ นั้น’

‘ว่าวปักเป้า, คือว่าวรูปเปนสี่เหลี่ยม, มีหางผ้ายาวสักสี่ศอกห้าศอก, เขาชักฬ่อกับว่าวกุลานั้น’ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เนื่องจากว่าวปักเป้า (ปากป้าว) เป็นว่าวหางยาว ขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬา สุนทรภู่จึงใช้แทนพระอภัยมณี ดังที่บรรยายบทอัศจรรย์ของนางผีเสื้อสมุทรกับพระอภัยมณีไว้ว่า

“เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง

กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด

กุลาโคลงไม่สู้คล่องกะพล่องกะแพล่ง ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด

จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด ประกบติดตกผางลงกลางดิน”

 

ว่าวจุฬา (กุลา) และปักเป้า (ปากป้าว) เป็นว่าวที่เล่นคู่กันหรือเล่นพนันกันในสมัยโบราณ ต้องใช้คนมากทั้งสองข้าง ใครที่ไม่เคยเล่นว่าว หรือไม่เคยเห็นการเล่นว่าวทั้ง 2 ชนิดนี้มาก่อน นึกให้ตายก็คงนึกไม่ออก แต่อาจเข้าใจได้ไม่ยากถ้าอ่านบันทึกของ ‘กาญจนาคพันธุ์’ หรือขุนวิจิตรมาตรา ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้”

“ว่าวพนันที่สนามหลวงสนุกมาก…เวลามีว่าวแบ่งสนามออกเป็นสองเขต โดยปักเสาสูงตรงถนนพระจันทร์ออกมาถึงถนนราชดำเนินใน เป็นระยะราวห้าหกเสา ปลายเสามีลวดโยงตลอด เขตทางด้านใต้เป็นสนามว่าวจุฬา เขตทางด้านเหนือเป็นเขตว่าวปักเป้า กติกาการแข่งขัน จุฬาพาปักเป้าข้ามเขตมาได้จึงชนะ จุฬาพาข้ามแดนไม่ได้ ปักเป้าก็ชนะ

การพนันนี้มีกติกาลดให้กันครึ่งหนึ่ง เช่น พนันกัน 20 บาท ถ้าปักเป้าแพ้ ปักเป้าต้องเสียเพียง 10 บาท จุฬาได้ 10 บาท ถ้าจุฬาแพ้ จุฬาต้องเสีย 20 บาทเสมอไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะจุฬาตัวใหญ่กว่าปักเป้ามาก สายป่านก็ใหญ่กว่า มีทางชนะปักเป้าได้มาก นอกจากปักเป้าเก่งจริงๆ”

ที่ว่าว่าวจุฬามีขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดไหน ‘กาญจนาคพันธุ์’ ช่วยให้มองเห็นภาพอย่างชัดเจน

“ว่าวจุฬาในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กนั้นตัวใหญ่มาก เวลาตั้งสูงเกินหัวข้าพเจ้าไป ว่าวจุฬาที่ต้องเปลี่ยนคนชักหลายคน เพราะมันหนักแรงมาก เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก เขาให้ลองชักจุฬา มันพาตัวปลิวไปตามว่าว ดึงไม่ไหว”

‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า

“ว่าวจุฬาทำงามได้สัดส่วนทั้งหัวทั้งปีกและขากบ ว่าวปักเป้าก็ใหญ่พอสมควรทำงามได้สัดส่วนเหมือนกัน หางทำด้วยผ้าทบกันหลายชั้นและติดแน่นเป็นชิ้นเดียว ลงแป้งรีดจนลื่นเป็นมัน ว่าวจุฬาใช้ป่านค่อนข้างใหญ่ ถักคอซุงลงมามีเครื่องสำหรับทำให้ติดปักเป้า เรียกว่า ‘จำปา’ เป็นแถวราวห้าหกอันกับมีลูกดิ่งติดที่ป่านเป็นระยะๆ ด้วย ว่าวปักเป้าใช้ป่านขนาดเล็ก ใต้คอซุงลงมาติดเชือกเป็นรูปห่วงยาวเรียกว่า ‘เหนียง'”

ตอนที่คนดูเฮฮามากคือตอนว่าวทั้งสองชิงไหวชิงพริบกัน

“เวลาว่าวจุฬาคว้าต้องอาศัยจำปาและลูกดิ่งช่วยให้ติดแน่น มิฉะนั้นคว้าไม่ค่อยติด ทางจุฬามีคนถือกล้องส่องทางไกลดูเสมอว่าติดจำปาดอกไหนเป็นอย่างไร ฝ่ายปักเป้าก็มีเหนียงเป็นอาวุธ คอยครอบหัวจุฬา ถ้าครอบได้ จุฬาเป็นเสร็จ หรือปักเป้าทำให้ประกับติดกับจุฬา จุฬาก็เสร็จเหมือนกัน”

ในที่นี้นางผีเสื้อสมุทรหรือว่าวจุฬา (กุลา) เสียท่าว่าว่าวปักเป้าหรือพระอภัยมณี พยายามหนีแค่ไหนก็หนีไม่พ้น ต้องตกลงมาในแดนของจุฬาเอง ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

“กุลาโคลงไม่สู้คล่องกะพล่องกะแพล่ง ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด

จะแก้ไขก็ไม่หลุดสุดความคิด ประกบติดตกผางลงกลางดิน”

ใหญ่กว่าก็อุ้ยอ้าย เล็กกว่าก็คล่องตัว

หรือไม่จริง?