สินค้าเสมือน ไม่จำเป็นต้องเสมือนตลอดไป/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

สินค้าเสมือน

ไม่จำเป็นต้องเสมือนตลอดไป

 

วงการแฟชั่นและศิลปะนับเป็นวงการแรกๆ ที่เข้าไปคลุกคลีอย่างจริงจังกับ NFT หรือไอเท็มดิจิตอลที่สามารถซื้อขายได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จนทำให้ NFT กลายเป็นสินค้าดิจิตอลยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เสื้อผ้าหรือภาพวาดที่ถ่ายโอนความเป็นเจ้าของกันผ่านแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

แต่จะว่าไปเราอาจจะไม่ต้องเลือกว่าจะซื้อสินค้าแบบจับต้องได้หรือซื้อสินค้าแบบที่มีอยู่แต่ในโลกดิจิตอลอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะสองแพลตฟอร์มนี้อาจจะเกื้อหนุนกันและกันได้อย่างลงตัวก็ได้

ตอนนี้เราเริ่มเห็นการใช้เมตาเวิร์สในฐานะของการเป็นห้องทดลองทำงานเพื่อให้ดีไซเนอร์ นักออกแบบ ได้ออกแบบสินค้าของตัวเองในรูปแบบดิจิตอลก่อน

จากนั้นก็ให้ลูกค้าได้ลองสวมงานแฟชั่นนั้นจริงๆ ลงบนอวตารโลกออนไลน์ของตัวเอง เมื่อทดลองบนเมตาเวิร์สกันจนถูกอกถูกใจแล้วก็ค่อยส่งไปผลิตเป็นสินค้าให้ลูกค้าจับต้องได้จริงๆ ต่อไป

ในชีวิตจริงการจะออกแบบสินค้าอะไรสักอย่าง ตั้งแต่ขั้นตอนของการสเกตช์ การทำสินค้าต้นแบบไปจนถึงการเริ่มผลิตเพื่อออกขายเป็นกระบวนการที่กินเวลาและใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง

แต่เมื่อมีเมตาเวิร์สทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นแบบเสมือนจริงได้

ถ้าหากทุกขั้นตอนเป็นไปได้ด้วยดีก็ค่อยตัดสินใจว่าจะผลิตออกมาวางขายจริงหรือเปล่า

นอกจากจะต้นทุนต่ำลงแล้ว ความเสี่ยงก็ต่ำลงด้วย เพราะลูกค้าก็ได้ลองแบบเสมือนจริงไปแล้ว ดังนั้น แบรนด์ก็ตัดสินใจเอาจากฟีดแบ็กของลูกค้าได้ว่าคุ้มค่าที่จะผลิตของชิ้นนั้นๆ ออกมาจริงไหม

 

การระบาดของไวรัสในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์ลงไปเยอะ หลายๆ กิจกรรมที่เราไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะทำได้ผ่านออนไลน์ก็เกิดขึ้นจริงแล้วอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการทำงานจากที่บ้านหรือการเรียนออนไลน์ที่เราพร่ำบ่นกันอยู่เสมอก่อนโควิด-19 ว่าไม่มีทางหรอกที่การประชุมจะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่แทบจะไม่ค่อยมีใครขอนัดประชุมแบบเจอหน้ากันตัวต่อตัวสักเท่าไหร่แล้ว

เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์ที่แม้จะถูลู่ถูกังกันมา แต่สำหรับบางคลาส บางวิชา ก็แสดงให้เห็นว่าหากในอนาคตสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การจะสลับเรียนระหว่างออนไลน์บ้าง กับมาเรียนในห้องเรียนบ้างก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากอีกแล้ว

นอกจากเรื่องทำงานและเรียนระยะไกลแล้ว ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา การช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งสินค้าเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็เกิดขึ้นได้ โชว์รูมรถยนต์หลายค่ายปรับตัวด้วยการอัพเกรดเว็บไซต์ของตัวเองให้น่าใช้งานขึ้น ให้รายละเอียดข้อมูลที่ลงลึกขึ้น และนำเสนอบริการใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถได้แม้จะไม่เคยก้าวเท้าเข้ามาในโชว์รูมรถด้วยตัวเองด้วยซ้ำ

วงการอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวด้วยการพาลูกค้าเดินชมบ้านแบบเสมือนจริง ทั้งการออกแบบเว็บไซต์ให้มีความ 3 มิติมากขึ้น ใช้งานคู่กับอุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือนจริงได้ หรือให้เซลส์ประจำโครงการวิดีโอคอลและถือโทรศัพท์มือถือเปิดกล้องพาลูกค้าเดินชมไปทั่วทุกมุมของบ้าน

ถือว่าผู้บริโภคอย่างเราก็ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองไปไม่น้อย จากเดิมที่เราจำเป็นต้องจับหรือเห็นสินค้าที่อยากซื้อด้วยตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจ ก็กลายเป็นการกดคลิกซื้อออนไลน์ได้ง่ายๆ

ยิ่งภาพจำลองสินค้ามีความสมจริงแค่ไหนก็ยิ่งตัดสินใจได้ง่ายแค่นั้น

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เราสามารถจับถือเอาไว้ในมือได้ ลูบคลำได้ ก็จะทำให้เราผูกพันกับของชิ้นนั้นๆ ได้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน จึงเกิดเป็นไอเดียการผนวกดิจิตอลกับสินค้าของจริงเข้าด้วยกัน

อย่างเช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 สตูดิโอ RTFKT ที่ร่วมกับศิลปิน FEWOCiOUS ได้ออกคอลเล็กชั่นรองเท้าผ้าใบเสมือนจริงที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นมีเพียง 621 คู่ออกมาผ่านทาง NFT

แต่เสริมความน่าสนใจให้กับสินค้าด้วยคอนเซ็ปต์การขายว่ารองเท้าผ้าใบเสมือนจริงทุกคู่จะถูกจับคู่เข้ากับรองเท้าผ้าใบของจริงที่จับต้องได้ซึ่งผู้ซื้อจะสามารถรับของได้ 6 สัปดาห์หลังจากซื้อเวอร์ชั่น NFT ไปแล้ว

แอพพลิเคชั่น Aglet เป็นแอพพ์ที่รวมรองเท้าผ้าใบเสมือนจริงเข้ากับรองเท้าผ้าใบแบบ augmented reality ก็มีแผนการที่จะผลิตรองเท้าจริงๆ ออกมาเหมือนกัน โดยที่ซีอีโอบริษัทบอกว่าล็อตแรกทั้งหมด 500 คู่ ขายได้หมดเกลี้ยงแล้วตั้งแต่ก่อนที่กระบวนการผลิตรองเท้าจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก

การผลิตสินค้าแฟชั่นอย่างรองเท้าผ้าใบเสมือนจริงออกมาขายก่อนที่จะตามมาด้วยรองเท้าที่สวมใส่ได้จริงนั้นนับเป็นโอกาสที่ดีให้กับนักออกแบบอายุน้อยที่อาจจะเพิ่งก้าวเข้ามาสู่วงการและไม่ได้มีต้นทุนของการสร้างแบรนด์ที่จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก

การที่นักออกแบบกลุ่มนี้ได้เริ่มออกแบบในโลกเสมือนจริงก่อนก็เป็นการช่วยให้พวกเขาได้ใช้ฝีมืออย่างเต็มที่ภายใต้ต้นทุนที่น้อยนิด ซึ่งก็นำไปสู่โอกาสการสร้างแบรนด์ได้รวดเร็วขึ้นด้วย

 

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ Farfetch ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนด์ได้เปิดให้ลูกค้าพรีออเดอร์ไอเท็มแฟชั่นแบรนด์เนมต่างๆ ได้ในรูปแบบสินค้าดิจิตอล และยังจับมือกับสตูดิโอแฟชั่นดังๆ ให้ออกแบบเสื้อผ้าเสมือนจริงมาให้ใกล้เคียงกับของจริงได้มากที่สุด

เมื่อมีคนสั่งจองเข้ามาจึงค่อยตัดเย็บออกมาตามคำสั่งซื้อ ซึ่งเป็นวิธีการขายที่เหมาะมากสำหรับแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ทั้งหลาย และยังดีต่อสิ่งแวดล้อมตรงที่เป็นการผลิตตามความต้องการ ไม่มีสินค้าเหลือทิ้งให้ต้องมากำจัด

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยว่าสินค้าแบบเสมือนจริงจะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้าที่มีกายหยาบให้จับต้องได้เสมอไป เพราะบางครั้งสินค้าดิจิตอลก็ตอบโจทย์ในแบบดิจิตอล คือมีไว้เพื่อให้อวตารบนโลกออนไลน์ของเราได้สวมใส่ หรือเอาไว้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบนนั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องคลอดเวอร์ชั่นจับต้องได้ตามมาด้วย

ฉันเองคิดว่ามันก็เป็นเรื่องดีที่เราจะสามารถเลือกได้ว่าของบางชิ้นเราอยากเป็นเจ้าของมันแค่ในออนไลน์ ไม่ต้องผลิตออกมาให้เปลืองวัสดุและแรงงาน ในขณะที่บางชิ้นเราก็อยากได้มันมาลูบคลำและใช้งานอย่างคุ้มค่าในชีวิตประจำวันด้วย

 

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการจัดงานนิทรรศการในหลายๆ แพลตฟอร์ม อย่างเช่น โปรเจ็กต์ของ Kaws ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันที่จัดนิทรรศการทั้งแบบที่อยู่ในแกลเลอรีให้คนเข้าไปชมได้ หรือจะดูผ่านเกมยอดฮิตอย่าง Fortnite ก็ได้ และยังดูแบบซ้อนภาพเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี AR ก็ได้อีก

กล่าวคือไม่ว่าจะถนัดวิธีไหน ออฟไลน์หรือออนไลน์ อวตารหรือตัวเราเอง ถ้าอยากชมงานศิลปะในนิทรรศการนี้ก็จะมีให้เลือกทัศนะได้หลายรูปแบบ

ที่ผ่านมาหลายๆ คนอาจจะกลัวความเปลี่ยนแปลงว่าเทคโนโลยีจะมาทำให้วิถีชีวิตเราเปลี่ยนแปลงมากเกินไป กังวลว่าเราจะเข้าสังคมน้อยลงไหม จะโดดเดี่ยวกว่าเดิมหรือเปล่า หรือจะแยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่มีอยู่จริงกับไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป แต่ฉันว่าของจริงและของเสมือนก็สามารถเดินทางไปด้วยกันได้

โดยที่ผลลัพธ์ปลายทางคือการจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้นนั่นเอง