จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (17)

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต) ในปี พ.ศ.2523 ยังมียศเพียง “พลตรี” และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล ซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาอีก 8 ปีเศษท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 17) ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” หลัง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรี) ก้าวลงจากตำแหน่งด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “ผมพอแล้ว” เมื่อบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งเพิ่งจะเสร็จจากการเลือกตั้งทั่วไปเดินทางเข้าพบพร้อมกันเพื่อมอบตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ให้ท่านเป็นต่อไปอีก

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พร้อมด้วยท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เดินทางล่วงหน้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรอต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาถวายพระพร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ในวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ณ ที่ประทับแฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองต์โพสต์ เมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางมาพร้อมด้วยนายทหารคนสนิท 2 นาย เท่าที่ผมจำได้คือ พันตรีไพโรจน์ พานิชสมัย (ยศขณะนั้น) และ ร้อยโทบุญสืบ คชรัตน์ (ยศขณะนั้น) ซึ่งต่อมาทั้ง 2 ท่านเติบโตในหน้าที่ราชการสำคัญๆ มาตามลำดับ กระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง “พลเอก” ของทัพไทยด้วยกันทั้งคู่

คณะของท่านเดินทางด้วยเครื่อง “การบินไทย” สาย “การบินแห่งชาติ” ย่อมต้องมีคนใหญ่คนโตของการบินไทย (ขณะนั้น) อย่าง ร้อยตำรวจโทฉัตรชัย บุญยะอนันต์ (เสียชีวิต) รวมทั้งผู้คนในวงการอื่น ซึ่งได้พบหลังจากที่ภารกิจของท่าน (อดีตนายกฯ) พลเอกเปรม และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

คณะของอาจารย์คึกฤทธิ์ เดินทางไปถึงล่วงหน้าจึงมีโอกาสได้ไปเยือนบ้านพักริมทะเลสาบเจนีวา (Geneva) ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม และบรรยากาศโรแมนติกมากตามคำเชื้อเชิญของพลเอกชาติชายและท่านผู้หญิงบุญเรือน เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งต้องขออภัยเพราะวันเวลาผ่านมานานมากจึงไม่สามารถเหลือความจำเรื่องเมนูอาหารมื้อนั้น ได้แค่นึกได้เลาๆ ว่าเป็นอาหารสไตล์ยุโรปเนื่องจากของหวานก่อนเสิร์ฟกาแฟนั้นเป็นฝีมือของท่านผู้หญิงบุญเรือน คือ แอปเปิ้ลอบรสหอมหวานอมเปรี้ยวอร่อยดี

เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าบ้านหลังนี้ใช้เป็นที่พำนักของท่านพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยของน้าชาติ ระหว่างที่ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อลี้ภัยการเมือง ปัจจุบันทราบว่าได้ถูกขายเปลี่ยนมือไปเสียแล้ว

คณะของท่าน (อดีต) นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย เดินทางอย่างทรหด ไม่ได้เข้าพักโรงแรมในประเทศสวิส เพียงแต่แค่พักผ่อนนิดหน่อยที่บ้านพักของน้าชาติริมทะเลสาบเจนีวา (Geneva) หลังที่กล่าวถึงนี้ ก่อนเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจยังเมืองโลซานน์ (Lausanne)

จากนั้นก็เดินทางกลับประเทศไทยตามตารางการเดินทางที่วางไว้สำหรับนายกรัฐมนตรีซึ่งมีงานรัดตัวเป็นอย่างยิ่ง

 

ในปี พ.ศ.2523 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 กับ (ป๋า) พลเอกเปรม (อดีต) นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 นับว่ามีสัมพันธ์อันดีต่อกัน เคารพนับถือระหว่างกันเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์คึกฤทธิ์ให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรีชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะเหตุผลอะไร เนื่องจากในขณะที่กองทัพให้การสนับสนุนพลเอกเปรมนั้น ประชาชนทั่วไปก็มอบความไว้วางใจแก่พรรค “กิจสังคม” โดยเลือกตั้งผู้แทนฯ เข้ามาจำนวนไม่น้อย เท่ากับว่าอาจารย์คึกฤทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสักครั้งหนึ่งก็ย่อมได้?

(ป๋า) พลเอกเปรม ก็อ่อนน้อมถ่อมตนเชื่อฟังคำแนะนำของอาจารย์คึกฤทธิ์เสมอมา

เวลารัฐบาลมีปัญหาทางการเมืองอะไรๆ ที่เรียกว่าแก้ไขค่อนข้างยากลำบาก (ป๋า) พลเอกเปรมจะต้องเดินทางไปยัง “บ้านซอยสวนพลู” เพื่อขอคำปรึกษาหารือ ชี้แนะชี้นำจากท่าน (อดีต) นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของบ้านเราทันทีในฐานะผู้มีประสบการณ์ โดยป๋าเรียกท่านว่า “อาจารย์คึกฤทธิ์–อาจารย์หม่อม” เหมือนพวกเราลูกศิษย์ทั้งหลาย

พลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (บิ๊กหมง) (อดีต) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิท อยู่ในทีมงานฝ่ายเสนาธิการของ (ป๋า) พลเอกเปรม ซึ่งก็ยังเคารพรักนับถือผูกพันกับท่านไม่เสื่อมคลาย และเพิ่งได้พบปะกันเมื่อไม่นานวัน ซึ่งอันที่จริงยังนัดหมายกิน (เลี้ยง) ข้าวพูดคุยกันเป็นระยะๆ ท่านพูดถึงความหลังแต่ครั้งก่อนเช่นเดียวกันกับที่ได้พยายามเขียนเรื่องเก่าๆ เพื่อให้ได้บรรยากาศ โดยท่านพูดถึง (ป๋า) พลเอกเปรม ว่า “อาจารย์คึกฤทธิ์ชี้แนะอะไร ป๋าเชื่อฟังทุกอย่าง

ยกเว้นเรื่องเดียว คือบอกให้ป๋าไปลงสมัครรับเลือกตั้ง”

 

หลังจาก 2 ผู้นำเสร็จภารกิจสำคัญทีมงานทั้งหลาย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้จัดเลี้ยงน้ำชา (กาแฟ) ขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ต้องขออนุญาตไม่ค้นคว้าเพราะว่านานมากเกือบ 40 ปีแล้ว รู้แต่เพียงว่าสวยงามเหลือเกิน

ทางโรงแรมจัดเก้าอี้นั่งเรียงยาวกลางแจ้งหันหลังให้ตัวโรงแรม หันหน้ามองไปยังเทือกเขา เห็นภูเขาแอลป์ซึ่งมีหิมะยังปกคลุมขาวโพลนเหมือนรูปถ่ายอยู่ข้างหน้า

ความจำของเด็กหนุ่มในวันนั้น (พ.ศ.2523) ซึ่งได้กลายมาเป็นคนสูงอายุในวันนี้ยังพอจำได้ว่ามีใครที่เดินทางไปจากเมืองไทยเพื่อจะได้พูดคุยกับ (ป๋า) พลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีสดๆ ร้อนๆ บ้าง นอกจาก ร้อยตำรวจโทฉัตรชัย บุญยะอนันต์ (เสียชีวิต) คนโตของการบินไทย และเป็น “ตี๋ใหญ่” ตามชื่อที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งให้ ซึ่งต้องนับว่าเป็นหน้าที่ของคนจาก “สายการบินแห่งชาติ” ต้องเดินทางติดตามไปดูแลนายกรัฐมนตรี

จำได้อีกท่านหนึ่ง คือ พลตำรวจโทต่อศักดิ์ ยมนาค (เสียชีวิต) อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (2512) สมาชิกวุฒิสภา นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รวมทั้ง คุณสมพจน์ ปิยะอุย นักธุรกิจผู้ฝักใฝ่การเมือง เครือญาติของเจ้าของโรงแรมใหญ่เครือ “ดุสิตธานี” ฯลฯ

ส่วนท่านอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย อาจจะเสียชีวิตไปบ้าง หรือยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่อาจสามารถจดจำได้เพราะเจียมเนื้อเจียมตัว รวมทั้งไม่กล้าเที่ยวใช้วิญญาณผู้สื่อข่าวสอบถามใคร จำเป็นต้องนั่งตัวลีบในฐานะผู้ติดตาม

เป็นครั้งแรกที่ได้พบพูดจากับ (ป๋า) พลเอกเปรม ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยสำหรับวันนั้นเมื่อ 39 ปีก่อน เพราะมีผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากในงานเลี้ยงน้ำชา

แต่เท่าที่ได้ยินป๋าเอ่ยปากออกมาประโยคท้ายๆ ก่อนเดินมานั่งเก้าอี้ตัวที่ว่างข้างๆ ว่า “ไม่เอา ไม่คุยแล้วเรื่องการเมือง— (ป๋าคงเบื่อประมาณนั้นแหละ) มาคุยกับหนุ่มคนนี้ดีกว่า” ท่านถามว่า “ทำงานอะไร–มากับใคร?” ได้กล่าวตอบท่านไปแบบเสียงสั่นเล็กน้อยว่า “เป็นผู้สื่อข่าว มากับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ครับ”

จากนั้นงานเลี้ยงดำเนินไปอีกพอสมควรก่อนทีมงานของ (ป๋า) พลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีจะขอตัวเพื่อเดินทางกลับพร้อมคณะของ (น้าชาติ) พลเอกชาติชาย โดยมีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งผู้ติดตามก็เดินตามหลังท่านมาด้วย รวมทั้งกลุ่มผู้ร่วมงานเลี้ยงน้ำชาเดินมาส่งท่านขึ้นรถ

ก่อนจะก้าวขึ้นรถท่านกลับเอ่ยปากบอกผู้ติดตามอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า– “ผมลาละนะ?”

 

“(ท่านนายกฯ) เขาบอกลามัน– แต่ไม่ลาผม”?

เป็นประโยคฮิตที่ท่านอาจารย์เล่าให้ใครต่อใครฟังบนโต๊ะอาหารเสมอๆ อย่างเช่น ท่าน “แผน วรรณเมธี” (อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ) เมื่อเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ กระทั่งท่าน “บุญชู โรจนเสถียร” (เสียชีวิต) ซึ่งได้ตามไปพบที่นั่น และใครๆ ซึ่งมาต้อนรับที่กรุงเคเปนเฮเกน (Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก (Denmark) จนกระทั่งเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย และอีกหลายปีต่อมาท่านยังพูดถึงเรื่องนี้เสมอๆ

คณะของ (ป๋า) พลเอกเปรม (น้าชาติ) พลเอกชาติชาย เดินทางกลับกรุงเทพฯ ส่วนอาจารย์คึกฤทธิ์และผู้ติดตามเดินทางต่อไปกรุงลอนดอน เข้าพักโรงแรมเก่าๆ สไตล์อังกฤษอย่างที่นักเรียนเก่าอังกฤษชอบพอ แบบบรรยากาศประเภทเสิร์ฟชายามเช้าบนเตียง อะไรประมาณนั้น ประตูลิฟต์ขึ้นชั้นที่พักยังเป็นเหล็กเลื่อนปิด-เปิดอยู่เลย ตัวโรงแรมเป็นตึกเก่าๆ อยู่ใกล้ๆ เซนต์ เจมส์ ไม่ไกลกับปาร์กใหญ่ของลอนดอน

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 คนที่ 16 และ 17 ซึ่งเดินทางไปพบกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี พ.ศ.2523 ได้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ท่าน

เหลือเพียง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในวัยใกล้ 100 ปี–ยังเป็น “ประธานองคมนตรี”–ทำงานทดแทนคุณแผ่นดินอยู่