เปิดใจ ‘สุรชาติ-เพชร’ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดใจ ‘สุรชาติ-เพชร’

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’

 

เหลืออีกเพียงไม่ถึงสิบวันก็จะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 (เขตหลักสี่และบางส่วนของเขตจตุจักร) ซึ่งเป็นการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของตัวเลือกที่หลากหลาย

รวมถึงแคนดิเดตของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน-ฝั่งประชาธิปไตย ที่มีผู้สมัครสำคัญสองคนจากสองพรรคการเมือง

ได้แก่ “สุรชาติ เทียนทอง” พรรคเพื่อไทย และ “กรุณพล เทียนสุวรรณ” หรือ “เพชร” พรรคก้าวไกล

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมทั้งคู่ ถึงเรื่องราวที่พวกเขาได้พบเจอระหว่างหาเสียง ความมั่นใจล่าสุด และสารที่แต่ละคนต้องการบอกย้ำไปถึงพี่น้องประชาชน

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ในฐานะคนทำงานกับพื้นที่มานาน สุรชาติเปิดเผยว่า ทุกขั้นตอนของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมงวดนี้ ล้วนดำเนินไปอย่างเป็น “ปกติ” เพราะเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา เขาไม่เคยหายหน้าไปจากเขตหลักสี่-จตุจักร

นอกจากเป็นอดีต ส.ส.เขตหลักสี่ เมื่อปี 2554 แล้ว เขาก็มิใช่ “นักการเมืองหน้าใหม่” สำหรับชาวจตุจักร เพราะบุตรชายของนักการเมืองอาวุโส “เสนาะ เทียนทอง” เริ่มต้นทำงานการเมืองในปี 2548 จากการลงพื้นที่จตุจักรมาก่อน และเคยสมัคร ส.ส.ในพื้นที่เลือกตั้งซึ่งครอบคลุมไปถึงเขตจตุจักรมาตั้งแต่ปี 2550

“ทุกวันนี้ที่ออกไป ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมไปเดินหาเสียง มันเหมือนกับการไปเดินเยี่ยมเยียนกันปกติ ช่วงนี้เป็นช่วงหลังปีใหม่ด้วย เหมือนกับไปเดินสวัสดีปีใหม่กันน่ะครับ แล้วมันก็เป็นปกติที่ผมทำอยู่แล้วครับ”

ด้านกรุณพลมองต่างมุมผ่านคำถามที่ว่า ถ้า “ประสบการณ์ทางการเมือง” คือปัจจัยสำคัญจริง แล้วทำไมทุกวันนี้ประเทศจึงถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งๆ ที่เรามี ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าสองสมัย เป็นจำนวนเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ตรงกันข้าม บทบาทการทำงานในสภาที่เข้มแข็งและไม่ประนีประนอมของนักการเมืองสมัยแรกจากพรรคก้าวไกล กลับกลายเป็นความหวังของประชาชนจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ “ความเป็นนักแสดง” ยังช่วยให้ประชาชนเข้ามาเปิดใจพูดคุยกับเพชรอย่างไม่เคอะเขิน และทำให้เขาสามารถเผยแพร่นโยบาย-ยุทธศาสตร์ของพรรคได้ง่ายขึ้น แม้ว่าสถานภาพดังกล่าวจะไม่ใช่จุดชี้ขาดชัยชนะก็ตาม

“ไม่ได้หมายความว่าคนที่เข้ามาพูดคุยกับเรา ยิ้มกับเรา ถ่ายรูปกับเรา จับมือกับเรา แล้วจะเลือกเรา เขาอาจจะชื่นชอบเราในฐานะนักแสดง… แต่พอลง (คะแนน) ในคูหาเลือกตั้ง เขาอาจจะมีคนในใจของเขาอยู่แล้วก็ได้”

เพชร กรุณพล

แม้จะเป็นการแข่งขันซึ่งถูกมองว่าตึงเครียดและดุเดือด แต่สุรชาติกลับมองเห็นแง่มุมดีๆ จากการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่-จตุจักร

“ผมดีใจอย่างหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้มันไม่เหมือนกับเลือกตั้งซ่อม มันเป็นการเลือกตั้งใหญ่ ทุกพรรคการเมืองที่มีความพร้อมก็ได้ส่งผู้สมัคร แล้วผมก็เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองได้สรรหาผู้สมัครที่เรียกว่าดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดแล้วเข้ามาให้ประชาชนเลือก

“ผมคิดว่ามันเป็นการให้เกียรติประชาชน และในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคนที่จะให้ประชาชนเลือกด้วย ผมก็ดีใจนะครับ ผมรู้สึกได้รับเกียรตินั้นด้วย”

ส่วนเพชรบอกว่า แม้หลายฝ่ายจะวิเคราะห์ว่าก้าวไกลได้กระแสความนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายของพรรคคือ คนทุกคน จากทุกกลุ่มอุดมการณ์และทุกสีเสื้อ ด้วยความเชื่อว่าประเทศชาติจะก้าวหน้าได้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน

“เราอยากให้คนทุกคนเลิกอคติใส่กัน เลิกคิดว่าคนนั้นล้มเจ้า เลิกคิดว่าคนนี้รักเจ้าจนตายแทนกันได้ แต่ต้องหาว่าสิ่งที่เราสองฝ่ายพยายามตีกันเพื่ออะไร? เพื่อต้องการให้ประเทศเจริญ เพื่อต้องการให้ประเทศมีความสุข เพื่อให้แต่ละคนอยู่กันอย่างมีความสุขไม่ใช่เหรอ? ทำไมเราไม่มาคุยกัน? ไม่หาจุดร่วมตรงกลางแล้วเดินไปด้วยกันล่ะ”

 

เมื่อถามถึงความเป็นห่วงต่อการใช้อำนาจรัฐกดดันประชาชนในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งเสียงเล่าลือเรื่องการซื้อเสียงขนานใหญ่ ผู้สมัครเพื่อไทยยอมรับว่าเขากังวลกับประเด็นเหล่านี้

ด้านหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่หลักสี่มีการซื้อเสียงเยอะมากมาโดยตลอดอยู่แล้ว สุรชาติจึงอยากฝากให้ กกต. สื่อมวลชน และประชาชนทุกฝ่าย ช่วยกันจับตามองสถานการณ์ว่าใครเป็นคนซื้อ? และซื้อหัวละเท่าไหร่?

ผู้ตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดย่อมต้องเป็นประชาชนในพื้นที่

สำหรับการแทรกแซงผลเลือกตั้งด้วย “อำนาจรัฐ” สุรชาติย้อนรำลึกประสบการณ์ผิดปกติที่ตนเองเคยพบเจอในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562

คราวนั้น เขาและทีมงานตรวจสอบพบว่ามีบัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งของเขตที่ 9 ซึ่งถูกนำไปนับในเขตที่ 1 ตรงหน่วยเลือกตั้งของเขตดุสิต

ด้วยเหตุนี้ ในทางปฏิบัติแล้ว บัตรลงคะแนนที่เหลืออยู่และถูกนับในเขต 9 จะต้องมีจำนวนน้อยกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทว่าตามสถิติของ กกต. จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกนับในพื้นที่เขต 9 และจำนวนผู้มาใช้สิทธิกลับเท่ากันแบบเป๊ะๆ จนน่าประหลาดใจ

แม้สุรชาติพยายามร้องเรียนปัญหาข้างต้นไปที่ กกต. แต่ข้อร้องเรียนกลับถูกปัดตกอย่างง่ายดาย

ขณะที่กรุณพลยอมรับว่าด้วยบริบทของการเหลือเวลาหาเสียงอยู่ไม่มากนัก พรรคก้าวไกลจึงตัดสินใจที่จะไม่มอนิเตอร์เรื่องการซื้อเสียง แต่เขาและพรรคเชื่อในเรื่องอุดมการณ์ที่จะใช้สื่อสารกับผู้คนมากกว่า

นั่นคือการมุ่งปลูกฝังความคิดความเชื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักว่า เงินจำนวนไม่กี่พันบาทนั้นไม่ใช่สิ่งคุ้มค่าเลย หากต้องแลกด้วยคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราที่จะย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ ในอีกหลายปีข้างหน้า

 

ต่อคำถามที่ว่า การมีค่ายทหารในพื้นที่เลือกตั้ง จะส่งผลต่อการจัดตั้งคะแนนเสียงมากน้อยแค่ไหน?

สุรชาติตอบสั้นๆ ว่า นี่คืออีกหนึ่งปัจจัยที่น่าเป็นห่วง หากพิจารณาจากข้อร้องเรียนในการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้

ตรงข้ามกับเพชรที่เผยข้อมูลว่าในการเลือกตั้งหนก่อน ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ก็เคยได้คะแนนนำในพื้นที่ค่ายทหารดังกล่าวมาแล้ว

โดยเขาวิเคราะห์ว่าเสียงที่เทให้อนาคตใหม่ตอนนั้น คือ เสียงจากบรรดาทหารเกณฑ์ที่ไม่พอใจในระบบอำนาจของกองทัพ ซึ่งกดทับพวกตนอยู่

นักแสดงผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองจึงเน้นย้ำถึงนโยบาย “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ของพรรคก้าวไกล โดยจะแทนที่ด้วยระบบรับสมัครทหารประจำการ ซึ่งทำให้กำลังพลมีสวัสดิการดีขึ้น มีความเป็นคนมากขึ้น และมีความเป็นทาสรับใช้นายน้อยลง รวมทั้งการต้องปรับลดจำนวนบุคลากรในเหล่าทัพให้มีความพอเหมาะพอดี

“ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายแหล่ไม่มีงานทำ พ่อเพชรก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนก่อนเกษียณจากคุมกำลังหลักเป็นนายพลเป็นตำรวจ พอขึ้นในตำแหน่งผู้ช่วย ไม่มีตำแหน่ง ลอย เข้าไปในห้อง (ทำงาน) เล็กกว่าห้องนี้อีก นั่งกันอยู่ห้าคน เป็นระดับนายพลนั่งมองหน้ากัน

“แล้วเพชรก็ต้องไปรับกินข้าว พ่อไปกินข้าว แล้วถามพ่อทำอะไร? พ่อตอบว่า ไม่มีอะไรทำ ก็มาเซ็นชื่อรอกลับบ้าน คืออะไร? เรามีนายพลเยอะเกินไปหรือเปล่า?”

 

เมื่อถามถึงความมั่นใจและเหตุผลที่ประชาชนหลักสี่-จตุจักรต้องเลือกผู้สมัคร ส.ส. ชื่อ “สุรชาติ/กรุณพล”

สุรชาติตอบทันทีว่าเขามั่นใจในการทำงานอย่างสม่ำเสมอของตนเอง

“ผมมีความเชื่อทางการเมืองง่ายๆ สั้นๆ ผมไม่ได้เป็นคนซับซ้อนมากนะครับทางการเมือง ตรงไปตรงมา ผมเชื่อแค่ว่าถ้าเราไม่ทิ้งประชาชน ประชาชนจะไม่ทิ้งเรา และผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งปี 2562 เราพ่ายแพ้ ไม่ใช่เพราะประชาชนทิ้งเรา แต่เราพ่ายแพ้เพราะอะไรที่ไม่ใช่ประชาชน”

อดีต ส.ส.เพื่อไทย เมื่อปี 2554 บรรยายต่อว่า ที่เขาทำงานพิสูจน์ตัวเองมาตลอด 17 ปี ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีตำแหน่ง ผ่านการไปใช้ชีวิตกับประชาชนทุกวัน และพยายามเรียนรู้เก็บเกี่ยวปัญหาของคนทุกกลุ่มทุกอุดมการณ์ให้ได้มากที่สุด ก็เพราะอยากค้นหา “ความหมายแท้จริง” ของคำว่า “ผู้แทนราษฎร”

ดังนั้น ถ้าคนในพื้นที่เทคะแนนให้ผู้สมัครชื่อ “สุรชาติ เทียนทอง” ชัยชนะดังกล่าวก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่านิยามของ “ผู้แทนราษฎร” ที่เขายึดถือมาเสมอคือสิ่งที่ถูกต้อง

ทางด้านเพชร กรุณพล มั่นใจว่าประชาชนได้มองเห็นแล้วว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้นทำงาน “คุ้มภาษี” ผ่านการอภิปรายประเด็นปัญหาหลายๆ เรื่อง ซึ่งสร้างผลสั่นสะเทือนในวงกว้าง

เช่น เรื่องการจัดหา “วัคซีนโควิด” แบบแทงเต็งตัวเดียว เรื่อง “ตั๋วช้าง” ตลอดจนเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณประเทศอย่างไม่เหมาะสม

“ผมเองก็เป็นหนึ่งในทีมของก้าวไกลที่จะเข้ามาผลักดันประเด็นเหล่านี้” นี่คือเหตุผลที่ประชาชนต้องเลือก “กรุณพล เทียนสุวรรณ” เข้าสภา