AI ณ ปี 2041 : มนุษย์จะอยู่ตรงไหน?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

AI ณ ปี 2041

: มนุษย์จะอยู่ตรงไหน?

 

ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเพราะเคยชอบที่ Kai-Fu Lee เขียนหนังสือเล่มก่อนว่าด้วย AI Superpowers ที่แกทำนายเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” ไว้ก่อนข้างแม่นยำ

โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยความสามารถของจีนที่จะแข่งกับอเมริกาในเรื่อง Artificial Intelligence (AI)

พอเห็นเล่มใหม่ที่แกทำนายว่า AI จะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงอย่างพวกเราอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ผมก็กระโจนเข้าใส่ทันที

ถามว่ามีอะไรใหม่กว่าที่เคยอ่านจากกูรูเรื่องนี้มากไหม?

โดยภาพรวมข้อสรุปของแกกับเพื่อนร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ Chen Quifan นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มีความละม้ายกับแนวคิดของค่ายอื่นๆ

แต่ที่ทำให้ผมอ่านด้วยความละเมียดละไมเป็นพิเศษคือตอนท้ายหนังสือที่แกสรุปออกเป็นสองแนวทาง

คือ Plenitude กับ Singularity

เป็นสองหัวข้อใหญ่ที่ทำให้ผมต้องมานั่งคิดต่อให้ปวดหัวหนักยิ่งขึ้น

เพราะผมไม่ได้มีพื้นด้านวิทยาศาสตร์หรือคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีอะไรเลย

มีแต่ความอยากรู้อยากเห็น

และพยายามเชื่อมทุกอย่างที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของยุคนี้กับปรัชญาชีวิตและแนววิเคราะห์ศาสนา

พูดง่ายๆ คือ ผมอยากจะเปรียบเทียบสิ่งที่เทคโนโลยีจะทำกับมนุษย์กับสิ่งที่จะเกิดกับ “ความเป็นมนุษย์”

ตรงนี้แหละที่หนังสือเล่มนี้พยายามหาคำตอบ

ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำ (เพราะใครก็ตามที่อ้างว่า “ข้าฯ รู้คำตอบแล้ว” ย่อมแปลว่าเขาผู้นั้นเข้าข่ายผู้อวดรู้เกินมนุษย์มนาแน่นอน)

แต่การยกเอาเหตุผลและหลักฐานที่มีอยู่วันนี้ประกอบกับจินตนาการในฐานะนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราคิดต่อยอดอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย

นี่กระมังคือคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ที่ผมได้เต็มๆ

 

คําว่า Plenitude หมายถึงความสมบูรณ์พูนสุข

หาก AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทำอะไรต่างๆ นานาตามที่กล่าวอ้างได้ สังคมของคนก็จะมีความพร้อมเพรียงอย่างน้อยก็ทางวัตถุมากขึ้นอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก

ในคำพยากรณ์ของนักเขียนทั้งสองนั้น “โลกแห่งความเพียบพร้อม” นี้จะทำให้เกิด

ความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างล้นเหลือ

เพิ่มความสามารถด้านต่างๆ อันเกิดจากการผสมผสานของมนุษย์กับเอไอ

ธรรมชาติของการทำงานก็คล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ความสามารถในการสื่อสาร, แสวงหาความบันเทิงและการเล่นเพื่อความเพลิดเพลินจะก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ

มนุษย์จะมีอิสรภาพจากการที่ไม่ต้องทำงานจำเจอีกต่อไป

แต่ขณะเดียวกันมันก็พร้อมกับความเสี่ยงและความท้าทายมากมายหลายประการ เช่น

อคติต่อเพื่อนร่วมโลกในทุกรูปแบบ

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง

Deepfakes หรือการสร้างภาพลวงที่สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างหนักหน่วงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

 

ใน “นิทาน” 10 เรื่องที่รังสรรค์ขึ้นในหนังสือเล่มนี้ คนเขียนทั้งสองพยายามจะชี้ว่าแม้จะมีความเสี่ยงและอันตรายอย่างมาก แต่มนุษย์ก็มีทางป้องกันและแก้ไขมหันตภัยนี้

เพราะความชั่วร้ายที่เกิดนั้นมิใช่ AI กระทำต่อมนุษย์ หากแต่เป็นเพราะมนุษย์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นเพื่อเป้าหมายที่อันตรายและเห็นแก่ตัว

มนุษย์ป้องกันและแก้ไขสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ได้ด้วย

ความคิดสร้างสรรค์

สติและปัญญา

ความเอื้ออาทรต่อกัน

ความอดทน

ความยับยั้งชั่งใจ

และความรักต่อเพื่อนร่วมโลก

มนุษย์ต้องมีความหวังต่ออนาคตของโลกเพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ต้องรักและทะนุถนอมคุณสมบัติที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อความเป็นคน นั่นคือ

การรักความยุติธรรม

ความสามารถในการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

ความกล้าที่จะฝัน

และความศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

ที่สำคัญคือ ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับอิทธิพลของ AI ต่อชีวิตของเรานั้น มนุษย์จะไม่เป็นเพียง “ผู้ชมที่นั่งอยู่ข้างเวที”

หากแต่จะเป็น “ผู้เขียนบท” ให้ภาพยนตร์เกี่ยวกับอนาคตมนุษย์ด้วยตนเอง

ทุกอย่างจึงอยู่ที่เรา

 

หนังสือจบลงด้วยการบอกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิธีคิดของคน

“ถ้าเราเชื่อว่า AI จะทำให้เรากลายเป็นพลเมืองไร้ค่า เรายอมจำนนให้มันทำอะไรกับเราก็ได้เมื่อมันสามารถขยับขยายความสามารถของมัน (ด้วยฝีมือมนุษย์เอง) เราก็จะทำตัวเองให้หมดโอกาสที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้กับตัวเอง

“แต่หากเรามีความพออกพอใจกับความมั่งคั่งทางวัตถุที่เกิดจาก AI ไม่ขวนขวายเสริมสร้างสติปัญญาของเราและยกระดับความเชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เราก็จะระงับยับยั้งวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์

“หากเราท้อแท้และยอมให้ AI ยึดครองทุกพื้นที่ทางความคิดและกิจกรรมของมนุษย์เพราะกลัว Singularity ของ AI จะมาล่าอาณานิคมของมนุษย์ เราก็จะหมดสภาพ เข้าสู่คิมหันต์แห่งความหมดหวัง…ไม่ว่ายุคยึดครองเบ็ดเสร็จหรือ Singularity จะมายึดครองมนุษย์หรือไม่ก็ตาม…”

 

คําว่า Singularity หมายถึงภาวะ “เอกฐาน” ทางเทคโนโลยี

หมายถึงช่วงเวลาที่ถูกคาดการณ์ขึ้น ในพัฒนาการของอารยธรรม ที่เทคโนโลยีพัฒนาได้รวดเร็วเกินกว่าที่มนุษย์ในปัจจุบันจะสามารถทำความเข้าใจได้ หรือคาดการณ์ได้

ถึงจุด Singularity ก็แปลว่าปัญญาของ AI อยู่เหนือปัญญามนุษย์

หรืออีกนัยหนึ่งหากถึงจุดนั้น AI ก็จะกระชากอำนาจการกำหนดชะตากรรมของโลกไปจากมนุษย์

คนที่ฝันว่าโลกแห่ง Singularity คือโลกที่มนุษย์จะปลดเปลื้องปัญหาทั้งสิ้นทั้งปวงเพราะเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปมเงื่อนของปัญหาได้ทั้งหมด

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ยังมีความเห็นที่แปลกแยกกันไปคนละทาง

ผู้มองโลกในแง่ดีบอกว่าโลกที่ AI เป็นใหญ่จะช่วยมนุษย์ให้มีชีวิตที่สมบูรณ์ แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์อนาคตหลายค่ายยืนยันว่าหาก AI ฉลาดกว่ามนุษย์เมื่อใด มนุษย์ก็จะมีอันหมดสภาพ กลายเป็นทาสของ AI ที่จะเป็นผู้สั่งการให้มนุษย์ต้องทำในสิ่งที่เป็นอันตรายกับตนเอง

มนุษย์จะกลายเป็นผู้ยอมจำนวนเทคโนโลยีอย่างน่าสะพรึงกลัวทีเดียว

 

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์เทคโนโลยีที่จะก่อความปั่นป่วนในวงการต่างๆ ทั้งหลาย เช่น การเรียนรู้เชิงลึก, บิ๊กดาต้า, การศึกษา, การดูแลสุขภาพ, โลกเสมือนจริง, เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม, ยานยนต์อัตโนมัติ, คอมพิวเตอร์ควอนตัม และทุกกิจกรรมของมนุษย์ที่กำลังถูก disrupted อย่างรุนแรง

นักเขียนทั้งสองเดินด้วยเรื่องสั้นที่สมมุติสถานการณ์ในปี 2041 ที่ซานฟรานซิสโก โตเกียว มุมไบ โซล และมิวนิก

อ่านแต่ละเรื่องสั้นก็คิดตามไปด้วยจินตนาการว่าโลกจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

ใจหนึ่งก็ไม่เชื่อ อีกใจหนึ่งก็โน้มเอียงจะเชื่อ

ต้องคอยเตือนตัวเองว่าครั้งหนึ่งเราก็ไม่เชื่ออะไรหลายอย่างว่ามันจะเกิดขึ้นได้

จนวันนี้สิ่งที่คนเคยบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” มันก็เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้วจริงๆ

(สัปดาห์หน้า : มนุษย์กับ AI ใครจะควบคุมใคร?)