ครูคือใครในวันนี้ | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

“ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ” คำแปลจากบทบาลีวรรคที่ว่า “วิชชาจาระณะสัมปันโน” อันเป็นบทสวดบูชาพระพุทธคุณ คือ “อะระหังสัมมาสัมพุทโธภควา…” แล้วต่อด้วย “…วิชชาจาระณะสัมปันโน…”

วิชชา คือความรู้

จาระณะ คือการปฏิบัติ

สัมปันโน คือสมบูรณ์ หรือถึงพร้อม

ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติจึงเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของการศึกษาที่คุณครูทั้งหลายพึงตระหนักสำนึก

 

วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันครู ดังนั้น วันครูปีนี้จึงขอบูชาครูด้วยบทบาลีดังคำแปลคือ “ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ” ถวายเป็นหญ้าแพรกและดอกมะเขือแด่คุณครูทุกท่านมา ณ ที่นี้

ความหมายลึกซึ้งของความข้อนี้เป็นดั่งคำขยายความว่า ในความรู้มีการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมีความรู้ หรือเชิงวิชาการว่า

ในทฤษฎีมีปฏิบัติ ในปฏิบัติมีทฤษฎี

ตัวอย่างเช่น

นักศึกษาการเกษตร ควรลงไปทำนากับชาวนาในชนบทจริงๆ พร้อมกันนั้น เมื่อเสร็จงานนาแล้ว ชาวนาเองก็ควรได้มาเข้าห้องเรียนวิชาเกษตรในสถาบันการศึกษาด้วย

ทำได้ดังนี้จะสมความที่ว่า ในทฤษฎีมีปฏิบัติและในปฏิบัติมีทฤษฎี แท้จริง

สมขั้นตอนของความรู้จริงสามระดับคือ

รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง

รู้จัก คือรู้สักว่ารู้

รู้จริง คือรู้ตามเหตุผล

รู้แจ้ง คือรู้จากการปฏิบัติ

ดังนิทานเซนเรื่องพระตอบคำถามของพระที่ถามว่า

“น้ำนี่ลึกแค่ไหน”

คําตอบที่ได้รับคือถูกผลักโครมลงน้ำ…จบ

เพราะถ้าตอบว่าลึกมาก ก็คือรู้สักว่ารู้คือ รู้จัก

ถ้าตอบว่า ลึกสองเมตร ก็คือการรู้ตามเหตุผลคือ รู้จริง แต่เมื่อหล่นลงน้ำ ก็จะ รู้แจ้ง ด้วยตนเองทันที เป็นการรู้จากปฏิบัติที่เป็นจริง

และเป็นความรู้ที่แท้จริง

ซึ่งสถาบันการศึกษาบ้านเรามักยังขาดอยู่

 

ตัวอย่างการศึกษาของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ครูพาเด็กทั้งชั้นลงแปลงปลูกมันโดยให้เด็กนั่งล้อมแปลงมัน มีครูเล่าเรื่องการปลูกมันให้ฟัง จบแล้วจึงให้นักเรียนช่วยกันขุดคุ้ยหาหัวมันใต้ดินแล้วใส่ตะกร้ากลับโรงเรียน มื้อกลางวันเด็กทุกคนได้กินมันต้มกันอย่างเอร็ดอร่อยกว่าทุกมื้อ

อร่อยกับเรื่องราว อร่อยกับภาพที่เห็น และอร่อยกับเรี่ยวแรงที่ได้ลงมือขุดคุ้ยหาหัวมันด้วยตัวเอง

ชั่วโมงศิลปะตอนบ่ายนักเรียนทั้งชั้นช่วยกันจำลองไร่มันด้วยการตัดกระดาษ ระบายสี ห้อยเถามันด้วยเชือก และภาพจำลองหัวมันระโยงระยางไปทั้งห้องอย่างสนุกสนาน

นี้คือตัวอย่างเรื่องความรู้และการปฏิบัติสมคำที่ว่า

ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติ

คือรู้ด้วยตัวเอง เข้าใจด้วยตนเอง และประจักษ์ด้วยตนเอง

 

คําว่า ศึกษานี้มาจากศัพท์ว่า “สิกขะ” รากศัพท์คือ “สะ” หมายถึง ตัวเอง “อิกขะ” หมายถึง การดู สิกขะจึงหมายถึงการดูตัวเองด้วยตัวเอง ดังคำกลอนบทนี้

สิกขา คือรู้เรียน รู้เพียรเพ่ง

ดูตัวเองด้วยตัวเองเร่งฝึกฝน

เรียนรู้ตนจนตระหนักรู้จักตน

รู้ตั้งต้นช่วยตัวได้ใช้ตัวเป็น

เรามักใช้ศัพท์ภาษาฝรั่งว่า ชายส์เซนเตอร์ คือให้ถือเอาเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ แต่เรามักไม่เคยถือเอาความหมายของศัพท์ “ศึกษา” ที่แท้จริงคือ “สิกขะ-สิกขา” อันมีความหมายลึกซึ้งไม่ต่างกันเลย

ทั้งเป็นหัวใจของการศึกษาแท้จริงด้วย

นี้เป็นหัวใจการศึกษาของครูผู้มีหน้าที่ให้การศึกษา

ส่วนอีกหัวใจการศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษาคือภาษิตคาถา สุ จิ ปุ ลิ คำเต็มสุคือ สุตะ หมายถึง ฟัง จิ คือจิตตะ หมายถึง คิด ปุ คือปุจฉา หมายถึง ถาม ลิ คือลิขิต หมายถึงเขียน

คือ ฟัง คิด ถาม เขียน

เวลานี้เราเอาแต่ฟังโดยไม่คิด หากคิดก็คิดเองโดยไม่สงสัยไต่ถาม หากถามก็ไม่จดจำเป็นความรู้เป็นการปฏิบัติแต่อย่างใด ได้แต่นำมาเขียนคำตอบในข้อสอบเพียงเท่านั้น

หัวใจการศึกษาทั้งของครูและนักเรียนจึงชำรุดทรุดโทรมยิ่ง

 

โลกยุคใหม่ยิ่งทำให้เกิด “โรคหัวใจ” ของการศึกษามากขึ้นไปอีก ทั้ง “สงครามโรค” สงครามโลกยุค NEW ABNORMAN (ผิดปกติใหม่) ซึ่งสร้างความล้มเหลวแก่การศึกษาจนเหมือนวนอยู่ในเขาวงกต

ครูวันนี้อาจรู้ไม่เท่าศิษย์ผู้ชำนาญการใช้จอแผ่นมากกว่าครู

หน้าที่ของครูวันนี้จึงไม่ใช่ให้ความรู้พื้นฐานเพียงเท่านั้น

หากครูพึงต้องให้ศิษย์ได้รู้ครบทั้งสามขั้นตอนคือ รู้จัก รู้จริง รู้แจ้ง ในความรู้พื้นฐานนั้นๆ แล้วยังไม่พอ

หน้าที่ใหม่ของครูคือต้องตระหนักถึงการนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงด้วย ซึ่งคือการบริหารจัดการกับสรรพความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวมได้จริง

นี้เป็นภาระหน้าที่ใหม่อันหนักยิ่ง เพิ่มน้ำหนักของคำว่า “ครุ” หรือ “ครู” แห่งยุคสมัย

ไม่เฉพาะถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติเพียงเท่านั้น หากแต่ครูต้องตระหนักตามนี้ด้วยคือ

ให้รู้ลึก รู้รอบ และรู้ละ

รู้จังหวะ รู้กระบวนที่ควรเห็น

ประโยชน์สุขส่วนรวมร่วมบำเพ็ญ

การศึกษาจะต้องเน้นความเป็นมนุษย์!

 

ครูคือใคร

ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้

ใช่อยู่ที่ ปริญญามหาศาล

ใช่อยู่ที่เรียกว่า ครูอาจารย์

ใช่อยู่นานสอนนาน ในโรงเรียน

ครูคือผู้ชี้นำ ทางความคิด

ให้รู้ถูก รู้ผิด คิดอ่านเขียน

ให้รู้ทุกข์ รู้ยาก รู้พากเพียร

ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้ รู้สร้างงาน

ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์

ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน

ครูคือผู้สั่งสม อุดมการณ์

มีดวงมานเพื่อมวลชน ใช่ตนเอง

ครูจึงเป็น นักสร้างผู้ใหญ่ยิ่ง

สร้างคนจริง สร้างคนกล้า สร้างคนเก่ง

สร้างคนให้ได้เป็นตัวของตัวเอง

ขอมอบเพลงนี้มา บูชาครู ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์