24-7/1 : นวนิยายที่บอกเราว่า การเมืองอยู่รอบตัวเราเสมอ ทุกชั่วโมง-ทุกวัน-ทุกสัปดาห์/บทความพิเศษ ศิรินญา

บทความพิเศษ

ศิรินญา

 

24-7/1

: นวนิยายที่บอกเราว่า

 

การเมืองอยู่รอบตัวเราเสมอ

ทุกชั่วโมง-ทุกวัน-ทุกสัปดาห์

 

…ไม่ปรากฏ (2013) เนรเทศ (2014) ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ (2015) ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม (2016) 24-7/1 (2020)…

คือ 5 ผลงานรวมเล่มทั้งหมดของภู กระดาษ นักเขียนจากดินแดนลุ่มโขง ชี มูล ผู้สร้างแปงงานวรรณกรรมเสนอภาพสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ผนวกกับภาพสังคมอีสานผ่านน้ำเสียงและท่วงท่าที่ไม่โอนอ่อนผ่อนตามไปกับชุดความรู้และมโนทัศน์ส่วนกลาง

สะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็น ตั้งแต่กลวิธีไปจนถึงเนื้อหา ปรากฏ ‘โดดเด่นโดยท้าทาย’ อย่างสม่ำเสมอและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในงานแต่ละชิ้นของเขา

24-7/1 ผลงานล่าสุด นับเป็นผลงานประเภทนวนิยายเล่มที่สองของภู กระดาษ ต่อจากเนรเทศ

อาจกล่าวได้ว่า หากเนรเทศ เล่าล้อประเด็นสังคมในทุกจังหวะของการรอคอยบนรถโดยสารสาธารณะ

นวนิยายเรื่อง 24-7/1 ก็เสนอภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกจังหวะชีวิตของเราในโมงยาม ตลอด 24 ชั่วโมง เจ็ดวัน และหนึ่งสัปดาห์ ขานผ่านเรื่องราว “วงศ์คำดี” ตระกูลเก่าแก่แห่งหมู่บ้านโนนทองดี วางเป็นโครงหลักในการดำเนินเรื่อง หนา-หนัก-ซ้อนทับ-ซับซ้อน บนหน้ากระดาษกว่า 751 หน้า

 

การเมืองการปกครองของครอบครัววงศ์คำดี

เนื้อหาหลักของเรื่องอยู่ที่ครอบครัวรุ่น 10 ของตระกูลวงศ์คำดี ครั้งก่อนเก่าคราวปางหลัง ก่อร่างขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของคนรุ่นแรก (คำดี) ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ด้วยการฆ่าผู้นำคนเก่า (คำมี) แล้วสืบทอดวงศ์ตระกูลนับแต่นั้นมา เข่นฆ่า แย่งชิง มีอำนาจ ร่ำรวยทรัพยากร จากรุ่นสู่รุ่น

จนมาถึงยุคสมัยของ “ศรีสกุล”

การปกครองดูแลวงศ์ตระกูลในรุ่นของศรีสกุล เป็นไปในลักษณะที่เธอมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการ ชีวิต ความคิด ความเป็นไปของคนในครอบครัวในระดับชี้เป็นชี้ตาย

“แม่ของผมเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในครอบครัวหรือในบ้านใหญ่ของเรา จัดการทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยเสมอมา” (น.32)

จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวนี้ละม้ายคล้ายกับการปกครองของระบบระบอบเผด็จการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการแต่เพียงผู้เดียว

 

ความรัก-เพศ-เซ็กซ์-ครอบครัว

ในการเมืองการปกครองแบบศรีสกุล

นวนิยาย ฉายภาพให้เห็นความเกี่ยวโยงของอำนาจที่ล่วงล้ำไปทำงานกับเรื่องเพศ ความรัก เซ็กซ์ และระบบครอบครัวในมิติที่ลึกซึ้ง ตั้งแต่ลูกชายคนโตอย่างชัยศิริ ในวัยมัธยมที่ได้ลอง “มีเซ็กซ์” ครั้งแรกกับน้าผู้หญิงของเขา

เมื่อเรื่องนี้ถึงหูของศรีสกุล เธอได้ใช้อำนาจสั่งห้ามและลงโทษ จนเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความรู้สึก “ผิดบาป” แก่ชัยศิริเสมอมา “ผมเป็นคนแรกของรุ่นที่เคยมีอะไรกับผู้หญิง และมันได้เป็นรอยแผล เป็นรอยบาปที่ติดตัวผม ไม่ได้รับการไถ่ถอนมาจนปัจจุบัน” (น.183)

แสดงให้เห็นว่า อิสรภาพในเนื้อตัวร่างกายของชัยศิริ ถูกลิดรอนและไม่แม้แต่จะถูกทำความเข้าใจ เป็นระบบการปกครองที่สร้างบาดแผลอย่างลึกซึ้งแก่เด็กคนหนึ่งได้ตลอดชีวิต

แม้ต่อมาชัยศิริดำเนินชีวิตตามครรลองครองธรรมของแม่ทุกประการ แต่เมื่อเติบโตเขาก็ไม่สามารถอดทนอยู่ภายในวังวนอำนาจแบบบ้านใหญ่ได้ จากการที่แม่ใช้อำนาจเข้ามาควบคุมการเลือกเส้นทางความรักของเขา จึงเป็นเหตุผลของการออกจากบ้าน ไปทำงานพนักงานในบริษัท หมุนวนในกลไกการผลิตต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชัยศิริ ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อำนาจเผด็จการเข้ามาทำงานละเมิดและกดขี่ในมิติที่ลึกลงไปถึง “ความรัก” นำไปสู่การไร้สิทธิที่จะ “เลือก”

ขณะเดียวกันการที่ชัยศิริหนีออกจากบ้าน ก็ไม่ได้เป็นการเลือกของเขาเอง หากแต่เป็นเพราะโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองแบบศรีสกุลที่มีอิทธิพลกดดันและบีบคั้นให้เขา “เลือกไม่ได้”

จนเป็นจุดเริ่มต้นตัดสินใจเนรเทศตัวเองไปทำงานในเมืองใหญ่หลายต่อหลายปี

 

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง “เพศ” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกเสนออย่างโดดเด่นในนวนิยายเรื่องนี้ ชี้ชวนให้เห็นการถูกจำกัดและกดขี่ความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การปกครองของศรีสกุลที่ให้คุณค่าต่อ “ความเป็นชาย” ในฐานะผู้สืบเชื้อวงศ์ตระกูล

ทว่า “บุญสม” น้องชายของเธอไม่ได้ชอบผู้หญิง “กูไม่ชอบผู้หญิง กูชอบผู้ชาย” จึงเป็นปมขัดแย้งกับชุดคุณค่าหลักที่ศรีสกุลยึดถือ

และด้วยอำนาจที่เหนือกว่าของศรีสกุล สุดท้ายก็ได้บังคับให้บุญสมมีเซ็กซ์กับผู้หญิงได้สำเร็จ บรรยายผ่านฉากเข้าเรือนหอที่ไม่ต่างอะไรกับ “การข่มขืน” ด้วยผู้หญิงที่ศรีสกุลเลือกมา 5 คน

“…ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี กระตุ้น แข็งตัว สอดใส่ และนั่งควบม้า บุญสมนอนนิ่ง ใบหน้าเรียบเฉย จนร่างเกร็งกระตุกและหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด นั่งแช่อยู่เนินนานจนศรีสกุลบอกให้ลุกออกไป” (น.650)

ฉากนี้เสนอภาพการกดขี่ให้เห็นอย่างประจักษ์ ผ่านฉากการมีเซ็กซ์ที่ไม่ได้รับการยินยอม จากทั้งผู้หญิง-บุญสม แสดงให้เห็นว่าระบอบเผด็จการไม่ถามไถ่ ไม่ต้องการการยินยอมพร้อมใจ และไม่เปิดโอกาสใดให้กับพื้นที่ของความหลากหลาย เพราะชุดคุณค่าหลักหนึ่งเดียวที่ศรีสกุลยึดถือ สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของครอบครัว

ฉะนั้น ความเป็นชายในฐานะผู้สืบสายวงศ์ตระกูล จึงต้องถูกรักษาไว้ เพราะมันนำไปสู่ผลประโยนชน์และอำนาจของครอบครัวให้สถาพรในรุ่นถัดไปได้

ประเด็นของบุญสม จึงเป็นส่วนในนวนิยายที่เสนอให้เห็นความเกี่ยวโยงเรื่องความหลากหลายทางเพศกับเศรษฐกิจการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

 

เช่นกันกับเรื่องราวของ “ศศิธร” ลูกสาวหล่าของศรีสกุล เป็นตัวละครที่ลุกขึ้นตั้งคำถามอย่างเข้มข้นในทุกมิติของการปกครองแบบบ้านใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เธอลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อ “ระบบผัวเดียวเมียเดียว” ว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ปลูกฝังมุมมองเรื่องกรรมสิทธิ์และความเป็นเจ้าของกัน ซึ่งนำไปสู่รูปแบบโครงสร้างครอบครัวอย่างวงศ์คำดี

เธอจึงอยากปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากสถานะความสัมพันธ์แบบนั้น ไปเป็นความสัมพันธ์แบบชายหญิงเท่าเทียมกัน และไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ชีวิตของกัน และเธอยังปฏิเสธการมีลูกอย่างหนักแน่นอีกด้วย

แน่นอนว่าข้อเสนอได้รับการปฏิเสธทันทีจากสามีและแม่ของเธอที่เชื่อว่า ระบบรักเดียวใจเดียว และการมีครอบครัวเป็นการรักษาชื่อเสียงและการดำรงอยู่ของวงศ์ตระกูลซึ่งหมายความถึงชุดคุณค่า วิถีที่คอยหล่อเลี้ยงระบบการปกครองแบบวงศ์คำดีสืบมา

โดยความขัดแย้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขั้นที่สามีของเธอตามทำร้ายร่างกายและขู่เข็ญว่า “กูจะฆ่ามึง”

กระนั้นแล้วแม่ของเธอก็เข้าข้างฝ่ายชายและโน้มน้าวให้เธอ “ยอมผัวมึงเถอะนะ” (น.664)

แสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดความรุนแรงกับลูกหน้าต่อตา ศรีสกุลก็ยังต้องมุ่งรักษาชุดคุณค่าเดิมที่ผดุงระบบการปกครองของครอบครัวเอาไว้มากกว่า

โดยไม่สนใจความเจ็บปวดที่ลูกของเธอถูกกระทำจากสามีแต่อย่างใดเป็นเหตุต่อเนื่องสู่ความสูญหายของมนุษยธรรมอย่างสมบูรณ์ในการปกครองเช่นนี้

 

อนึ่ง ในภาพใหญ่ นัยของการแต่งงานระหว่าง ศศิธรกับชัยยุทธ์ซึ่งมาจากครอบครัวคนจีน เสนอให้เห็นภาพแทนของการร่วมมือกันระหว่างครอบครัวผู้มีอำนาจทางการเมืองกับครอบครัวผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผ่านรูปแบบการตกลง (จดทะเบียน) ร่วมกันระหว่างสองฝ่าย สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับสถานการณ์ทางการเมืองที่แทรกเข้ามาในเรื่องได้อย่างไม่อาจตัดขาดจากการพิจารณา

“…ตลาดร้าง ไม่มีคนค้าขาย ไม่มีอะไรให้ซื้อภายในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหลังจากการยึดอำนาจ มีเพียงร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ยังเปิดให้บริการ” (น.283)

ตัวบทข้างต้นแสดงให้เห็นภาพการเกื้อหนุนกันระหว่างทุนใหญ่กับเผด็จการทหาร ผ่านการบรรยายฉากหลัง การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีเพียงร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่เปิดให้บริการได้ “ปกติ” ในภาวะ “ไม่ปกติ” ไร้วี่แววของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ชี้ชวนให้เห็นถึงการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้กับทุนใหญ่ผูกขาดผลประโยนชน์ทางเศรษฐกิจเพียงผู้เดียว ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ในครอบครัววงศ์คำดีนัก

จะเห็นว่ามโนทัศน์เกี่ยวกับการแต่งงาน การสืบทอดวงศ์ตระกูล เพศ เซ็กซ์ คู่ครอง และระบบครอบครัวที่ถ่ายทอดในเรื่องนี้ ล้วนสัมพันธ์และทำงาน เพื่อค้ำจุนรักษาระบบการเมืองการปกครองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของครอบครัววงศ์คำดีอย่างแข็งขันและยากจะหลีกหนีจากระบบระบอบนี้

แม้แต่ตัวละครอย่างศศิธรที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อรองกับอำนาจของศรีสกุลอย่างเข้มข้น เพื่อเรียกร้องขอชีวิตในแบบที่เธอต้องการ

ท้ายที่สุดยังเธอก็ต้องจำใจยอมรับว่าเธอได้รับ “การกักขังโดยสมบูรณ์” แล้ว เธอไม่สามารถมองหาทางออกได้อีกต่อไปในโครงสร้างครอบครัวนี้ได้ เป็นความรู้สึกเดียวกันกับการถูกกักขังจากระบบการเมืองในระบอบเผด็จการ

“ฉันกลายเป็นผู้ถูกจองจำโดยไม่จำเป็นต้องมีโซ่ตรวนหรือห้องกักขังไปโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ต่างจากการควบคุม การปกครองประเทศโดยคณะปกครองเผด็จการทหาร สิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความยุติธรรม การกระจายทรัพยากร กระจายความมั่นคง และลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่เคยมีอยู่จริงในดินแดนแห่งนี้”

 

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ 24-7/1 ทำให้เห็นว่าทุกเมื่อเชื่อวันในการใช้ชีวิตของตัวละคร มีโครงสร้างทางการเมืองแบบหนึ่งๆ ทำงานอยู่รอบตัวเราอย่างไม่เคยหยุดหย่อน เป็นเงื่อนไขสำคัญและจุดเริ่มต้นของชะตากรรมอันเจ็บปวดที่ตัวละครต้องเผชิญตลอดทั้งเรื่องอย่างหนีไม่พ้น

ทว่า ในตอนท้ายของวรรณกรรมเรื่องนี้ ก็ได้ทิ้งท้ายให้รู้สึกถึงกลิ่นอายความหวังบางประการ ผ่านตัวละครหนุ่มสาวรุ่นลูกหลานของครอบครัววงศ์คำดีที่รวมตัวกันลุกขึ้นมาสะสาง ค้นหาข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเขียนนวนิยายว่าด้วยตระกูลวงศ์คำดีออกมา

มีกระบวนการคือการต่อเติม พัฒนา รื้อ ขัดเกลาร่วมกัน “ทุกคน”

แสดงให้เห็นว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ที่สามารถร่วมกันเขียน ออกแบบ ไม่ใช่เพียงพ่อใหญ่คำดีหรือแม่ใหญ่ศรีสกุลคนเดียวที่มีสิทธิ์สร้างเขียนมันขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องใช้การเรียนรู้และพัฒนาเรื่อยๆ ต่อไป เพราะมันจะอยู่กับเราเสมอ ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน และ 1 สัปดาห์ แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะจบลงอย่างบริบูรณ์แล้วก็ตาม

“นวนิยายเรื่องนี้จบลงอย่างบริบูรณ์แล้ว ส่วนที่เหลือนับจากนี้คือการอ่าน การแก้ไข ขัดเกลา รื้อ และเขียนใหม่อีกครั้งและอีกครั้งโดยคุณ โดยฉัน หรือโดยพวกเรา จนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจที่สุดของทุกคน ไม่ใช่จนกว่าจะดีที่สุดแต่อย่างใด” (น.749)

วิจารณ์โดย : ศิรินญา

อ้างอิง : ภู กระดาษ. (2563). 24-7/1. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพ : มติชน