ยุคนี้เราช้อปเสื้อผ้ากันจากซีรีส์/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ยุคนี้เราช้อปเสื้อผ้ากันจากซีรีส์

 

Emily in Paris ซีรีส์เบาสมองบน Netflix ที่นำเสนอชีวิตของหญิงสาวชาวอเมริกันที่ได้ไปทำงานกับเอเยนซี่โฆษณาในฝรั่งเศสและหอบเอาความอเมริกันเต็มร้อยไม่ว่าจะเป็นมุมมองแนวคิดไปจนถึงแฟชันสีฉูดฉาดไปปะทะกับความปารีเซียงที่แตกต่างกันสุดขั้วเพิ่งจะออกซีซั่นสองมาไม่นานฉันก็ดูจบไปแล้วอย่างรวดเร็วในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ได้รับคะแนนรีวิวที่ดีนัก คือได้ 6.9 คะแนนเต็ม 10 บน IMDb และ 64% บน Rotten Tomatoes และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำเสนอความเป็นฝรั่งเศสในแบบภาพเหมารวมแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือซีรีส์ที่ผู้คนพูดถึงกันหนาหูโดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย สิ่งที่ผู้ชมอยากรู้หลักๆ มีอยู่เพียง 2 อย่างก็คือ Emily จะลงเอยกับผู้ชายคนไหน

และตัวละครในเรื่องใส่เสื้อผ้าแบรนด์อะไรบ้าง

แฟชั่นนับเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากในซีรีส์เรื่องนี้ แม้กระทั่งตัวฉันเองก็ยังต้องคอยกดพอสเพื่อหยิบมือถือขึ้นมาเสิร์ชหาว่าใครใส่เสื้อผ้าแบรนด์อะไรกันบ้าง

ถึงแม้การแต่งตัวของ Emily จะฉูดฉาดเสียจนฉันนึกไม่ออกว่าชาวบ้านทั่วไปจะเอามาใส่ในโอกาสไหนได้บ้าง

แต่การได้ดูว่าเดรสที่แสนจะดีไซน์แปลกประหลาดนี้เป็นของดีไซเนอร์คนไหนกันนะก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกที่ได้จากซีรีส์นี้

 

ครั้งนี้ซีซั่นสองปล่อยออกได้เพียง 24 ชั่วโมง เว็บไซต์แบรนด์แฟชั่นต่างๆ ก็มียอดผู้เข้าชมพุ่งทะยาน

สถิติที่เก็บโดย ShopStyle แพลตฟอร์มช้อปปิ้งเสื้อผ้าบอกว่าคำค้นหาเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยตัวละคร Camille Razat ในเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเดรสเบลเซอร์หนังที่เธอสวมเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังซีซั่นสองเริ่มฉาย

ตัวละครเดียวกันนี้ก็ยังทำให้แฟชั่นไอเท็มอื่นๆ อย่างเบลเซอร์แบบโอเวอร์ไซส์ กางเกงเอวสูง หรือเบลเซอร์ทรงสั้นได้รับความนิยมจากแฟนๆ ด้วย

ส่วนตัวละครหลักอย่าง Emily ที่แต่งตัวแปลกตาเสียจนกลายเป็นความบันเทิงในแต่ละตอนนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักช้อปแฟชั่นไม่แพ้กัน

ซีซั่นแรก Emily ทำให้หมวกเบเร่ต์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ตามมาด้วยไอเท็มอื่นๆ อย่างสเว็ตเตอร์ลายทางสีสลับขาวดำหรือรองเท้าบู๊ตที่ยาวขึ้นมาถึงเข่า

สำหรับตัวฉันเองที่เสิร์ชหาที่มาของเสื้อผ้าที่ Emily สวมใส่ไปด้วยก็อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้เพราะเสื้อผ้าแต่ละชิ้นล้วนเป็นของแบรนด์เนมที่ราคาแพงหูฉี่

จนไม่รู้ว่าตัวละครที่รับบทเป็นพนักงานบริษัทสามารถหาซื้อมาใส่ทุกวันไม่ซ้ำกันได้อย่างไร

 

นอกจาก Emily in Paris แล้วก็ยังมีซีรีส์อีกหลายเรื่องที่กลายเป็นเหมือนแคตาล็อกดิจิตอลให้ผู้ชมแห่เลือกช้อปปิ้งเสื้อผ้าตามในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัจจัยของการแพร่ระบาดของโควิดก็น่าจะมีส่วนทำให้คนที่ไม่ได้ลำบากหรือตกงานจากการล็อกดาวน์มีเวลาว่างล้นเหลือที่จะมานั่งดูซีรีส์แบบมาราธอนทั้งวันทั้งคืน ยิ่งดูเยอะ ก็ยิ่งเกิดกิเลสเยอะ

สุดท้ายวงการแฟชั่นก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไปเต็มๆ

ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีแฟชั่นไอเท็มหลายชิ้นที่ได้รับความสนใจจนกลายเป็นไวรอล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือชุดจากซีรีส์ Squid Game ทั้งจัมพ์สูทสีแดง แทร็กสูทสไตล์เรโทร จับคู่กับรองเท้าผ้าใบสีขาว แถมยังมีเทศกาลฮัลโลวีนที่มาเสริมความฮอตฮิตให้คนอยากแต่งตัวเป็นตัวละครจากเรื่องนี้ไปงานปาร์ตี้อีกด้วย

คอร์เซ็ตจากเรื่อง Bridgerton เสื้อโค้ตลายตารางจาก The Queen’s Gambit รองเท้า Nike Air Jordans จากเรื่อง Lupin ก็เป็นแฟชั่นไอเท็มที่คนนิยมเสิร์ชหาเยอะไม่แพ้กัน รองเท้า Air Jordans ที่ Omar Sy สวมใน Lupin มียอดการคลิกบนเว็บไซต์ Nike ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 460% บางคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดียถึงกับบอกว่าสิ่งเดียวที่จำได้จากเอพิโสด 5 ของเรื่องนี้ก็คือรองเท้า Air Jordan สีเหลืองคู่นี้นี่แหละ

ปรากฏการณ์นี้จึงทำให้แบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ต้องรีบไหวตัวจับกระแสให้ทันด้วยการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์เพื่อให้แฟชั่นไอเท็มของตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่อง

 

แน่นอนว่าทั้ง Netflix และค่ายหนังต่างก็มองเห็นว่าศักยภาพของซีรีส์ดีๆ นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชั่น จะปล่อยให้ผู้ชมแยกย้ายไปเสิร์ชหาเสื้อผ้าที่อยู่ในเรื่องและไปซื้อกับคนอื่นทำไม ในเมื่อสามารถดันให้ผู้ชมมาซื้อผ่านตัวเองได้

ก็เลยมีเว็บไซต์ netflix.shop ถือกำเนิดขึ้นมาให้ผู้ชมคลิกเข้าไปดูว่าไอเท็มจากเรื่องโปรดชิ้นไหนบ้างที่สามารถซื้อหามาสวมใส่ได้

ฉันกดเข้าไปดูในเว็บไซต์ netflix.shop แล้วก็รู้สึกถูกกระตุ้นกิเลสเข้าอย่างจัง

เมื่อคลิกเข้าไปที่เรื่อง Emily in Paris ก็ได้เห็นคอลเล็กชั่นแว่นกันแดดที่จับมือกับ Zeus + Dione พร้อมคำอธิบายสินค้าอย่างละเอียดและปุ่มให้กดจับใส่ตะกร้า

หรือเพียงแค่กดเข้าไปในแถบเรื่อง Squid Game ตุ๊กตาไวนิล Young-hee หรือน้องเออีไอโอยูที่ความสูง 9.8 นิ้ว ก็พร้อมให้ฉันเป็นเจ้าของด้วยราคาที่คิดเป็นเงินสกุลบาทให้แล้ว

แม้ในตอนนี้สินค้าจะยังไม่หลากหลายนัก แต่ถ้าสามารถจับมือร่วมกับแบรนด์แฟชั่นและทำให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งเสื้อผ้าตามดาราในซีรีส์จบได้เพียงแค่ที่นี่ที่เดียวฉันก็เชื่อว่าจะทำให้คนช้อปปิ้งกระจายแน่นอน

ไม่ใช่ที่ผ่านมาจะไม่เคยมีซีรีส์ที่ยั่วกิเลสให้คนอยากได้เสื้อผ้าแบบเดียวกับตัวละครในเรื่องมาก่อน เพราะซีรีส์อย่าง Gossip Girl และ Sex and the City ก็เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวให้ผู้ชมทั่วโลกมาแล้ว (พูดปุ๊บก็มีเดรสกระโปรงฟูฟ่องของ Carrie Bradshaw โผล่ขึ้นมาในหัวทันที)

แต่ในตอนนี้การช้อปปิ้งออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้นมาก และยังมีแพลตฟอร์มที่อาสารวบรวมแฟชั่นที่เราเห็นในซีรีส์ให้กดซื้อได้ในชีวิตจริงอย่างรวดเร็วก็ยิ่งทำให้สิ่งที่เห็นบนจอย้ายมาอยู่บนเรือนร่างของผู้ชมได้ง่ายขึ้น

แม้กระทั่งไอเท็มอย่างคอร์เซ็ตหรือถุงมือลูกไม้ที่คนลืมกันไปแล้วก็ยังกลับมาฮิตได้จากการปรากฏอยู่ในซีรีส์นี่แหละ

 

ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่านี่เป็นโมเดลธุรกิจที่สำคัญมากสำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ไม่จำเป็นต้องก้มหน้าก้มตาเฟ้นหาคอนเทนต์มาเพิ่มในแคตาล็อกหนังและซีรีส์แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่ต้องใส่ใจไปถึงแคตาล็อกสินค้าทุกชิ้นที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ว่าทำอย่างไรผู้ชมจึงจะสามารถกดซื้อสินค้าที่ฉายอยู่บนจอ ณ ขณะนั้นให้ได้เร็วที่สุดแบบที่ผู้ชมไม่ต้องเสียเวลาไปเสิร์ชหาเองด้วยซ้ำ

ยิ่งมีวิธีที่จะทำให้ผู้ชมมองเห็นภาพว่าถ้าหากตัวเองได้สวมเดรสชุดนั้นจริงๆ หรือสะพายกระเป๋าทรงขนมจีบสีแดงใบนั้นอยู่จริงๆ จะเป็นอย่างไร ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราพรากจากเงินในกระเป๋าได้เร็วขึ้น และฉันก็เชื่อว่าเทคโนโลยีก้าวมาสู่จุดที่พร้อมให้ทำสิ่งที่แบรนด์อยากทำมานานแล้ว

เหลือแต่เพียงแค่ใครจะคิดค้นไอเดียดีๆ ที่ทำได้ง่ายและทำได้เร็วออกมาใช้ก่อนกันได้เท่านั้น