ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนแอนตี้โควิดในโลก (1)

 

ในโลกที่เหลื่อมล้ำกันเป็นสภาวะเดิมอยู่แล้วทั้งด้านอำนาจ อาวุธยุทโธปกรณ์ ทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา สุขภาวะ ฯลฯ โรคระบาดทั่วโควิด-19 ช่วงสองปีที่ผ่านมา ยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมให้ผู้คนและนานาชาติในโลกเหลื่อมล้ำกันในมิติด้านการเข้าถึงวัคซีนแอนตี้โควิดเพิ่มเข้าไปอีก

ดังปรากฏข้อมูลถึงกลางเดือนธันวาคมศกก่อนนี้ว่า :

– ประชากรทั่วโลกได้วัคซีนแอนตี้โควิดขั้นต่ำ 1 โดส 56.5% ทว่าในบรรดาประเทศรายได้ต่ำทั้งหลาย อัตราดังกล่าวอยู่แค่ที่ 7.5%

– หากจำแนกเป็นทวีป พบว่าประชากรในทวีปแอฟริกาได้รับวัคซีนแอนตี้โควิดขั้นต่ำ 1 โดสน้อยกว่าในทวีปอื่นๆ ถึง 5 เท่า กล่าวคือ ประชากรในทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้ได้วัคซีนขั้นต่ำ 1 โดส = 70%, เอเชีย = 65%, ยุโรป = 64%, โอเชียเนีย = 60%, แอฟริกา = 13% (ดูแผนภูมิประกอบ)

– ทว่าหากนับกันที่ประชากรผู้ได้รับวัคซีนแอนตี้โควิด 2 โดส พบว่าทวีปยุโรป = 60% (สหภาพยุโรป = 68.2%), อเมริกาใต้ = 61%, อเมริกาเหนือ = 56%, เอเชีย = 52.9%, แอฟริกา = 8.1%

– มี 2 ประเทศในโลกที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดเลย ได้แก่ เอริเทรียกับเกาหลีเหนือ ส่วนเหล่าประเทศที่ฉีดวัคซีนน้อยที่สุดในโลก ได้แก่ บุรุนดี (0.03% ของประชากรได้ฉีดวัคซีน), สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (0.2%), เฮติ (0.6%), เอธิโอเปีย (1.2%), บูร์กินาฟาโซ (1.5%), มาลี (1.7%), แทนซาเนีย (1.8%), ไนจีเรีย (1.9%), คองโก (2.4%) ฯลฯ

น.ส.พ. Le Monde, 18 ธันวาคม 2021, น.1, 8-10

– วัคซีนแอนตี้โควิดทั่วโลกถึง 68% ของทั้งหมดแจกจ่ายแพร่หลายกันอยู่ใน 10 ประเทศเท่านั้น ขณะที่วัคซีนอีก 30% กระจายกันอยู่ในเหล่าประเทศรายได้ต่ำกับรายได้ปานกลางทั้งหลาย ทำให้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำกับรายได้ปานกลางฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรของตนโดยรวมได้เพียง 51%

– วัคซีนแอนตี้โควิดจำนวน 2 พันล้านโดสที่โครงการ COVAX สัญญาว่าจะเกลี่ยกระจายออกไปให้ทั่วถึงทั้งโลกนั้นทำไปได้จริงเพียงแค่ 1 ใน 3

– ในบัญชีรายชื่อกลุ่มประเทศอภิสิทธิ์ที่สามารถฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดคุ้มครองป้องกันประชากรของตนได้ 40% นั้น พบว่าไม่มีประเทศรายได้ต่ำอยู่ในกลุ่มดังกล่าวนั้นเลย, มีประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำอยู่แค่ 12 ประเทศ, มีประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ 27 ประเทศ, ทว่ามีประเทศรายได้สูงอยู่ถึง 71 ประเทศ

– นับแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ศกก่อนเป็นต้นมา เส้นกราฟการฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดของประเทศร่ำรวยทั้งหลายก็เริ่มไต่สูงขึ้นตามลำดับ ไม่กี่เดือนให้หลัง เหล่าประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงก็ไต่ตามขึ้น มาบ้างจนไล่ทันกันในราวกลางเดือนกันยายนศกก่อน สำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำเริ่มฉีดวัคซีนกันล่าช้าด้วยจังหวะก้าวการฉีดที่เชื่องช้ากว่าสองเท่าตัว ส่วนบรรดาประเทศรายได้ต่ำนั้น การฉีดวัคซีนเปิดฉากขึ้นอย่างยากเย็นแสนเข็ญตั้งแต่ฤดูร้อนโดยอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น

– แม้บรรดาผู้ได้รับรางวัลโนเบลและอดีตประธานาธิบดีนานาประเทศจะร้องขอวิงวอน ทว่าประเด็นการขอยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนแอนตี้โควิดเพื่อเปิดช่องให้ประเทศรายได้ต่ำทั้งหลายโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาผลิตวัคซีนได้เองกลับชะงักงันอยู่ในองค์การอนามัยโลก

 

สภาพเช่นนี้ทำให้เธียรี เลอฟรองซัวส์ สัตวแพทย์สังกัดศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยพืชกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนาและสมาชิกสภาวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสกล่าวอย่างสลดใจว่า :

“ด้วยการแพร่กระจายวัคซีนออกไปเบาบางเพียงแค่นี้ กะอีแค่ให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มที่อ่อนเปราะที่สุด เรายังทำไม่ได้เลย ก่อนจะตั้งความหวังให้บรรลุเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้สูงลิบน่ะ อย่างน้อยเราก็ต้องแพร่กระจายวัคซีนให้ครอบคลุมคนชราและพวกที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขด้วย”

อันที่จริงเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมศกก่อน องค์การอนามัยโลกก็ได้ตำหนิวิจารณ์ความไม่เป็นธรรมในการกระจายวัคซีนแอนตี้โควิดดังกล่าวข้างต้นออกมาอีก โดยเร่งเร้าเหล่าประเทศร่ำรวยที่สุด 20 ประเทศในสังกัดกลุ่ม G 20 ให้ระดมบริจาควัคซีนแก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาเข้มข้นขึ้น

ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกก็ย้ำเตือนถึงเป้าหมายของเขาที่จะ “ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้แก่ประชากร 40% ของทุกๆ ประเทศในช่วงกำหนดเวลานับแต่นี้จนถึงสิ้นปี (ค.ศ.2021)”

ในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งตรวจพบไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนเป็นที่แรกในโลก เอาเข้าจริงก็มีประชากรเพียง 26% เท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างครบถ้วน

คำถามก็คือมีเหตุผลเชื่อมโยงกันหรือไม่ระหว่างเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ใหม่กับการฉีดวัคซีนให้ประชากรได้น้อย?

 

ต่อเรื่องนี้ ซาลิม อับดุล การิม นักระบาดวิทยาชาวแอฟริกาใต้เตือนให้ระวังการด่วนสรุปไว้ในคำให้สัมภาษณ์ว่า (https://www.lemonde.fr/afrique/article/2021/12/10/covid-19-il-n-y-a-pas-de-signal-d-alarme-a-ce-stade-sur-la-severite-des-infections-avec-omicron_6105473_3212.html) :

“มันไม่มีสายใยเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนกับการปรากฏขึ้นของเชื้อโรคกลายพันธุ์นะครับ เพราะเอาเข้าจริงเชื้อโรคกลายพันธุ์ทั้งหลายมันปรากฏขึ้นทุกหนทุกแห่งในโลกนั่นแหละ”

บรูโน ลีนา ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาเห็นด้วยกับซาลิม อับดุล การิม แต่กล่าวเสริมต่างเฉดไปเล็กน้อยว่า (https://www.lemonde.fr/planete/article/2021/12/17/covid-19-l-arrivee-du-variant-omicron-relance-le-debat-sur-la-fracture-vaccinale-nord-sud_6106385_3244.html) :

“ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนไม่ใช่เครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเชื้อโรคกลายพันธุ์ให้ปรากฏขึ้นก็จริง แต่มันก็มีส่วนแสดงบทบาทอยู่ด้วย เชื้อโรคกลายพันธุ์ปรากฏได้ง่ายขึ้นเมื่อคนเป็นล้านๆ หรือเอาเข้าจริงคือหลายสิบล้านคนติดเชื้อกันอย่างรวดเร็วยิ่ง เหมือนอย่างที่ได้เกิดขึ้นในอินเดีย บราซิลหรือแอฟริกาใต้ ในทางกลับกัน การฉีดวัคซีนช่วยชักนำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่หยุดยั้งไม่ให้เชื้อกลายพันธุ์ปรากฏขึ้นมา”

กระนั้นแล้ว ช่องว่างหรือรอยแบ่งแยกทางวัคซีนข้างต้นนั้นมาจากไหนเล่า? บรูโน ลีนา ชี้ว่า :

“โดยแก่นแท้แล้ว โรคระบาดทั่วเป็นปัญหาระดับโลก การบริหารจัดการมันต้องคำนึงถึงภูมิภาคต่างๆ ในโลกที่เตรียมพร้อมน้อยที่สุดด้วย สมรรถนะในการเผชิญโรคระบาดทั่วของนานาประเทศไม่เท่าเทียมกัน มันขึ้นอยู่กับสถานะทางสุขอนามัยและการเงินของประเทศนั้นๆ อาทิ ประเทศเซียร์ราลีโอนซึ่งมีประชากรราว 8 ล้านคน มีงบประมาณใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพียง 0.5% ของงบฯ ทั้งหมดเท่านั้น นั่นน่ะยังไม่เท่างบประมาณในการสนับสนุนบรรดาโรงพยาบาลของรัฐในกรุงปารีสด้วยซ้ำไป

“การรณรงค์ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดนั้นเป็นสมการที่ประกอบไปด้วยปัจจัยที่เราหยั่งไม่รู้อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ การเข้าถึงโดสวัคซีน อุปสรรคยุ่งยากด้านโลจิสติกส์ สภาพของระบบสาธารณสุข และสมรรถนะในการโน้มน้าวประชากรให้เชื่อถือประโยชน์ของการได้รับวัคซีนที่ว่านี้ โดยเฉพาะการเก็บรักษาและบริหารจัดการโดสวัคซีนแอนตี้โควิดนั้นเรียกร้องต้องการทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางการเงินที่ประเทศซีกโลกฝ่ายใต้ (หมายถึงประเทศรายได้ต่ำ) จำนวนมากไม่มี”

แต่แน่นอนว่าถึงอย่างไรก็ต้องจัดการฉีดโดสวัคซีนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในย่านละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศแคริบเบียน องค์การอนามัยทั่วอเมริกาซึ่งเป็นสำนักงานประจำภูมิภาคอเมริกาแห่งองค์การอนามัยโลกแถลงว่า ในสภาพที่ภูมิภาคอันกว้างใหญ่นี้เป็นศูนย์กลางโควิด-19 ระบาดแห่งหนึ่งของโลก จนถึงทุกวันนี้ มีคนเพียง 56% ของยอดประชากรทั้งหมดของภูมิภาคนี้เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน และในบางประเทศ ตัวเลขร้อยละดังกล่าวยิ่งลดน้อยถอยลงไปอีกอักโข

การฉีดวัคซีนครอบคลุมไม่เพียงพอที่ว่านี้ก่อนอื่นเกิดจากการเข้าไม่ถึงวัคซีน ดังที่องค์การอนามัยทั่วอเมริกาชี้แจงว่า : “เมื่อบรรดาประเทศร่ำรวยทำข้อตกลงทวิภาคีกับเหล่าบริษัทจัดหาวัคซีนได้ การเข้าถึงวัคซีนในละตินอเมริกาและย่านแคริบเบียนก็ย่อมพลอยถูกกระทบไปด้วย”

(ต่อสัปดาห์หน้า)