ถอดรหัส ‘ยุทธการ F35’ ของ ‘บิ๊กป้อง 9 G’ ย้อนตำนาน Snowy กับแผนจัดทัพฟ้า และอนาคต Top 5 เสืออากาศ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ถอดรหัส ‘ยุทธการ F35’

ของ ‘บิ๊กป้อง 9 G’

ย้อนตำนาน Snowy

กับแผนจัดทัพฟ้า

และอนาคต Top 5 เสืออากาศ

หลังจากทุ่งดอนเมืองเกิดปรากฏการณ์ Snowy โปรยปราย บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ นักบิน F16 Call sign “Snowy” ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. ก็ทำให้อุณหภูมิในกองทัพอากาศลดลง

จากเดิมที่ช่วง 1 ปี ตลอดการเป็น ผบ.ทอ.ของบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ทัพฟ้าร้อนระอุจากศึกเสืออากาศ กับบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. จากความเห็นที่ไม่ตรงกัน ในแนวทางพัฒนา ทอ. เกิดการรื้อแก้ไข 3 โครงการใหญ่ที่ พล.อ.อ.มานัตวางเอาไว้

จนทำให้กลายเป็นเรื่องร้อนทั้งใน ทอ.เอง และลามไปสู่การเมือง ที่ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายในสภา และตรวจสอบในขั้นกรรมาธิการ นำทีมโดยผู้การป๊อป น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตนักบินเอฟ 16 ลูกทัพฟ้า ตท.23 นามเรียกขาน Devil

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.อ.นภาเดชจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

“ขอให้รอดู ผมมีแนวทางในการแก้ปัญหา และจะคุยกับคนที่ไม่เข้าใจ” พล.อ.อ.นภาเดชเผยสั้นๆ

ด้วยบุคลิกลักษณะการเป็นนายทหารที่สุขุม มาดนิ่ง จึงทำให้ พล.อ.อ.นภาเดชจะค่อยๆ ถอดสลักระเบิดอย่างบรรจง

ด้วยนามเรียกขาน Snowy ประกอบบุคลิก และพูดช้าๆ นุ่มๆ จึงทำให้ พล.อ.อ.นภาเดชเสมือนทำให้หิมะตก ณ ทุ่งดอนเมือง

แต่ที่มาของนามเรียกขาน ตามธรรมเนียมนักบินขับไล่ ที่ว่า Snowy นี้นั้น ไม่ใช่เพราะเป็นคนใจเย็น สุขุม นุ่มนิ่ง แต่ชื่อ Snowy เป็นเครื่องดื่มที่ขายในตู้ ในปั๊มน้ำมันสมัยเด็กๆ เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ที่ พล.อ.อ.นภาเดชชอบมาก เจอที่ไหน เมื่อใด ต้องแวะซื้อ

มีครั้งหนึ่งสมัยเด็กๆ นั่งรถไปต่างจังหวัด แต่ได้บอกคุณแม่ไว้ว่า ให้แวะซื้อ Snowy ด้วย แต่ก็หลับไป ตื่นมาอีกทีเลยปั๊มแล้ว แต่คุณแม่บอกไม่ได้ซื้อ เพราะเห็นกำลังหลับ ไม่อยากปลุก ทำให้เด็กชายป้องร้องไห้ ร้องจะกิน Snowy ให้ได้ จนขู่ว่าจะกระโดดลงจากรถ ถ้าไม่ได้กิน

“ชีวิตผมตอนเด็กผมดื้อ เป็นลูกรักที่โดนตีเยอะที่สุด น่าจะเป็นหมื่นครั้ง แต่ไม่ใช่ตีแบบเอาเป็นเอาตาย จนทำให้เป็นที่รู้กันว่า ผมชอบ Snowy จนกลายมาเป็น call sign” พล.อ.อ.นภาเดช ผู้เป็นลูกชาย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. และคุณหญิงวนิดา เล่าอย่างอารมณ์ดี

ความเป็นนายทหารอารมณ์ดี มาดนิ่ง ทำให้เมื่อพบเจอบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็มักจะพูดคุยทักทายอย่างเป็นกันเอง เพราะก่อนที่ พล.อ.อ.นภาเดชจะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.นั้น ได้เคยเจอ พล.อ.ประยุทธ์ในงานต่างๆ มาบ้างแล้ว

ครั้งหนึ่งในสภากลาโหม หลังประชุมจบ พล.อ.ประยุทธ์พูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยถามถึงการที่ พล.อ.อ.นภาเดชนำบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ไปขับเครื่องบิน Gripen ว่า เป็นอย่างไรบ้าง ความรู้สึก และถามว่า ดึงไปกี่ G หมายถึง น้ำหนักตัว เมื่อต้านกับแรงดึงดูดของโลก เท่ากับจำนวน G ที่ดึง นักบินจึงต้องแข็งแรง รับสภาพได้

แต่การพูดคุยที่สร้างบรรยากาศ และเสียงหัวเราะ กระชับระยะห่างของ พล.อ.ประยุทธ์กับน้องๆ ผบ.เหล่าทัพนั้น สำหรับ พล.อ.เฉลิมพล นั้น นักบินดึงไป 7 G ส่วน พล.อ.อ.นภาเดช ดึง 9 G

พร้อมอธิบายแรง G ที่จะมีผลต่อนักบิน จึงหยอกว่า นักบินจึงต้อง “คอแข็ง” และแข็งแรง จน พล.อ.ประยุทธ์ตั้งฉายาให้ พล.อ.อ.นภาเดช ว่า “ป้อง คอแข็ง 9 G” จนเรียกเสียงฮา ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีรอยยิ้ม

ไม่แค่นั้น สิ่งที่ทำให้ พล.อ.อ.นภาเดชถูกจับตามองในอีกเรื่องคือ การประกาศว่า ทอ.สนใจที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่ F35 ของสหรัฐอเมริกา โดยไม่กลัวว่าจะถูกทัวร์ลง เพราะทุกครั้งที่มีข่าวว่าทหารจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก็จะโดนโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเครื่องบินรบ

แต่นอกจากพูดในที่ประชุม และการสัมมนาต่างๆ แล้ว พล.อ.อ.นภาเดชยังให้สัมภาษณ์สื่อแบบไม่กลัวการถูกโจมตี จนมีเสียงจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ใน ทอ.ว่า พล.อ.อ.นภาเดชมีความกล้าหาญ และเสียสละที่จะนำทัพ ออกมาชี้แจงกับประชาชนถึงความจำเป็นและข้อดีต่างๆ

พล.อ.อ.นภาเดชพูดเรื่องเครื่องบิน F35 ครั้งแรกเมื่อพบปะสื่อมวลชน หลังมอบนโนบายเมื่อ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ในเรื่องแผนการพัฒนากองทัพ การเดินตามแผนใน White paper สมุดปกขาว 2020 ที่ทำให้ในยุค พล.อ.อ.มานัต

โดยเผยว่า พล.อ.อ.ประพันธ์ อดีต ผบ.ทอ. ผู้บิดา ผู้เคยมีส่วนสำคัญในการทำให้ ทอ.ได้มีเครื่องบิน F16 มาแล้วนั้น เคยพูดถึง F35 ราว 4-5 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิต ว่าเป็นเครื่องบินที่ทันสมัย สมรรถนะดี สมัยใหม่ ให้พิจารณาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมีความจำเป็น งบประมาณเอื้ออำนวย

พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันทน์

ก่อนที่ต่อมา พล.อ.อ.นภาเดชจะพูดเรื่อง F35 อีกครั้ง ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Cutting Edge Air Operation for The Quality Air Force” เพื่อนำไปกำหนดแนวทางการใช้กำลังทางอากาศและยุทธศาสตร์กองทัพอากาศในระยะต่อไป เพื่อทำให้กำลังทางอากาศแพ้ไม่ได้ โดยต้องมี

1. การมียุทโธปกรณ์ที่ใช้งานดีและมีคุณภาพสูง ซึ่งจะนำไปสู่การแพ้ไม่ได้

2. การมีการส่งกำลังบำรุงที่ดีควบคู่ไปกับยุทโธปกรณ์ที่ดี เพื่อให้การบำรุงรักษาทำได้สะดวก ใช้เวลา กำลังคนและทรัพยากรน้อย

3. กองทัพอากาศต้องมีความน่าสะพรึงกลัว ต้องมียุทโธปกรณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ไม่ใช่มีแต่ยุทโธปกรณ์ที่เก่า ล้าสมัย

4. มีความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศนอกประเทศได้ เพื่อร่วมกับมิตรประเทศในการปกป้องผลประโยชน์หรือรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ไม่เป็นกองทัพอากาศที่โดดเดี่ยว

“เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันราคาของ F35 ลดลงจากเดิมมาก ราคาใกล้เคียงหรืออาจต่ำกว่า Gripen ที่กองทัพอากาศเคยจัดหามา จึงมีโอกาสที่กองทัพอากาศจะจัดหามาประจำการได้” ผบ.ทอ.ระบุ

ที่เป็นการพูดชัดเจนขึ้นว่า ทอ.ต้องการที่จะซื้อ F35 เพื่อมาทดแทนเครื่องบิน F5 ที่ใช้มา 30-40 ปีแล้ว แม้จะมีการอัพเกรด ปรับปรุงสมรรถนะ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็อาจมีปัญหาเรื่องอะไหล่ และไม่คุ้มค่าที่จะใช้ต่อไป

ก่อนที่ต่อมาจะให้สัมภาษณ์สื่อ โดยประกาศว่า ทอ.สนใจซื้อเครื่องบิน F35 จากสหรัฐ โดยมีแผนที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และจะหารือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมก่อน เพื่อขออนุมัติหลักการในการจัดซื้อ ในงบประมาณปี 2566 นี้ ซี่งเป็นไปตาม white paper ที่ ทอ.ได้ทำไว้เมื่อปี 2020 ว่า มีแผนจัดซื้ออะไรบ้างในปีไหน

“F35 ในวันนี้ ไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไปแล้ว เพราะราคาเครื่องบินเปล่าลดลงมาอย่างมาก จากลำละ 142 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงมาที่ 82 ล้านเหรียญ หรืออาจลงมาได้ถึง 75-76 ล้าน ก็โอเค” พล.อ.อ.นภาเดชกล่าว

พร้อมระบุว่า เราไม่ได้ซื้ออาวุธ แต่เราซื้อเครื่องมือในการปกป้องประชาชน และเราดูแลเหมือนลูก ไม่ทิ้งขว้าง ถนอมกล่อมเกลี้ยง โดยเบื้องต้นวางแผนไว้ว่า การจัดซื้อ F35 ตั้งเป้าไว้ที่ 8 เครื่องเท่านั้น ทยอยจัดซิ้อ เฟสละ 4 เครื่อง และสนใจ Loyal wingman drone โดรนติดตาม คุ้มกันเครื่องบินขับไล่ และทำหน้าที่สอดแนม รบกวนสัญญาณด้วย ที่จะทำให้ไม่ต้องมีเครื่องบินรบเต็มฝูง 16 เครื่อง

“ทอ.เราจึงอยากให้ประชาชนเข้าใจในเชิงนามธรรม ว่า การซื้อเครื่องบิน F35 มาประจำการ เปรียบได้ว่า แค่ ‘มีอยู่’ ก็ถือว่า ‘ได้ใช้งานแล้ว’ เพราะความ ‘น่าสะพรึงกลัว’ นี่แหละ จะเป็นตัวบ่งบอกว่า อย่ามายุ่งกับเรา” ผบ.ทอ.กล่าว

โดย ทอ.มีแผนที่จะประจำการเครื่องบิน F35 ทั้ง 8 เครื่อง ไว้ที่กองบิน 1 นครราชสีมา แล้วย้ายเครื่องบิน F16 ไปทดแทนฝูงบิน F5

“ผมอาจจะโดนโจมตี ถูกวิจารณ์ แต่ผมยังเชื่อว่ามีประชาชนที่เข้าใจกองทัพ เข้าใจ ทอ. และสนับสนุนเรา โดยเราจะทำให้ถูกต้อง โปร่งใส และเราจะดูแลอย่างดี” พล.อ.อ.นภาเดชระบุ

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่ พล.อ.อ.นภาเดชถูกจับตามองคือ จะตัดสินใจเลือกใครเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ในอีก 8-9 เดือนข้างหน้า

โดยถูกจับจ้องว่า จะยึดตามที่ พล.อ.อ.แอร์บูล เพื่อนร่วมรุ่น ตท.21 นนอ.28 วางตัวเอาไว้หรือไม่ และเป็นคนเสนอชื่อ พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.ทอ.ด้วย

เพราะสายสัมพันธ์ พล.อ.อ.นภาเดช กับ พล.อ.อ.แอร์บูล ยังเหนียวแน่น และยังเล่นกอล์ฟด้วยกัน เพราะ พล.อ.อ.นภาเดชก็จัดกอล์ฟประเพณี BROTHERS cup ใช้กีฬากระชับสามัคคี พี่น้อง นนอ.28-นนอ.35

และที่ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อ.นภาเดชระบุว่า พล.อ.อ.แอร์บูลซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และกล้าหาญในการกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงของกองทัพอากาศ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้นายทหารอากาศรุ่นน้องๆ ได้ดำเนินรอยตามต่อไปไม่สิ้นสุด

หากดูจากที่ พล.อ.อ.แอร์บูลจัดโผไว้ คือ บิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันทน์ (ตท.22) เป็นรอง ผบ.ทอ. ครองอาวุโส ชิงความได้เปรียบไว้แล้ว

ขณะที่บิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา (ตท.23) ผช.ผบ.ทอ. ที่เกษียณ 2567 พร้อมกัน ดูจะถูกประทับตราไปแล้วว่า เป็นน้องรักที่ พล.อ.อ.มานัตดันขึ้นมาเพื่อวางตัวให้เป็น ผบ.ทอ.

เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.อ.มานัต กับ พล.อ.อ.แอร์บูล จึงทำให้อนาคตของ พล.อ.อ.ชานนท์ไม่สดใส

แม้จะมีความสามารถ ได้ชื่อว่าเป็นคนเก่ง แต่ พล.อ.อ.ชานนท์ก็อาจถูกมองข้ามไป และในโยกย้ายปลายปี 2565 ก็อาจจะถูกเตะออกจาก ทอ.

แต่ก็ใช่ว่า พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.จะนอนมาแบบใสๆ เพราะถูกมองว่า การที่ไม่ได้เป็นนักบินขับไล่ในตระกูลเอฟ แต่เป็นนักบิน OV10 จะทำให้เสียเปรียบแคนดิเดตคนอื่นหรือไม่

เพราะแคนดิเดต ผบ.ทอ. จริงๆ แล้วมีถึง 5 คน รวมทั้งบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผช.ผบ.ทอ.

พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ

แต่คนที่ถูกจับตามองอย่างมากคือ บิ๊กต้น “Rocket” พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา ผบ.กรมควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) เพื่อนร่วมรุ่น ตท.22 ของ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ แต่ทว่า มีอายุราชการแค่ 2566 เท่านั้น

ที่ถูกจับจ้องเพราะ พล.อ.อ.คงศักดิ์สนิทสนม เป็นเพื่อนรุ่นน้องที่รักของ พล.อ.อ.นภาเดชเลยทีเดียว เพราะเป็นนักบิน F16 ด้วยกัน โตมาจากกองบิน 1 ด้วยกัน

พล.อ.อ.คงศักดิ์เคยเป็นทั้งผู้บังคับฝูงบิน 101 กองบิน 1 โคราช และเป็น ผบ.กองบิน 1 ด้วย ก่อนไปเป็น ผช.ทูต ทอ.ที่สิงคโปร์ เคยเป็นเจ้ากรมข่าว ทอ. และรองเสธ.ทอ. ก่อนขึ้น ผบ.คปอ. ตำแหน่งที่ พล.อ.อ.นภาเดชเคยนั่งมาก่อน

กระแสของ Rocket พล.อ.อ.คงศักดิ์ใน ทอ.แรงขึ้น เมื่อ พล.อ.อ.นภาเดชสั่งการให้สานต่อ การปรับโครงสร้าง คปอ. และเปลี่ยนจากกรม คปอ. เป็นหน่วยบัญชาการ เพราะเมื่อครั้งที่ พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.คปอ.มา ก็ได้พัฒนาหน่วย และทำแผนการพัฒนาในด้านต่างๆ ไว้แล้ว

โดยจะปรับให้มีพลอากาศโท 3 คน คือ รอง ผบ.คปอ. 2 คน และเสธ.คปอ. และมีแยกเป็น 3 ส่วน ยศพลอากาศตรี คล้ายการจัดกองเรือยุทธการของ ทร. เพราะถือเป็นกำลังรบที่คุมกองบิน

ประเด็นนี้ทำให้ ผบ.คปอ. กลายเป็น 1 ใน 6 ฉลามอากาศ สามารถขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ได้เลย โดยไม่ต้องมาเป็นเสธ.ทอ. หรือ ผช.ผบ.ทอ. หรือรอง ผบ.ทอ.ก่อน

ไม่แค่นั้น พล.อ.อ.คงศักดิ์เป็นน้องรักอีกคนของ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีต ผบ.ทอ. นอกเหนือจาก พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เพราะเป็นนักบินเอฟ 16 และอยู่ฝูงบิน 103 ด้วยกัน

แม้ในอดีต พล.อ.อ.นภาเดช กับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ จะเคยมีตำนานของความไม่เข้าใจกันบ้าง แต่ทุกอย่างก็ได้เคลียร์ คุยกันเข้าใจแล้ว โดย พล.อ.อ.นภาเดชเพิ่งไปพบ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ แม้จะเป็นไปตามประเพณีที่ ผบ.ทอ.ใหม่จะไปเยี่ยมคารวะอดีต ผบ.ทอ. แต่เป็นที่จับตามอง และทำให้เกิดการจับตามองไปที่ พล.อ.อ.คงศักดิ์ นอกเหนือจาก พล.อ.อ.ธนศักดิ์

เพราะตอนที่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์เป็น ผบ.ทอ. ก็ตั้ง พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.คปอ. ที่ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นแค่อดีต

ดังนั้น จึงทำให้ชื่อของ พล.อ.อ.คงศักดิ์กลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.อีกคนที่รู้มือและรู้ใจ พล.อ.อ.นภาเดชอย่างมาก แถมแนวเดียวกัน สไตล์เดียวกัน เรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ด้วย

ขณะที่ พล.อ.อ.ชานนท์ที่ถูกประทับตราว่าเป็น “เด็กมานัต” ไปแล้วนั้น โอกาสขึ้น ผบ.ทอ.น้อยลง แม้จะมีความสามารถ

แต่คนที่มาแรงหลัง พล.อ.อ.นภาเดชผลักดันโครงการ F35 ก็คือ บิ๊กไก่ Armstrong พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ.ทอ. ที่เป็นนักบิน F16 มีนามเรียกขานนี้ เพราะเวลาบินชอบดึง 9 G ราวกับจะพุ่งออกไปอวกาศ

พล.อ.อ.พันธ์ภักดีเคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน 403 กองบิน 4 ผู้บังคับการกองบิน 7 ผู้ช่วยทูต ทอ.ไทยที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ รองเสธ.ทอ. และขึ้นเสธ.ทอ.

แม้จะเป็น ตท.24 รุ่นน้องที่สุดในแคนดิเดท ผบ.ทอ. มีอายุราชการถึง 2568 แต่น่าจับตามอง หากขึ้นเป็น ผบ.ทอ.เลย ก็นั่งยาว 3 ปี ทำงานและทำโครงการ F35 ได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น พล.อ.อ.นภาเดชที่เห็นนิ่มๆ นิ่งๆ แบบนี้ กำลังถูกจับตามองถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในการส่งมอบ ทอ.ให้รุ่นน้องคนใดดูแลต่อ และสานฝันการเป็น ทอ.ที่ทันสมัย น่าเกรงขาม

โดยที่อนาคตหลังเกษียณกันยายน 2565 ของ พล.อ.อ.นภาเดช ก็เริ่มถูกจับตามองด้วยเช่นกัน