เทศมองไทย : เส้นทาง “รถไฟใต้ดิน” ที่ไม่ใช่ทางรถไฟ

ความหมายของ “อันเดอร์กราวด์ เรลโรด” ในภาษาอังกฤษหมายความถึง “เส้นทางรถไฟใต้ดิน” ก็จริง แต่สำหรับขบวนการให้ความช่วยเหลือเพื่อลักลอบนำชาวเกาหลีเหนือหลบหนีออกจากประเทศของตน มันไม่ได้หมายถึงเส้นทางรถไฟจริงๆ แต่เป็นชื่อรหัสที่ “รู้กัน” ในหมู่สมาชิกของขบวนการว่า หมายถึงเส้นทางสำหรับนำคนเหล่านั้นเดินทางรอนแรมจากชายแดนเกาหลีเหนือที่ติดต่อกับจีน หลบๆ ซ่อนๆ ข้ามประเทศ 1 ถึง 2 ประเทศ เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือประเทศเกาหลีใต้

เรื่องราวของ “อันเดอร์กราวด์ เรลโรด” กลับมาเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลกอีกครั้ง เหตุเพราะความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีส่วนหนึ่ง

และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเกาหลีเหนือลักลอบหลบหนีออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นผิดปกติในช่วงเวลานี้

โทบี เมย์เยส ผู้สื่อข่าวให้ “เมโทร” หนังสือพิมพ์รายวันในอังกฤษรายงานเรื่องเส้นทางดังกล่าวเอาไว้เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

 

แน่นอน ขึ้นชื่อว่าเป็นการหลบหนีออกนอกประเทศ และการเดินทางผ่านประเทศอื่นๆ ในสถานะของผู้ลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไม่เพียงยากลำบากสาหัส แต่ยังเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

กระนั้นสภาพลำเค็ญในชีวิตประจำวันภายใต้การปกครองอำมหิตเบ็ดเสร็จของผู้นำอย่าง คิม จอง อึน ก็ทำให้แม้ต้อง “เสี่ยงชีวิต” ก็ยังคุ้มค่า

อันเดอร์กราวด์ เรลโรด สำหรับชาวเกาหลีเหนือ เริ่มต้นที่แม่น้ำยาลู ลำน้ำที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างชายแดนจีนกับเกาหลีเหนือ ผู้ที่ลักลอบหลบหนีออกมาไม่ว่าจากส่วนใดของประเทศ จำเป็นต้อง “เดินป่า” ออกมายังริมฝั่งน้ำแห่งนี้

ถึงริมน้ำยาลู มีหนทางให้เลือกอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือว่ายน้ำข้ามจากฝั่งเกาหลีเหนือมายังฝั่งจีน ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ต้องรอให้อากาศหนาวเย็นจัด ชนิดทำให้ผิวหน้าแม่น้ำจับเป็นแผ่นแข็งและหนาเพียงพอต่อการรองรับน้ำหนักผู้คน

ฤดูกาลหลบหนีสำหรับชาวเกาหลีเหนือจึงเข้าใจได้ว่า เหมาะสมที่สุดในตอนหน้าแล้ง ที่น้ำในแม่น้ำลดระดับและลดความเชี่ยวกรากลง หรือไม่ก็เป็นหน้าหนาวที่เต็มไปด้วยหิมะ อากาศเย็นจัดถึงระดับติดลบหลายองศา

มีผู้หลบหนีจำนวนไม่น้อย ทิ้งชีวิตไว้กลางลำน้ำยาลู หรือไม่ก็ตายเพราะความหนาวเย็นในป่าทึบก่อนที่จะได้พบอิสรภาพ

 

ที่พรมแดนจีน ผู้หลบหนีมีทางเลือกสองทางอีกเช่นกัน ทางหนึ่งใช้บริการ “เส้นทางรถไฟใต้ดิน” ของเครือข่ายอาสาสมัครคริสเตียนช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือหลบหนีไปยังเกาหลีใต้ ที่เรียกตัวเองว่า “คริสเตียน สมักเกลอร์” ซึ่งใช้เวลานานและต้องมีช่องทางที่ถูกต้องในการติดต่อ แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่ต้องเสียเลย และ “ค่อนข้าง” ปลอดภัยกว่า

ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องเลือกใช้บริการของนักลักลอบขนคน “มืออาชีพ” ซึ่งนอกจากจะต้องเสียเงินหลายพันดอลลาร์ต่อคนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการลงเอยถูกทิ้งขว้างระหว่างทาง หรือไม่ก็กลายเป็น “เหยื่อ” ถูกส่งขายเป็นแรงงานเถื่อนอยู่ในจีน

ผู้หลบหนีจะถูกนำตัวขึ้นรถบัสโดยสาร หรือไม่ก็รถไฟทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบหรือพบเห็นโดยเจ้าหน้าที่จีน ล่องลงมายังตอนใต้ของประเทศ ลอบข้ามแดนด้วยการเดินเท้าเข้าสู่ลาว หรือไม่ก็ใช้เส้นทางเรือตามลำน้ำโขง แล้วจึงเข้าสู่ประเทศไทย

นั่นหมายถึงคนที่โชคดีเล็ดลอดการตรวจพบของทางการได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะถูกส่งตัวขึ้นศาล โทษทัณฑ์สถานเบาคือถูกส่งเข้าค่ายนักโทษกักกันพร้อมใช้แรงงาน สถานหนักคือ ประหารชีวิต

 

ที่มาภาพ : http://grantmontgomery.blogspot.com

ข้อมูลของทางการไทย แสดงให้เห็นว่า ยิ่งนับวันยิ่งมีผู้ใช้เส้นทาง “อันเดอร์กราวด์ เรลโรด” มากขึ้นทุกที ในช่วง 6 เดือนของปีนี้ มีคนเกาหลีเหนือเดินทางมาถึงไทยแล้วถึง 535 คน

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในด่านทางตอนเหนือของไทยรายหนึ่งบอกว่า เฉลี่ยแล้ว 20-30 คนต่อสัปดาห์

หนึ่งในเครือข่าย “คริสเตียน สมักเกลอร์” บอกว่า ทันทีที่รับผู้หลบหนีแต่ละรายที่ชายแดนจีนมาได้ คนเหล่านั้นจะถูกส่งตัวไปยังบ้านของเครือข่ายที่เป็น “เซฟเฮ้าส์” พักอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 1 เดือน เพราะทุกคนผอมโซ อดอยาก เป้าหมายนอกจากจะแก้ปัญหาสุขภาพแล้ว ยังเพื่อลดความ “เตะตา” ระหว่างการเดินทางอีกด้วย

เด็กๆ เกาหลีเหนือแทบทุกคนที่เซฟเฮ้าส์ บอกว่า ในชีวิต ไม่เคยเห็น “เนื้อหมู” มาก่อน อย่าว่าแต่บรรดาขนมนมเนยอย่างเค้กเลย

 

ภายใต้การจัดการของ “อันเดอร์กราวด์ เรลโรด” นับตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมา ชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางถึงไทยจึงอยู่ในสภาพ “เตรียมตัว” มาเป็นอย่างดี ผิดจากก่อนหน้านั้น คนไทยที่พบเห็นพวกนี้บ่อยๆ ระบุว่า ทันทีที่มาถึงก็ถามหาซื้อบุหรี่กับโทรศัพท์มือถือ แล้วก็เริ่มโทรศัพท์ติดต่อแทบในทันที

ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวเกาหลีเหนือโชคดีที่มีประเทศรองรับ ตามกฎหมายเกาหลีใต้แล้ว ชาวเกาหลีเหนือทุกคนถือว่าเป็นพลเมืองเกาหลีทั้งหมด ดังนั้น ใครที่แปรพักตร์หลบหนีมาจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีใต้ได้เช่นเดียวกับพลเมืองเกาหลีใต้เอง

เกาหลีใต้ถึงกับมี “การจัดการร่วม” กับทางการไทย เพื่อรับ-ส่งคนเหล่านี้กลับประเทศตน คนเหล่านี้จึงมี “จุดหมายปลายทาง” ในการหลบหนีของตัวเองตั้งแต่แรก

ชะตากรรมของคนเกาหลีเหนือจึงยังไม่มืดมนและอยู่ในสภาพดีกว่าผู้อพยพอีกหลายๆ สัญชาติ โดยเฉพาะบรรดา “โรฮิงญา” ทั้งหลาย!