‘ปรารถนา-อารยะ’ กับรถไฟฟ้ามาหา ณ ‘ลาว’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ปรารถนา-อารยะ’

กับรถไฟฟ้ามาหา ณ ‘ลาว’

 

มันทำให้ฉันนึกถึงพวกเจ้าหน้าที่อินโดจีนบารังที่พยายามจะสร้างรถไฟสักขบวนผ่านแคว้นลาวให้สำเร็จ และที่เด็ดกว่านั้นคือ สามารถล่องไปถึงเมืองจีน นี่คือเหตุการณ์เกือบศตวรรษที่ผ่านมาและไม่ได้ฝัน แต่มันเป็นความปรารถนาของมหาอำนาจที่คิดมาแต่ที่ครั้งพัฒนาการขนส่ง “ระบบราง” ในอินโดจีน

ที่เป็นทั้งเครื่องมือทางอำนาจ กระทั่งสยามในตอนนั้นถึงกับเร่งรุดสร้างจากกรุงเทพฯ เพื่อไปประชิดพรมแดนเขมรที่อรัญประเทศ

แม้ว่าจริงๆ แล้ว ฝรั่งเศสคิดการณ์ใหญ่ อยากสร้างรถไฟในลาวและอาศัยแม่โขงเป็นเส้นทางธรรมชาติในการเดินทางขึ้นไปถึงเมืองจีน

นี่คือศตวรรษก่อน แนวคิดของตะวันตกที่มีต่อจินตภาพในการเอาชนะภูมิภาคนี้ในการพิชิตจีน? แต่ฝรั่งเศสก็ทำได้เพียงทำยังไงให้ลาวไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่โครงการรถไฟในเวียดนามก้าวหน้าไปมาก

แม้จะเป็นบททดสอบที่ยาก ลำพังจะทำให้ลาวเป็นแคว้นหนึ่งในการปกครองโดยเฉพาะการติดต่อกับศูนย์กลางเมืองหลวงที่เวียงจันทน์ แต่แม่โขงก็เป็นเหมือนวิบากในแต่ละฤดูกาล เจ้าหน้าที่บารังทราบดีถึงพลังอันรุนแรงของแม่น้ำสายนี้ โดยเฉพาะที่คอนพะเพ็ง

ดังนี้ การเผด็จศึกรถไฟสายแรกที่ลาวจึงสะดุดจากจุดนี้

แม้จะเป็นรถไฟสายสั้นที่สุดของอินโดจีน แต่การสร้างไม้หมอนข้ามโขงในลาวที่คอนพะเพ็งช่างเป็นโปรเจ็กต์ที่ยากลำบาก ทั้งการขนส่งอุปกรณ์และจำนวนแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นนักโทษอันนัม

ฝรั่งเศสดูเหมือนจะไม่อยากพาดพิงถึงเส้นทางสายนี้ แต่ความพยายามครั้งนั้น ก็ทำให้เราเห็นถึงคุณค่ามหัศจรรย์ ในโครงการคมนาคมที่ก้าวหน้าที่สุดของยุคนั้น

โดยเฉพาะแนวคิดสร้างทางรถไฟข้ามสันดอนแม่โขงเป็นช่วงตอน ก่อนล่องเรือไปถึงจีน

สถานีรถไฟกรุงพนมเปญ 2473 เครดิตภาพ : Joel Montague collection

แต่ 100 ปีหลัง จีนคือประเทศนั้นที่รับไม้ต่อจากบารังในการพิสูจน์ “ระบบราง” ข้ามประเทศลาว และด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ ปรากฏการณ์รถไฟฟ้าจากคุนหมิง-บ่อเต้น-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ เป็นระยะทางหนึ่งพันกิโลเมตรเศษที่ท้าทายภูมิศาสตร์ทางกายภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามเส้นทางแม่โขงซึ่งเป็นจุดแข็งและหัวใจของภูมิภาคนี้

“รวดเร็ว-และทำเวลา” ทว่า กลับครึกโครมไปด้วยดราม่า ไม่แต่เฉพาะใน สปป.ลาวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปเกือบทั้งหมดของชาวแม่โขง และความตื่นตะลึงยินดีของชาวโลกที่จะได้บุกเบิกเส้นทางนี้

และนี่คือ 100 ปีก็ว่าได้ ที่ลาวมีอนาคตเป็นของตัวเองเสียทีหลังจากตกเป็นชาติที่ถูกด้อยค่าความเป็นพลเมืองนอกสายตา ตั้งแต่สมัยอินโดจีนจนถึงวันนี้ วันที่มีคำตอบว่า ทำไม ขณะที่ได้การชื่นชมมากมายจากชาวเน็ตอาเซียนในความเพียรสร้างเส้นทางสายนี้ แต่ในอีกทางกลับถูกโจมตีกลับเรื่องหนี้สินที่ทุ่มไปกับการพัฒนาอย่างเกินตัว

แต่ไหนแต่ไร เคยถูกข่มเหงน้ำใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลาวมายาวนาน ตั้งแต่ความเป็นชาติ แรงงาน การกีฬาอย่างฟุตบอลก็ถูกจัดว่าเป็นพวก “บ่มีตง” ลูกไล่ของเพื่อนบ้านตั้งแต่เวียดนามยันเขมรและไทย ในฐานะผู้อยู่ท้ายคำว่า “ชนะ” ราวกับเป็นชาติที่ไม่มีตัวตน มันน่า “ขันขื่น” แล้ว

แต่มันไม่เคยไปไกลถึงขั้นวันนี้อย่างหาสภาพไม่ได้! วันที่ลาวตกเป็นที่ “ริษยา” ของบรรดาผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอาการแปลกหน่วง ถึงขั้นผู้นำลาวผุดคำ “อัปรีย์-จัญไร” ในพฤติกรรมสื่อของรัฐจากประเทศเพื่อนบ้านจนเดือดเป็นดราม่า

หรือนี่คือความฝันอันยาวนานตั้งแต่สมัยอินโดจีนที่ลาวรอคอยมาร้อยปี ในการมีเส้นทางคมนาคมของประเทศ ก็ใครล่ะจะรู้ว่า ลาวคิดอย่างไรในความเป็นชาติปิดอับเส้นทางติดต่อชาวโลก? แต่ในที่สุด ความมหัศจรรย์นั้นก็มาเยือนหลวงพระบางและเวียงจันทน์ มันยังผ่านไปถึงชายแดนจีน เช่นที่พวกอาณานิคมเคยฝัน แต่วันนี้มันสำเร็จแล้ว!

และนั่นหรือไม่ ที่ทำให้ลาวไม่ลังเลจะกระโจนเข้าไปใน ‘One Belt One Road’ ที่ท่วมท้นไปด้วยหนี้สินและคำปรามาส แต่มันคือฝันอันยาวนานของชาติหนึ่ง ซึ่งแลกมาซึ่งคำชื่นชมและ “หมิ่นแคลน” ในระดับภูมิภาคอย่างเหลือเชื่อ หรือนี่คืออำนาจแฝงของการเมืองภูมิภาค ทั้งอดีตสหพันธรัฐอินโดจีนและไทยที่แลกมาด้วยแผลสด?

ต่ออิทธิพล ‘หนึ่งเข็มขัด-หนึ่งเส้นทาง’ ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อความคิดพลเมืองของประเทศ ถึงขนาดในโซเชียลวิงวอนอยากเห็นเส้นทางนี้เลี้ยวไปผ่านเวียดนาม-กัมพูชาข้ามทะเลแปซิฟิกไปมาเลเซียและสิ้นสุดที่สิงคโปร์?

ทุกวันนี้ ความบ้าคลั่งรถไฟฟ้าดูจะกลายเป็นวิวาทะของชาวอาซียนกับผู้นำของตนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการ “บลั๊ฟฟ์” กันในความมีระบบรถรางชนิดนี้ คือการพัฒนาประเทศและวิสัยทัศน์ของผู้นำ

กรณี สปป.ลาว จึงเป็นตัวแทนความสำเร็จที่ตามมาด้วยอัตลักษณ์ทั้งหมดของความชาติสมัยใหม่ในประเทศและผู้นำ ส่วนเพื่อนบ้านผู้นำกลับทัวร์ลง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายแรกของนครโฮจิมินห์ซิตี้ ถนนหลวงไฮเวย์ของกัมพูชา และเส้นทางเชื่อมต่อที่ยังไม่ลงตอม่อของไทย!

ดอกไม้และก้อนอิฐ จึงไปลงที่ตรงนั้น

เครดิตภาพ : Attitude DEE

ดูเหมือนหัวหอกผู้รับมาซึ่งเทคโนโลยีระบบรางจากฝรั่งเศสจากอดีตหัวหน้าสหพันธรัฐอินโดจีนอย่างเวียดนาม กลับมีต้นทุนล้าหลังกว่าลาวที่เป็นลูกไล่เสียงั้น? ทำเพียงเพิ่มไม้หมอนสายสั้นไปยังชายฝั่งแปซิฟิกใกล้กำโปดกัมพูชาเพราะยุทธศาสตร์ทางทะเล

คำวิจารณ์ต่อลูกพี่อินโดจีนคือ วิสัยทัศน์และความทะเยอทะยานนำหน้าทุกประเทศในภูมิภาคหดหายไปไหน? แล้วตอนนี้กลับอยากเห็นรถด่วนขบวนนั้นวิ่งผ่านเวียงจันทน์มายังโฮจิมนห์เทรลและไปลงทะเลที่เขมร? ช่างเพ้อฝัน!

ไม่ต่างกับกัมพูชาที่รับมาระบบรถรางก่อนพัฒนาทางหลวงสายแรกของประเทศด้วยซ้ำ แต่ไม่เคยพัฒนา? แค่ปรับปรุงรางเหล็กสมบัติเก่าแก่ที่บารังทิ้งไว้กับรถไฟสายแรก “พนมเปญ-กัมโปด” ล่าช้าและล้าหลัง ใครเลยจะเชื่อว่า ระยะเพียงสั้นๆ กลับใช้เวลาวิ่งนานเส้นทางจากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงเสียอีก!

โดนไปคนละดอก ด้วยพิษความเร็วสูงของรถไฟ (ฟ้า) ขบวนนั้น แต่ที่ตลกร้ายกว่านั้น กลับเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นลาวที่เคยถูกมองเป็นลูกไล่ และล้ำหน้า พุ่งทะยานเกินหน้ากว่าผู้นำลุ่มน้ำโขงทั้งหมด

ความลบเลือนด้อยค่า จู่ๆ ก็ยกระดับตัวตนลาวขึ้นมาจากความตกต่ำตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

และนั่นไง? ล้ำไปกว่า…สิ่งเราเคยทำและกำลังลืมมันไปสิ้น สำหรับ “มิตรภาพไทย-ลาว” บนชื่อสะพานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของขวัญในอดีต ตั้งแต่สมัยที่ สปป.ลาวเพิ่งจะเปิดประเทศใหม่ๆ เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

เช่นเดียวกับทางหลวงปอยเปต-สีโสภณของกัมพูชาที่ไทยส่งทหารช่างเข้าไปทำการซ่อมบำรุงสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เจ้าของไอเดีย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” จนกลายเป็นโมเดลที่ตามมาถนนจากอีสานใต้สู่จังไวัดบันเตียเมียนเจยและเสียมเรียบ

มิตรภาพที่งดงามครั้งนั้น ยังตราตรึงต่อประเทศเพื่อนบ้าน แม้เป็นที่รู้ว่านี่คือต้นทุนที่หวังประโยชน์ทางการค้า กระนั้น ก็ยังเป็นวิสัยทัศน์ก้าวหน้า แต่วันนี้ แนวคิดนี้กลับจมหายและกลายเป็นคติที่ล้าหลังในความชาตินิยมอันสวนทางกับแนวคิดเท่าเทียมอย่างสากล จนถึงกับ “ว่าร้าย” ประเทศที่ครั้งหนึ่ง “ตน” เคยออกหน้านโยบาย “มั่งคั่งไปด้วยกัน” ที่ก้าวหน้าและหลูปเดียวกับที่จีนทำกับลาวเวลานี้

แค่แคมเปญการค้าในอดีตและดำเนินรอยตาม มรดกกรรมที่สวยงามระหว่าง 2 ประเทศลาว-ไทยคงไปไกลกว่านี้และไม่เป็นที่อับอาย เมื่ออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์-อดีตนายทหารที่ส่งหนังสือขอโทษคำหมิ่นแคลนต่อลาวอย่างน่าอดสูใจ

สำหรับ “กับดัก” อันล้าหลังที่ทำให้เรามายืนถึงจุดนี้