E-DUANG : พลังแห่ง “ความเงียบ” จาก จีซัส ไครสต์

ทำไมพวกโรมันจึงต้องจับ จีซัส ไครสต์ ตรึงด้วยตะปูไว้กับไม้กาง เขน กระทั่งเลือดไหลอาบ

แล้ว “ตาย” ด้วยความทุกข์ทรมาน

เพราะพวกโรมันไม่ต้องการให้ จีซัส ไครสต์ เผยแพร่ความเชื่อที่โรมันประเมินว่าอาจเป็นอันตราย

จึงหวังจะใช้ “ความตาย” มาทำให้เรื่อง “จบ”

น่าสนใจก็ตรงที่ จีซัส ไครสต์ เผชิญกับชะตากรรมที่ได้รับอย่างเยือกเย็น

ไม่ปรากฏความโกรธ ไม่ปรากฎความอาฆาตแค้น

ดำเนินไปตามอนุสาสน์ “เมื่อเขาตบแก้มซ้าย ให้หันแก้มซ้ายให้เขาตบ”

เหมือนกับมิได้ “ต่อสู้” แต่เท่ากับ “ต่อสู้”

 

กรณีของ จีซัส ไครสต์ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความรักและการให้อภัยแม้แต่กับ “ศัตรู”

หากแม้กระทั่งกับ “ศัตรู” ที่ปองร้าย หมายชีวิต

ณ วันนั้น มาตรการของพวกโรมันอาจปลิดชีวิตในทางสังขาร ของ จีซัส ไครสต์ ลงไป

แต่ได้สร้าง “ผลสะเทือน” อย่างใหญ่หลวง

ผลสะเทือนเบื้องต้นก็คือ ความสนใจต่อพระธรรม คำสอนอันออกมาจาก จีซัส ไครสต์

ความคิดใดจึงหล่อหลอม “คน” ให้ “แข็งแกร่ง” ได้เพียงนี้

เป็นความแข็งแกร่งที่ไม่เพียงไม่กลัวยาก ไม่กลัวตาย หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ความรักและการให้อภัย

ในที่สุด แม้กระทั่ง “โรม” ก็ต้อง “ค้อมหัวลง”

 

อีกหลายร้อยหลายพันปีต่อมา พอล ไซมอน กวีรุ่นใหม่ได้แต่งบทกวีและแปรเป็นเสียงเพลงออกมา

ในชื่อว่า “เสียงแห่งความเงียบ”

อาจไม่มีอะไรสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ จีซัส ไครสต์ ในกาลอดีต

แต่สะท้อนให้เห็น “พลานุภาพ” แห่ง “ความเงียบ”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง “ความเงียบ” ไม่น่าจะมี “พลัง” น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิด “ปรากฏการณ์” ใดๆตามมา นอกจากจะเป็น “ความเงียบ”

กระนั้น การดำรงอยู่ของ จีซัส ไครสต์ ก็มาจาก “ความเงียบ”