เปิดหู | ไอน์สไตน์ ผู้ยิ่งใหญ่ กับความลุ่มหลงในดนตรี จนมีอิทธิพลต่อความคิด

อัษฎา อาทรไผท

Albert Einstein นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล กับดนตรีที่เขารัก

ในชั่วโมงนี้ไม่น่าจะมีบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านใดร้อนแรงไปกว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือ Albert Einstein นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ผู้บุกเบิกฟิสิกส์สมัยใหม่ ด้วยการคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีความสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ที่เปลี่ยนโลกของเราไปอย่างก้าวกระโดด

ไอน์สไตน์เป็นคนฟิสิก แต่เราจะไม่ได้มาเล่าถึง E = mc2  ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก หรือ ทฤฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง เพราะที่นี่เราคุยกันแต่เรื่องเพลง ซึ่งไอน์สไตน์เอง แม้เป็นอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเขาเป็นผู้ที่ลุ่มหลงในดนตรีอย่างมาก

ครั้งหนึ่งไอน์สไตน์เคยเขียนบันทึกในบั้นปลายชีวิตของเขาไว้ว่า “If I were not a physicist, I would probably be a musician.  I often think in music.  I live my day dream in music.  I see my life in terms of music…I get most joy in life out of music” ซึ่งผมแปลตามประสาผมเองได้ว่า “หากผมไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ ผมคงไปเป็นนักดนตรี บางครั้งผมก็คิดเป็นดนตรี ผมฝันกลางวันไปกับเสียงเพลง ผมมองชีวิตของผมเป็นดั่งเสียงดนตรี สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขที่สุดในชีวิตก็คือดนตรี”

แน่นอนว่าไอน์สไตน์ไม่ได้แค่ชอบดนตรี เขาเล่นมันได้ด้วย Pauline Koch Einstein แม่ของเขา เป็นนักเปียโน และเป็นผู้สอนให้เขาเล่นไวโอลินและเปียโนมาตั้งแต่เด็ก โดยเขาชอบเล่นทั้งแบบโซโล่ (เดี่ยว) และแบบเชมเบอร์ (เล่นกันเป็นกลุ่ม) นอกจากเล่นดนตรีแล้ว เขายังชอบที่จะศึกษาการประพันธ์เพลงด้วย โดยแนวดนตรีที่เขาโปรดปรานคือดนตรี Violin Sonata ต่างๆ ของ Mozart (โมซาร์ท) อภิมหาศิลปินคลาสสิคของโลกที่เราคุ้นเคย

ดนตรีน่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดของไอน์สไตน์ และไม่แน่อาจมีส่วนทำให้หลายๆ ทฤษฎีถูกคิดขึ้นมาได้ Elsa ภริยาคนที่ 2 ของเขา ได้เล่าไว้ว่า เธอหลงรักไอน์สไตน์เพราะเขาเล่นไวโอลินเพลงโมซาร์ทได้สวยงามมากๆ ซึ่งเวลาที่เขาใช้ความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ เขาจะออกมาจากห้องทำงาน เพื่อมาเล่นดนตรีสักพัก ก่อนจะกลับเข้าไปทำงานต่อ

ด้วยความที่ดนตรีคลาสสิคเป็นเหมือนสิ่งที่ปลอบประโลม และหล่อเลี้ยงจิตใจของไอน์สไตน์มาทั้งชีวิต ทำให้มีการนำชุดเพลงในรูปแบบที่ไอน์สไตน์โปรดปราน มาทำเป็นอัลบั้มรวมเพลงสำหรับให้เด็กทารกฟัง เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางสมองของเด็กเล็กในชื่อ Baby Einstein และนำเสนอเป็นวีดีโอส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยภาพของเล่น ตัวเลข สีต่างๆ รูปทรงเลขาคณิต ตัวหนังสือ คำศัพท์ เคล้าเสียงเพลงของ Mozart Bach Beethoven และอีกหลายท่าน โดยมีการโฆษณาว่าเมื่อเด็กได้ชม จะมีพัฒนาการทางสมองได้มีประสิทธิภาพกว่าปกติ

ด้วยความที่ผู้ปกครองล้วนมีความหวังจะให้ลูกฉลาดแบบไอน์สไตน์ วีดีโอชุดนี้เลยขายได้ถล่มทลายไปทั่วโลก จากยอดขาย 1 ล้านดอลล่าสหรัฐในปี 1998 ขึ้นมาถึง 25 ล้านดอลล่าสหรัฐในปี 2001 และกลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายท่านทั่วโลก ต้องการให้ลูกดูทุกวันซ้ำไปเรื่อยๆ ด้วยหวังจะสร้างอัจฉริยะขึ้นบ้าง จนท้านสุดมีการคาดคะเนยอดขายทั้งหมดตลอดกาลถึง 400 ล้านดอลล่าสหรัฐเลยทีเดียว (ไม่รวมสื่อก๊อปปี้ที่ผลิตออกมาขายตั้งเยอะ)

วีดีโอชุดนี้เมื่อนำชื่อไอน์สไตน์มาใช้ ก็ต้องเสียลิขสิทธิ์ให้กับกองจัดการมรดกของเขาด้วย ซึ่งก็ทำให้ไอน์สไตน์กลายเป็นผู้ล่วงลับที่สร้างรายได้สูงเป็นอันดับ 5 ของผู้มีชื่อเสียงที่เสียชีวิตไปเลยทีเดียว เป็นรายได้ที่แม้เจ้าตัวเองก็คงไม่เคยคาดคิดว่าจะมี

อย่างไรก็ตามงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในปี 2006 มีการร้องเรียนไปยัง U.S. Federal Trade Commission ว่าทาง American Academy of Pediatrics ได้แนะนำไว้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูทีวี ซึ่งเป็นอะไรที่ย้อนแย้งกับการมีตัวตนของ Baby Einstein ที่ทำมาให้เด็กเล็กดู และมีผู้ปกครองเพียง 6% เท่านั้นที่ทราบถึงคำแนะนำนี้ ในขณะที่อีก 49% นึกว่าการดูวีดีโอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเด็ก ด้วยเหตุนี้คำโฆษณาต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แต่เขาเปลี่ยนเฉพาะเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาอื่นก็ยังคงเดิม

ต่อมาในปี 2010 มีการวิจัยจาก Psychological Science ที่ทำการทดลองให้เด็กเล็กชมวีดีโอนี้เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เปรียบเทียบพัฒนาการกับเด็กเล็กที่ไม่ได้ดูอะไรเลย ผลปรากฏว่าไม่ได้มีความแตกต่างกัน และยังมีการวิจัยอื่นๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ ทำให้ในปัจจุบันความนิยมของวีดีโอชุดนี้ก็ลดลงไปตามกาลเวลา

แม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ได้ว่าการให้เด็กดูวีดีโอ Baby Einstein จะช่วยให้ฉลาดขึ้นได้ แต่การฟังเพลงคลาสสิคในแบบที่ไอน์สไตน์ชอบ ก็เป็นการผ่อนคลายที่ดี และเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ในวันที่เหนื่อยล้า เมื่อไอน์สไตน์หยิบไวโอลินมาบรรเลงเพลงโมซาร์ท ผมเชื่อเลยว่าเขาจะได้รับความชุ่มฉ่ำในหัวใจ จากบทเพลงที่เขารัก กลายเป็นพลังที่ไปต่อยอด จุดประกายให้สมองอัจฉริยะของเขาทำงานได้อย่างลื่นไหล จนกลายเป็นทฤษฎีที่เปลี่ยนโลกของเราไปได้ตลอดกาล

ใครสนใจจะฟังไอน์สไตน์บรรเลงไวโอลิน ลองค้นหาใน YouTube ตามนี้ “Albert Einstein NEVER BEFORE HEARD: Play Violin – Mozart Sonata in B-flat KV378” ท่านจะพบกับเสียงบันทึกการบรรเลงไวโอลินสดเคล้าเปียโนของเขา ซึ่งผมก็บอกไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ที่แน่ๆ บทเพลงที่ได้ยินนั้น คือของโปรดของไอน์สไตน์แบบสายตรงแน่นอนครับ