สิ่งแวดล้อม : อย่ารวบรัด ‘จะนะ’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

อย่ารวบรัด ‘จะนะ’

 

พลิกอ่านเอกสารของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ที่สื่อนำมาเปิดโปง ทำให้เข้าใจได้ว่าการจัดทำโครงการนี้เป็นไปอย่างรวบรัดตัดตอนหวังประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ในรายงานระบุว่าหน่วยงานที่นำเสนอโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 นั้นคือ “ศอ.บต.” หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้

เดิมทีสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ในระยะแรก สศช.ยังไม่มีแนวคิดขยายเมืองต้นแบบไปยัง อ.จะนะ แต่น่าแปลกที่ “ศอ.บต.” กลับสอดไส้ให้ ครม.พิจารณา โดยไม่ถาม สศช.

เมื่อ ครม.เห็นชอบ ศอ.บต.เร่งประกาศให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาเฉพาะกิจ แล้วยังดึงเอาแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2 โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรม โรงงานปิโตรเคมี ผูกมัดรวมกันด้วย

จากเนื้อหาในรายงานชี้ให้เห็นพฤติการณ์ของ “ศอ.บต.” เต็มไปด้วยข้อน่าสงสัยในหลายประเด็น เช่น การรื้อผังเมืองพื้นที่สีเขียว สีเขียวอ่อนซึ่งเป็นเขตชนบทเกษตรกรรมและอนุรักษ์ป่าไม้ เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง หรือเป็นเขตอุตสาหกรรม

หรือในคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ศอ.บต.ต้องหารือร่วมกับ สศช.ในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ

ขณะที่ สศช.ได้เสนอความเห็นว่า ศอ.บต.ต้องประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายชัดเจนครอบคลุมทุกมิติ

 

ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง “เมืองต้นแบบจะนะ” พบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับการประสานงานจาก ศอ.บต.

สศช.ไม่เคยได้รับเรื่องการขอให้พิจารณาความเหมาะสมของแผนงานเร่งด่วนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ และ สศช.ไม่เคยเข้าร่วมจัดทำโครงการเมืองต้นแบบจะนะ

ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ยืนยันว่าไม่ได้รับเอกสารรายงานผลการศึกษาจาก ศอ.บต. เอกสารที่ส่งมาให้กรมโยธาธิการฯ นำไปประกอบการพิจารณาปรับผังเมืองจะนะ เป็นเอกสารที่ภาคเอกชนจัดทำขึ้น

ในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงยังได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการเมืองต้นแบบจะนะมีประเด็นความขัดแย้งกับชุมชน เช่น เรื่องการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ประชาชนครอบครองอยู่

อีกทั้งการจัดแผนพัฒนาพื้นที่ที่ ศอ.บต.จัดทำนั้นไม่สอดคล้องกับ อัตลักษณ์ชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ แผนยุทธศาสตร์จังหวัด รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ฉะนั้นสายตาของชาวบ้านจึงมองว่าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ คือการสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ที่กว้านซื้อที่ดินเอาไว้แล้ว และมี “ศอ.บต.” เป็นผู้เดินเกมให้

 

หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการขยายโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนไปสู่เมืองต้นแบบจะนะ อีก 2 เดือนต่อมา ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า โครงการเมืองต้นแบบฯ เป็นความร่วมมือของบริษัท ทีพีไอและไออาร์พีซี ซึ่งจัดซื้อที่ดินราว 10,800 ไร่ ตั้งแต่ปี 2540 และได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้าต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ใช้เงินลงทุน 6 แสนล้านบาท

ในแผนการลงทุนของภาคเอกชนมี 4 โครงการ

1. โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ วงเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์ เป็นเกตเวย์ที่ 3 ของประเทศไทย มีรูปแบบที่รวมเอาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือคลองเตยเข้าด้วยกัน

2. การสร้างรางรถไฟเชื่อมท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า

3. พลังงานไฟฟ้าทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังลม 800-1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 300-500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 300-500 เมกะวัตต์

4. นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานอาหารแปรรูป, อาหารฮาลาล และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิด, ผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้, ผลิตแท่นเจาะน้ำมัน, ผลิตรถไฟฟ้า (EV car)

ดร.ชนธัญวาดฝันว่า จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะสร้างงานให้กับผู้คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา

แต่ ศอ.บต.ไม่เคยจัดทำรายละเอียดการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ ไม่เคยแจกแจงว่ามีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำอย่างไรบ้าง

การสอดประสานระหว่างกลุ่มทุนและ ศบ.บต. อย่างแนบแน่น โดยใช้วิธีการรวบรัดตัดตอน ไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนของชาวจะนะ จึงทำให้เกิดการลุกฮือประท้วงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

ดังนั้น การเรียกร้องของชาวจะนะให้รัฐบาลยุติโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และหันกลับมาตั้งต้นศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ในเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าให้กับ “จะนะ” จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างรับฟังเสียงอีกด้านของชุมชนชาวจะนะซึ่งอยู่ในพื้นที่อย่างสงบมายาวนาน

เพราะหาก “ศอ.บต.” จัดทำกระบวนการอย่างรวบรัดตัดตอน มิหนำซ้ำรัฐบาลยังส่งชุดควบคุมฝูงชนไปรื้อสลายกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ร่วมชุมนุมทวงคำสัญญาหน้าทำเนียบฯ อย่างสงบ เช่นนี้จะเรียกหาการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร