ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่คุณประยุทธ์กำลังเข้าตาจน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประเทศไทยกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง และถึงแม้จะมีคนกระแหนะกระแหนว่าคำพูดแบบนี้ได้ยินมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงยิ่งนานก็ยิ่งหยั่งรากลึกลงไปเรื่อยๆ จนไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นร่องของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

แม้ประเทศไทยในปี 2564 จะอยู่ภายใต้การปกครองของสามนายพลอย่างไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความยอมรับที่คนมีต่อระบอบการปกครองของสามนายพลก็ถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งในแง่การแสดงออกบนท้องถนน, ในโซเชียล หรือแม้แต่ความยอมรับนับถือต่อวัฒนธรรมที่เป็นฐานของระบบสามนายพล

ล่าสุด คำประกาศของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ หมูป่าเรื่องไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นอีกสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ

เพราะเป็นไม่กี่ครั้งที่ข้อเสนอของสามขาใหญ่ในทำเนียบถูกปฏิเสธ

ซ้ำคนที่ปฏิเสธยังเป็นผู้ว่าฯ ที่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ และคุณอนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยตรง

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น ขออนุญาตย้อนรอยสักนิดว่ากลุ่มสามนายพลทาบทามผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ หรือ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ชิงผู้ว่าฯ กทม.มานาน เงื่อนไขในการชิงผู้ว่าฯ นั้นถึงขั้นระบุว่า “ผู้ว่าฯ หมูป่า” จะลงในนามพลังประชารัฐหรือในนามอิสระก็ได้ ขอแค่ให้ยึดกรุงเทพฯ ให้อยู่ใต้สามนายพลต่อไปก็พอ

เห็นได้ชัดว่าสามนายพลต้องการใช้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เป็นเบี้ยสกัดไม่ให้ “ฝ่ายตรงข้าม” ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเมื่อกลุ่มสามนายพลคือก๊วนที่ไม่เอาใครเลย นอกจากเบ๊ตัวเอง คำว่า “ฝ่ายตรงข้าม” จึงไม่ได้หมายถึงแค่เพื่อไทยหรือก้าวไกล แต่ยังรวมถึงประชาธิปัตย์และ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ด้วยเช่นกัน

ปัญหามีอยู่นิดเดียวคือทำไมสามนายพลไม่ใช้ “อัศวิน ขวัญเมือง” ซึ่งเป็นคนที่คุณประยุทธ์ตั้งมายึดกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2559 ในการยึดกรุงเทพฯ ต่อไป

แม้คุณอัศวินจะไม่กล้าบอกตรงๆ ว่าอยากลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ทุกคนในวงการการเมืองรู้ว่าคุณอัศวินอยากเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่เป็นลูกน้องคุณสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซ้ำการดันลูกเข้าประชาธิปัตย์ก่อนรัฐประหารหรือตั้งเป็นโฆษก กทม.หลังรัฐประหารล้วนสะท้อนว่าเรื่องนี้ครอบคลุมถึงลูกคุณอัศวินด้วยเช่นกัน

ปัญหาของคุณอัศวินคือคุณอัศวินไม่เคยมีตำแหน่งการเมืองจากความนิยมของประชาชน คุณอัศวินเป็นรองผู้ว่าฯ ตามโควต้าพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.เพราะคุณประยุทธ์ตั้งหลังรัฐประหาร 2557 ความได้เปรียบอย่างเดียวของคุณอัศวินในการสมัครผู้ว่าฯ จึงได้แก่การคุมข้าราชการ กทม.กว่า 5 ปี

จริงอยู่ว่าการคุมข้าราชการทำให้คุณอัศวิน “ได้เปรียบ” คนอื่นแน่ในแง่มีโอกาสใช้เงินหลวงเพื่อหาเสียงให้ตัวเอง แต่ความ “ได้เปรียบ” ไม่แน่ว่าจะทำให้ “ได้คะแนน” เพราะผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตก็ไม่มีใครชนะเพราะการคุมข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นคุณอภิรักษ์ เกษะโยธิน, คุณพิจิตต รัตตกุล, คุณสมัคร สุนทรเวช หรือคุณจำลอง ศรีเมือง

พูดตรงๆ คนเหล่านี้ได้เป็นผู้ว่าฯ หลังจากมีบทบาทในภาคธุรกิจ, มหาวิทยาลัย, สภา ฯลฯ จนไม่มีใครเคยคุมข้าราชการมาก่อนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ความได้เปรียบที่คุณอัศวินมีจากการคุมข้าราชการจึงไม่พอจะทำให้คุณอัศวินชนะเลือกตั้ง

แต่นอกจากเรื่องนี้ก็ไม่พบว่าคุณอัศวินมีความโดดเด่นด้านอื่นอีกเลย

สามนายพลไม่ใช้คุณอัศวินเพราะระบบราชการไม่แข็งแกร่งพอจะสร้างคะแนนนิยมใน กทม.ให้ใคร ซ้ำตัวสามนายพลเอง หรือแม้แต่หุ่นเชิดอย่างพรรคพลังประชารัฐก็ไม่สามารถสร้างคะแนนได้ด้วย

คุณอัศวินจึงเป็นตัวเลือกในการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีแต่แพ้กับแพ้ แต่จะแพ้แค่ไหนเท่านั้นเอง

อาจมีผู้โต้แย้งว่าพลังประชารัฐมี ส.ส.ในกรุงเทพฯ 12 ที่นั่ง ซึ่งสูงกว่าทุกพรรคการเมือง แต่ ส.ส.พลังประชารัฐมาจากอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่จู่ๆ ก็ย้ายไปพลังประชารัฐจนประชาธิปัตย์หาคนใหม่ไม่ทัน

ชัยชนะของพลังประชารัฐจึงถูกวิจารณ์ว่ามาจากการเล่นสกปรกเพื่อเอาเปรียบโดยไม่มีคะแนนจริงๆ

ขณะพลังประชารัฐในปี 2562 หาเสียงว่าเป็นพรรคใหม่ที่นำประเทศจากความขัดแย้งโดยไม่พูดถึงคุณประยุทธ์เลย

พลังประชารัฐในปี 2564 คือพรรคดูดนักการเมืองหน้าเก่าที่เชลียร์คุณประยุทธ์จนคิดไม่ออกว่าควรเกลียดใครกว่ากันแล้ว พลังประชารัฐจึงส่งคะแนนนิยมให้คุณอัศวินหรือใครไม่ได้เลย

สามนายพลต้องการใช้ผู้ว่าฯ หมูป่าเพราะหวังเอาความนิยมต่อบุคคลไปกลบความเป็นตัวแทนรัฐบาล วิธีคิดนี้สะท้อนว่าสามนายพลตระหนักถึงความเสื่อมศรัทธาต่อราชการ, ต่อพลังประชารัฐ และต่อรัฐบาล หรืออีกนัยคือการรับรู้ว่าอำนาจของสามนายพลมีฐานอยู่แค่การใช้กำลังและการยัดคดี

นอกจากกองทัพและอำนาจเหนือระบบที่ไม่เปลี่ยนในระยะใกล้ ฐานอำนาจอื่นของสามนายพลนั้นเปลี่ยนไปทางผุพังหมดแล้ว “ผู้ว่าฯ หมูป่า” จึงเป็นหมากที่ดีที่สุดของสามนายพล เพราะไม่ใช่พวกเดียวกับ “ฝ่ายตรงข้าม” จนหากผู้ว่าฯ หมูป่าชนะก็เท่ากับสามนายพลชนะ “ฝ่ายตรงข้าม” โดยปริยาย

ถ้าผู้ว่าฯ หมูป่าตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ หมูป่าก็จะเจอปัญหาคล้ายกับคุณอัศวินเรื่องต้องพึ่งกลไกระบบราชการ, ต้องตอบคำถามว่าจะเอาใครในพลังประชารัฐมาเป็นรองผู้ว่าฯ และจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองตกเป็นที่ระบายความเกลียดชังต่อคุณประยุทธ์, คุณประวิตร และคุณอนุพงษ์

เป็นไปได้ว่าคำปฏิเสธไม่ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” สะท้อนการประเมินว่าตัวเองยากจะชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรืออีกนัยคือความนิยมของประชาชนต่อ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ยังไม่มากพอจะทำให้มั่นใจว่าจะชนะเมื่อเทียบกับ “ตัวถ่วง” ที่เยอะไปหมดอย่างความเกลียดพรรคและผู้นำรัฐบาล

จากปี 2557 ที่คุณประยุทธ์พูดอะไรก็เหมือนเทวดาสู่ปี 2564 ที่ความนิยมต่อคนกลุ่มนี้แทบไม่เหลือ

คนที่บอกประเทศไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่สองแบบ แบบแรก คือช่างเสียดสีจนปากพูดโดยไม่ใช้สมองคิด หรือแบบที่สอง คือคนที่มองไม่เห็นแรงต้านของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

ด้วยคำประกาศของผู้ว่าฯ หมูป่าเรื่องไม่ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขบวนการสามนายพลเหลือทางเลือกเพียงแค่ต้องหนุนคุณอัศวินชิงผู้ว่าฯ หรือไม่ก็ไม่ส่งใครเลย

ปัญหาของทางแรก คือเป็นทางเลือกที่ตอนจบมีแต่แพ้กับแพ้ ส่วนปัญหาของทางที่สอง ก็คือการยอมรับตั้งแต่ต้นว่าสามนายพลไม่มีใครเอา ส่งใครไปก็แพ้อยู่ดี

แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือขบวนการสามนายพลต้องเผชิญความจริงว่าคุณอํศวินมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวลาที่สามนายพลไม่มีใครเลย

ในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2528 มีไม่กี่ครั้งที่รัฐบาลจะเจอสถานการณ์ที่หาใครลงสมัครผู้ว่าฯ ไม่ได้ หรือถึงหาได้ก็คือหาเพื่อลงสมัครให้ครบๆ จะได้ไม่ถูกโจมตีว่ารัฐบาลกระจอก และหนึ่งในนั้นรัฐบาลคุณประยุทธ์ชุดปัจจุบัน

แม้คุณประยุทธ์จะหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้โดยเตะถ่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ทุกวันที่คุณประยุทธ์ห้ามเลือกตั้งคือทุกวันที่คุณประยุทธ์ประจานตัวเองว่าไม่มีใครเอาจนหาคนลงผู้ว่าฯ ไม่ได้ รวมทั้งยิ่งตอกย้ำว่าคุณประยุทธ์ยึดทำเนียบได้เพราะตั้งวุฒิสมาชิก 250 คนมาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ อย่างไร้ยางอาย

ในที่สุดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นการแข่งขันระหว่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กับ “สุชัชวีร์” และถึงแม้เวลานี้จะมีการเปรียบเทียบว่าใครเหนือใคร แต่การเปรียบเทียบตอนนี้ก็ไม่ต่างจากการบอกว่าทีมไหนจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกตั้งแต่บอลนัดแรกยังไม่เตะ เพราะทั้งคู่ยังไม่มีใครหาเสียงผู้ว่าฯ อย่างเต็มระบบจริงๆ

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เลือกตั้ง กทม.จะเป็นภาพสะท้อนการเลือกตั้งระดับชาติในประเทศไทยก่อนรัฐประหาร 2557 นั่นคือระบบราชการห่วยจนหนุนใครไม่ได้, คู่แข่งขันหลักไม่ได้ใช้ระบบราชการเป็นกลไกหาเสียง และทั้งคู่ต้องแข่งกันเสนอนโยบายเพื่อแย่งชิงคะแนนจากประชาชน

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังเป็นสนามประลองระหว่างคุณประยุทธ์กับทุกกลุ่มในสังคม และต่อให้คุณประยุทธ์จะต้องการยึดกรุงเทพฯ จนไม่ยอมให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ความผุกร่อนของ “ระบอบประยุทธ์” ก็สำแดงตัวจนแผนยึดกรุงเทพฯ ของคุณประยุทธ์ล้มเหลวไปแล้ว เหลือแค่จะรูดม่านวันไหนเท่านั้นเอง

ไม่มีใครหยุดกระแสธารของกาลเวลาได้ รากฐานของระบอบประยุทธ์กำลังเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ ต่อให้คุณประยุทธ์จะดิ้นรนรักษาอำนาจไว้ทุกวิถีทางก็ตาม