ปริศนาโบราณคดี : พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (1)

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคีรี

กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (1)

ในวิหารด้านทิศเหนือของวัดเชียงมั่น (ใจจริงอยากใช้คำว่า “เชียงหมั้น” ตามเอกสารโบราณ แต่เกรงว่าคนทั่วไปจะเกิดคำถามตามมามากมาย จึงจำใจต้องใช้ “เชียงมั่น” ตามสมัยนิยม) วัดแห่งแรกสุดที่พระญามังรายสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ 725 ปีที่ผ่านมานั้น

ในมณฑปโขงพระเจ้า มีพระพุทธรูปสำคัญขนาดเล็กมากประดิษฐานอยู่สององค์ องค์ด้านซ้ายคือ พระแก้วขาวหรือ “พระเสตังคมณี” ของพระนางจามเทวี

ส่วนองค์ด้านขวานั้น ประวัติความเป็นมาด้านหน้าวิหารเขียนคำอธิบายบนผนังว่า “พระศีลา” คำว่า “ศีลา” บ้างเขียนแบบบาลีว่า “สีลา” คือคำเดียวกับ “ศิลา” ที่แปลว่า “หิน” หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างด้วยหินนั่นเอง

ในขณะที่ “องค์พระศีลา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้ มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะอินเดีย สกุลช่างปาละ

บทความนี้มีคำถามชวนขบคิดประเด็นหลักๆ อยู่สองประเด็น

หนึ่ง พระศีลานำมาสู่แผ่นดินล้านนาโดยใคร (รวมคำถามพ่วงอีกสองคำถาม สมัยใด เข้ามาได้อย่างไร)

สอง พระศีลาองค์นี้ จะหมายถึง “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” ของพระนางจามเทวี ด้วยหรือไม่ (หมายเหตุ ราวสองปีที่ผ่านมา ดิฉันได้เขียนบทความ ตามรอยพระสิกขีปฏิมาศิลาดำยาวเหยียดอยู่ 7-8 ตอน สุดท้ายก็ยังไม่พบคำตอบว่าคือองค์ไหน อยู่ที่ใดในแผ่นดินสยาม? หรืออาจจะเป็นพระศีลาองค์นี้

ก่อนที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึกกันทั้งสองประเด็น ตอนที่ 1 นี้ ดิฉันขอปูพื้นอธิบายเกี่ยวกับ “พุทธศิลป์” ของพระศีลาองค์นี้อย่างละเอียดสักหน่อย เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเบื้องต้น

พระศีลาวัดเชียงมั่น ศิลปะปาละ มีการสร้างฐานยกเก็จแบบล้านนาเพิ่มภายหลัง
พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคิรี ได้จากแคว้นพิการ ทำจากหินบะซอลต์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กัลกัตตา (ภาพจากเพจ Taming of Nalagiri)

สกุลช่างปาละ ศิลปะอินเดียเหนือ

พระศีลาองค์ที่ประดิษฐาน ณ วิหารทิศเหนือวัดเชียงมั่นนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ไม่ใช่ศิลปะสกุลช่างล้านนา รวมทั้งไม่ใช่หริภุญไชย หรือทวารวดี แต่กลับกลายเป็น “ศิลปะอินเดีย” ในสกุลช่างที่เรียกกันว่า “ปาละ” (Pala Style)

คำว่า “ปาละ” เป็นชื่อของราชวงศ์ที่ปกครองแว่นแคว้นอินเดียแถบทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-18 ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงได้นำชื่อของราชวงศ์นี้มาใช้เรียกรูปแบบศิลปะ

ศิลปะปาละที่พบในอินเดียมีทั้งรูปเคารพในศาสนาพุทธ ฮินดู และเชน ในส่วนของศาสนาพุทธนั้น เป็นนิกายมหายาน ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นนิกายวัชรยาน และตันตรยาน

ถือว่าเป็นสกุลช่างศิลปะของอินเดียที่มีอิทธิพลทางรูปแบบศิลปกรรม ต่อศิลปะสกุลช่างล้านนาเป็นอย่างสูง โดยส่งผ่านมาทางอาณาจักรพุกามในพม่า นั่นคือรูปแบบ “พระสิงห์ 1” ของล้านนาที่เรารู้จักกันดี (ที่ปัจจุบันคำว่า “หลวงพ่อเพชร” ค่อยๆ ได้รับความนิยมแทนที่)

รูปแบบพระพุทธรูปที่นั่งขัดสมาธิเพชร (แลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง) ปางมารวิชัย มีชายสังฆาฏิปลายตัดเป็นเขี้ยวตะขาบพาดสั้นๆ อยู่เหนือพระถัน ถือภาพคุ้นตาที่เรารับทราบว่ามีต้นแบบมาจากศิลปะอินเดียสมัยปาละ

ทว่า ในศิลปะล้านนาไม่มีการรับอิทธิพลของงานพุทธศิลป์แบบ “พระศีลาวัดเชียงมั่น” ที่เป็นศิลปะแบบปาละเช่นกันมาสานต่อแต่อย่างใด

ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลก หากว่าพระศีลาองค์นี้เคยประทับอยู่ในนครหริภุญไชยมานานนมแล้วตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี (สมมุติเชื่อว่า คือพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ) หรือได้มาตั้งแต่สมัยพระญามังรายก็ดี สมัยพระเจ้าติโลกราชก็ดี (ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของพระศีลา มีการกล่าวแตกต่างกันไปหลายเวอร์ชั่น จักได้วิเคราะห์เจาะลึกต่อในฉบับหน้า)

ฤๅการที่พระศีลาไม่มีบทบาทต่อรูปแบบศิลปะในล้านนา เป็นเพราะลีลา ท่วงท่า พุทธลักษณะ การจัดองค์ประกอบแบบนี้ ช่างล้านนาไม่ค่อยสันทัดนัก

ชาวล้านนาจึงรับคติของพระศีลามาแค่ “การใช้วัสดุหิน” แกะสลักพระพุทธรูป แล้วเรียกว่า “พระศีลา” เช่นเดียวกับความนิยมใช้ “หินผลึกควอตซ์สีขาว” แกะพระพุทธรูปจนกลายเป็นรูปแบบ “พระแก้วขาว” ที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกันในวัฒนธรรมล้านนา

พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคิรี จากแคว้นพิหาร ศิลปะปาละตอนต้น อายุราว พ.ศ.1393-1418 (ภาพจากเพจ Asian Art Museum online)
พระพุทธรูปแปดปาง นิยมมาในศิลปะปาละ ปางทรมานช้างนาฬาคิรี อยู่ที่แถวกลางด้านขวา หรือซ้ายมือพระพุทธรูปองค์กลางใหญ่ (ภาพจากเพจ Roots.sg)

ปางทรมานช้างนาฬาคิรี

1 ในพระพุทธรูป 8 ปาง

พระศีลาของวัดเชียงมั่น ไม่ใช่พระพุทธรูปแกะสลักแบบลอยตัว หากเป็นแบบนูนสูง และซ้ำไม่ได้ยืนตรงธรรมดา ทว่ากระทำปางพิเศษที่เรียกว่า “ปางทรมาน (โปรด) ช้างนาฬาคิรี”

อนึ่ง คำว่า “ทรมาน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไปเฆี่ยนตี ทำทารุณ แต่หมายถึงการปราบทิฐิของบุคคลผู้นั้นให้เข้าใจสัจธรรม

ตามพุทธประวัติ ช้างนาฬาคิรีเป็นช้างตกมันที่เทวทัตจัดการให้กินเหล้ามากถึง 16 กระออม (หน่วยตวงภาชนะในอดีต) จากนั้นส่งมาดักเส้นทางที่พระพุทธเจ้าจะต้องออกบิณฑบาตในทุกๆ เช้า หมายจะให้พุ่งชน แต่ด้วย “เมตตานุภาพ” อันสูงสุดของพระพุทธองค์ที่มีต่อสัตว์โลก ไม่เพียงแต่มวลมนุษย์ ทำให้ช้างตกมันยังต้องยอมยอบกายพ่ายแพ้

นายช่างศิลป์ของราชวงศ์ปาละได้กำหนดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อถึงเหตุการณ์นี้อย่างลงตัว ด้วยการให้พระพุทธองค์ยืนตรงกลาง ในท่าคล้ายกำลังเยื้องย่างเล็กน้อย การเอียงพระวรกายแบบเห็นเส้นโค้งรอบนอกชัดเช่นนี้ ทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์เรียกท่ายืนแบบ “ตริภังค์” (ตรี + ภวะ+ องค์) คือเอนสามส่วน จากบ่าเอนไปเอว จากบั้นเอวเอนแบบทิ้งสะโพก และจากเข่าเอนไปหาข้อเท้า

เส้นที่เกิดจาก S-Curves นี้ ชาวอินเดียรับอิทธิพลมาจากศิลปะกรีกอีกต่อหนึ่ง นำมาพัฒนาจนบรรลุขั้นสูงสุดในศิลปกรรมสมัยคุปตะ จากนั้นสมัยปาละก็รับสืบทอดมา

ช้างนาฬาคิรีถูกกำหนดให้ทิ้งตัวลงหมอบราบคาบแก้วอยู่ด้านขวาของพระพุทธเจ้า (จากภาพคือด้านซ้ายของเรา) พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ขวาแผ่รัศมีแห่งความเมตตาเหนือเศียรของช้าง มองจากประติมากรรมอินเดียชิ้นอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าพระศีลาวัดเชียงมั่น นำมาประกอบให้ดูกัน พบว่ารังสีรอบพระหัตถ์ขวานั้นเป็นรูปสิงห์หลายตัวกระจายเดินวน

ในขณะที่ด้านซ้ายของพระพุทธองค์มีพระอานนท์ อัครสาวกยืนถือไม้เท้า ปลายยอดไม้เท้าเป็นบ่วงวงกลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องอัฐบริขารที่ใช้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า อีกมือถือบาตร ตามพุทธประวัตินั้นกล่าวว่า พระอานนท์เตรียมปกป้องพระพุทธองค์อย่างเต็มที่ พร้อมจะออกหน้าพลีชีพเพื่อรักษาพระบรมศาสดาไว้ แต่พระพุทธองค์ทรงตรัสห้าม

การตีความปางทรมานช้างนาฬาคิรีนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่ง “การปราบทิฐิของสัตว์ดุร้ายให้เชื่องจนอ่อนโยนได้ ด้วยความรักความเมตตาอย่างสูงสุด”

พระพุทธรูปประทับยืนแบบตริภังค์อย่างเด่นชัดใต้ต้นโพธิ์ ยกฝ่าพระหัตถ์ขวาขึ้นทำปางประทานอภัย (เมื่อมองเราจะเห็นเป็นด้านซ้าย) ปางประทานอภัยพัฒนามาจากปางทรมานช้างนาฬาคิรี (ภาพจากเพจ Ashmolean-Eastern Art)

ปางทรมานช้างนาฬาคิรีนี้ถือเป็น 1 ในพระพุทธรูป 8 ปางของอินเดีย พบว่าสมัยปาละนิยมนำปางทั้ง 8 มาจัดวางในภาพเดียวกัน

4 ปางหลักที่เกิดขึ้นก่อนมีดังนี้

1 ปางประสูติ เริ่มจากใช้สัญลักษณ์รูปดอกบัว (ยุคที่ยังไม่ทำรูปเคารพ) ต่อมาทำรูปพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้ มีพระสิทธัตถะคลอดออกมาจากบริเวณสีข้าง

2 ปางตรัสรู้ธรรม เริ่มจากใช้ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ ต่อมาพัฒนามาเป็นปางมารวิชัย หรือซุ้มพุทธคยา

3 ปางประทานปฐมเทศนา เริ่มจากใช้รูปธรรมจักรกับกวางหมอบ หรือหากไม่เน้นว่าต้องเป็นการแสดงเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ครั้งแรกเท่านั้น ทว่าต้องการสื่อถึงการแสดงธรรมทั่วไป ให้ใช้แค่ธรรมจักร ไม่ต้องมีกวางหมอบ พัฒนามาเป็นปางวิตรรกะ (ยกพระหัตถ์ขึ้นสองข้าง จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวง วงหนึ่งหมายถึงธรรมจักร = ธรรมะจักเคลื่อนกงล้อไปไม่มีสิ้นสุด อีกมือหนึ่งทำเป็นวงคอยประคองกงล้อให้เคลื่อน)

4 ปางปรินิพพาน เริ่มจากใช้สัญลักษณ์รูปสถูป ต่อมาใช้ปางเอนพระวรกายแบบนอน จากนั้นพัฒนาไปเป็นปางไสยาสน์

อีก 4 ปางรองที่เพิ่มขึ้นให้ครบ 8 ประกอบด้วย

5 ปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากโปรดพุทธมารดา เหตุการณ์นี้ ทำให้แตกออกเป็นหลายปาง อาทิ ปางเปิดโลก และปางที่พระพุทธองค์ทรงประทับตอนกลางระหว่างพระอินทร์-พระพรหม ซึ่งมักถือฉัตรสัปทน บางครั้งมีบันไดแก้วพาดด้านหลัง ฯลฯ

6 ปางรับบาตรจากพญาวานรและพญาช้างที่ป่าเลไลยก์ ต่อมาพัฒนาไปเป็นปางประทานพร

7 ปางมยกปาฏิหาริย์ แสดงสิ่งต่างๆ เป็นคู่ๆ เพื่อปราบทิฐิพวกเดียรถีย์ ต่อมาพัฒนาไปเป็นพระสิบสอง พระสิบแปด เหวัชระ ฯลฯ ในรูปแบบปาฏิหาริย์ต่างๆ นิยมในกลุ่มพระพิมพ์ลำพูนสายมหายาน

8 ปางทรมานช้างนาฬาคิรี ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็นปางประทานอภัย

 

พระศีลาองค์ที่วัดเชียงมั่นนี้ถูกปิดทับด้วยทองคำเปลว ทำให้ไม่ทราบว่าองค์ข้างในทำจากหินสีอะไร

บ้างว่าหินชีสต์สีดำ บ้างว่าหินทรายสีแดง ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เป็นหินที่ได้รับความนิยมในศิลปะปาละทั้งคู่

สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อว่า ใครเป็นผู้นำเอาพระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคิรี ศิลปะอินเดียสมัยปาละ เข้ามายังแผ่นดินล้านนา เอามาได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่

และเหตุไฉนจึงมาประดิษฐานที่วัดเชียงมั่นแห่งนี้?