ศิลา โคมฉาย : สงครามกับความตาย

คอลัมน์แตกกอ-ต่อยอด

คงเป็นเดือนสิงหาคม ผมถึงเลือกเปิดหัว ร้องเพลง สันติภาพ ในคาราโอเกะ

นอกเหนือไปจากความรู้สึกอยากอวดคนคุ้นเคย ถึงความแข็งแรงของปอด ความสามารถเก็บลมไว้ในกระบังลม เพราะท่อนฮุกของเพลง โอ…สันติภาพ มีช่วงที่คาราวานลากยาวคำว่าสัน…จนเสียงกลายเป็นสาน…ยาวเหยียด ใช้ลมก้อนใหญ่

ผมอึดได้ในลมเดียวยาวพอกัน

เปิดหัวอุ่นเครื่อง ทำสมาธิ เพราะเพลงที่อยากร้องจริงๆ คือฮิโรชิมา

…ควันลอย ฟ้าแดง แสงจ้า ฝนดำทาบทารังสี ร่างกายหายวับกับที่

บัดนี้…บัดนี้ ไร้เมือง ไร้คน…

วันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม ระเบิดปรมาณู ถูกนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง

การแตกตัวของนิวเคลียสในอะตอม เกิดพลังงานมหาศาลถูกค้นพบ และนำมาสร้างระเบิดมหาประลัยที่โลกไม่เคยมีมา สังหารผู้คนในคราวเดียวนับหมื่น บาดเจ็บและเจ็บป่วยอีกนับแสน

และจะว่าไป บางเอกสารยังระบุว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม 1939 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เตือนให้ประธานาธิบดีทราบถึงอันตรายจากเยอรมนี และชิงตัดหน้าพัฒนาระเบิดปรมาณู

นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่พัฒนาสร้างอาวุธสำหรับสงคราม ในโครงการแมนฮัตตัน

ระเบิดปรมาณู ถูกทดลองครั้งแรกกลางทะเลทราย ที่อลาโมกอร์โด ในนิวเม็กซิโก เมื่อ 16 กรกฎาคม 1945 พบว่าเกิดแรงระเบิดพอๆ กับทีเอ็นที ขนาด 15,000 ตัน

โลกจึงกำเนิดทูตมรณะ

 

บางทีอาจเป็นด้วยผมเปิดไปพบเพลง I come and stand at every door ทั้งของวง The Byrds และเวอร์ชั่น Pete Seeger

เพลงกวีที่เขียนคำร้องโดย นาซิม ฮิกเมต

สิเหร่ ถอดความไว้อย่างชวนสะเทือนใจ

ฉันมาและยืนอยู่ตรงประตูทุกบาน แต่ไม่มีใครสามารถได้ยินฝีเท้าเงียบเชียบของฉัน

ฉันเคาะ…แล้วยังไม่ถูกพบเห็น เพราะฉันตายไปแล้ว

ฉันมีอายุเพียงเจ็ดขวบ แม้ว่าฉันจะตายในฮิโรชิมา นานมาแล้ว ขณะนี้ฉันมีอายุเจ็ดขวบ เหมือนช่วงนั้น

เมื่อเด็กๆ ตาย พวกเขาจะไม่เติบโตอีก

อันที่จริงผมควรจะร้องเพลงนี้ในเดือนสิงหาคม หากแต่ไร้ความสามารถ ทั้งมันไม่ใช่เพลงฟังเพื่อการผ่อนคลาย คำแปลเป็นบทกวีในเสียงเพลง ของสิเหร่ มีแต่จะสะทกสะเทือน

ฉันไม่ต้องการผลไม้ ฉันไม่ต้องการข้าว ฉันไม่ปรารถนาขนมหวาน หรือแม้เพียงขนมปัง

ฉันไม่ขอสิ่งใดเลยสำหรับตัวเอง

เพราะฉันตายไปแล้ว ฉันตายไปแล้ว…

นั่นล่ะ, ผมควรจะฝึกร้องเพลงนี้ แต่คงยากจะหาคนฟัง เพราะโลกก็ดูเหมือนจะเมินเฉย

สงครามจึงยังคงดำเนินไป

 

ในหนังสือเหตุการณ์สำคัญ ในศตวรรษที่ 20 ของ ธนู แก้วโอกาส สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ระบุว่า วันที่ 6 สิงหาคม 1945 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 ทะยานขึ้นจากเกาะติเนียน ในหมู่เกาะมาเรียนนา บรรทุกระเบิดร้ายมีเป้าหมายถล่มใส่ฮิโรชิมา

แรงระเบิดและความร้อนปานไฟนรก เกิดเปลวไฟลุกท่วมพื้นที่เกือบ 44 ตารางไมล์

สังหารชีวิตชาวญี่ปุ่น 7-8 หมื่นคน บาดเจ็บพิการกว่า 7 หมื่นคน

วันที่ 9 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ ครั้งนี้ทำลายล้างชีวิตชาวเมืองไปไม่น้อยกว่า 4 หมื่นคน

สิ่งก่อสร้างในพื้นที่ 1.8 ตารางไมล์ ถูกทำลายเรียบ

พิษภัยของมันส่งผลกระทบมหาศาล เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยตามมา สร้างความหายนะยาวนานบังเกิดแก่ผู้คน ให้จมอยู่ในทุกขเวทนา

กลายเป็นบาดแผลอัปยศ ต่ำทรามที่เกาะติดแน่นลึกในจิตใจ ทั้งผู้แพ้ และฝ่ายชนะ

 

หรือบางทีเดือนสิงหาคมของปีปัจจุบัน กับข่าวสารกรอบเล็กๆ จากหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม เสนอผลพวงของสงครามของวันนี้ ส่วนที่เป็นความตาย ทั้งในและนอกสนามรบ

ตายเพราะสงครามทำลายล้างลึกลงไปถึงสำนึกแห่งความเป็นคน

ทำให้ผมเลือกร้องบางเพลงในคาราโอเกะ

ข่าวสารบอกกล่าวถึง คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐ ได้นำเสนอเป็นรายงานในวารสารสาธารณสุขนานาชาติ ระบุว่า การฆ่าตัวตาย และการฆาตกรรม กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในตะวันออกกลาง และภูมิภาคใกล้เคียงที่เผชิญสภาวะสงครามความขัดแย้ง

ตัวเลขที่สำรวจศึกษาในปี 2558 การฆ่าตัวตาย การฆาตกรรม และการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงสงครามการสู้รบ เป็นเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนจำนวน 208,179 ราย

ในอาณาบริเวณฟากฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สงครามจึงเป็นความชั่วร้าย หายนะ ของความเป็นมนุษย์