เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2513 หลวงพ่อสาย อัคควังโส วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ

(ซ้าย) หลวงพ่อสาย อัคควังโส (ขวา) เหรียญหลวงพ่อสาย วัดท่าขนุน รุ่นแรกทอง

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2513

หลวงพ่อสาย อัคควังโส

วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ

 

“พระครูสุวรรณเสลาภรณ์” หรือ “หลวงพ่อสาย อัคควังโส” วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พระเกจิชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

เป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์

สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ รวมทั้งร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอยู่เสมอ

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูง คือ เหรียญรุ่นแรก

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2513 ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว สร้างเป็นเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง แบ่งออกเป็น 2 บล็อก คือ บล็อกนิยม และบล็อกเสริม สร้างประมาณ 1,000 เหรียญ

ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อสายครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (สาย)”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และมีอักขระภาษาไทย เขียนว่า “วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓”

นับเป็นเหรียญที่หายาก

 

มีนามเดิมว่า สาย ไกวัลศิลป์ เกิดวันอาทิตย์แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2457 ที่ ต.หลานหลวง เขตนางเลิ้ง กรุงเทพฯ บิดา-มารดาชื่อ นายเพิ่มและนางจันทร์ โกวัลศิลป์

ช่วงวัยเยาว์ บิดา-มารดาส่งเสียให้เรียนจนจบชั้น ม.8 และเข้ารับราชการในการรถไฟ จนเมื่อปี พ.ศ.2457 ขณะนั้นอายุย่าง 32 ปี ขณะที่ยังรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่การรถไฟ ป่วยเป็นฝีประคำขึ้นรอบคอ ได้รักษาตัวโดยหมอแผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ไม่หาย

จึงเข้ากราบมอบตัวเป็นศิษย์ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ท่านเมตตารักษาจนหายขาด

อันเป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา จึงขอบวชเป็นพระภิกษุ

เข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2488 ที่พัทธสีมาวัดเขาทอง ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีพระครูนิรันตสีลคุณ เจ้าอาวาสวัดเขาทอง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์น้อย วัดหนองโพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ไชย วัดเขาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า อัคควังโส

 

จากนั้นย้ายมาจำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมจากหลวงพ่อเดิม ที่วัดหนองบัว เป็นเวลา 5 พรรษา จนเมื่อหลวงพ่อเดิมมรณภาพลงในปี พ.ศ.2494 จึงออกเดินธุดงค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำหรับวัดท่าขนุน ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในสมัยนั้นมีหลวงปู่พุก อุตตมปาโล ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวมอญ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บุกเบิกสร้างวัดและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 1 ของวัดท่าขนุน จนท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ.2472

ต่อมาหลวงปู่เต๊อะเน็ง โอภาโส พื้นเพเป็นชาวพม่า ได้รับเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดท่าขนุนจนถึงปี พ.ศ.2494 ก่อนเดินทางกลับไปพม่า โดยไม่ได้กลับมาอีก

คณะสงฆ์ส่งพระภิกษุจากในเมืองกาญจน์มาช่วยดูแลวัดให้ แต่อยู่ได้ไม่นานก็หนีกลับไป เพราะทนไข้ป่าไม่ไหว

วัดท่าขนุนจึงกลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง

กระทั่งวันที่ 26 ธันวาคม 2495 หลวงพ่อสายเดินธุดงค์มาจากนครสวรรค์ ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ที่บริเวณวัดท่าขนุน ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส จึงให้การอุปัฏฐากเป็นอย่างดี จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2496 จึงได้ลาชาวบ้าน เดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า

ครั้นวันที่ 25 กรกฎาคม 2496 เดินธุดงค์กลับจากพม่ามาถึงวัดท่าขนุน และอยู่จำพรรษาอยู่จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2496 ชาวบ้านซึ่งนำโดยนายบุญธรรม นกเล็ก นิมนต์ให้อยู่ต่อเป็นเจ้าอาวาส

จึงแนะให้นายบุญธรรมนำคณะชาวบ้านไปกราบขอกับหลวงปู่น้อย เตชปุญโญ (พระครูนิพันธ์ธรรมคุต) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแล จากนั้นจึงลาชาวบ้านเดินทางกลับไปที่วัดหนองโพธิ์

 

หลังออกพรรษา พ.ศ.2497 นายบุญธรรมจึงนำศรัทธาชาวบ้านเดินทางไปนครสวรรค์กราบหลวงปู่น้อย เพื่อขอตัวหลวงปู่สายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะศรัทธาชาวบ้าน ถึงวัดท่าขนุนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2497 และเริ่มบูรณะวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระวิสุทธิรังษี (ดี พุทธโชติ) วัดเหนือ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตามหนังสือแต่งตั้งเลขที่ 1/2498 ลงวันที่ 1 มกราคม 2498

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2498 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ.2503 ได้รับเเต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตำบล

พ.ศ.2514 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสุวรรณเสลาภรณ์

ท่านร่วมกับชาวบ้านที่ศรัทธา ช่วยกันพัฒนาวัดท่าขนุนเรื่อยมาจนกลับมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์อีกวาระหนึ่ง จนได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ.2516 อีกด้วย

หลวงพ่อสายมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2535

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 47