เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / โลกต้องการปฏิรูป

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

โลกต้องการปฏิรูป

 

คนกินน้ำ ไม่เห็นต้นน้ำ

คนกินข้าว ไม่เห็นต้นข้าว

ถึงมีเงินเต็มกระเป๋า

ข้าวก็ไม่เต็มกระพุง

 

“ชิเตหน่า” หรือ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เอ่ยถ้อยคำนี้ขณะขับร้องเพลงปกากะญอ พลางดีดพิณเตหน่าบอกเล่าถึงความสำคัญของเผ่าชนผู้อยู่กับภูดอยพงไพร ทำไร่นาในลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ

ชิคือชื่อเรียกขานรับรู้ในแวดวงศิลปินเมืองเหนือ ถือพิณเตหน่าบรรเลงร่ายบทเพลงให้หมู่เฮาชาวเมืองได้รู้จักรับรู้ทั้งความคิดและวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่า

“พวกเราไม่ใช่เผ่าชนแปลกใหม่ไปจากผู้คนที่มากำหนดจำแนกพวกเราว่าเป็นเผ่าชนดังเรียกขานกันอยู่นี้ พวกเราเป็นคนดั้งเดิมของแผ่นดินเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่…”

ชิเคยเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกเมื่อได้ยินเรียกขานพวกเขาอย่างจำแนกเป็นชื่อ เช่น กะเหรี่ยง เสมือนเป็นชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย

ซึ่งที่แท้หมู่ชนพวกเขาต่างหากที่เกิด ที่มีอยู่ที่นี่มาก่อนมาตลอด

จากศิลปินเตหน่า ชิมุ่งสู่สถาบันการศึกษาโดยลำดับ กระทั่งสุดท้ายจบการศึกษาขั้นปริญญาเอกและรับราชการเป็นอาจารย์ดังกล่าวข้างต้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

 

เสียงเพลงและเสียงพิณของเขากับคำคมของเผ่าชนแห่งแผ่นดินดังยกมาข้างต้นนี้คือกังวานแห่งสัจธรรมที่สังคมโลกยุคใหม่ต้องฟัง

คนกินน้ำ ไม่เห็นต้นน้ำ

บอกอะไรกับเราและกับโลกหรือ

มันกำลังบอกถึงความพินาศของสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ก่อนที่สิ่งแวดล้อมจะแปรปรวนไปเองตามธรรมชาติ ดังศัพท์เรียก “โลกรวน” อยู่นี้

ผู้รู้เล่าว่า โลกตะวันตกนั้น ผู้คนต้องอยู่กับธรรมชาติโหด เช่น อากาศหนาวเย็น เป็นต้น จึงสร้างสรรค์ด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด กระทั่งธรรมชาติที่ถูกทำลายนั้นเองกลับมาเป็นภัยแก่ผู้คนดังวิกฤตภัยโลกวันนี้ เช่น การขาดแคลนทรัพยากรจนถึงภัยธรรมชาติ มหาวายุโหม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ

จนถึงภาวะโลกรวนวันนี้

ฝ่ายโลกตะวันออกนั้นให้ดูญี่ปุ่นเป็นบทเรียน ญี่ปุ่นเป็นเกาะ ประชากรนับร้อยล้านประสบภัยพิบัติไม่แพ้โลกตะวันตก แต่ชาวญี่ปุ่นยังเผชิญภัยอยู่ได้ด้วยใดหรือ

ศิลปะการใช้ชีวิตอยู่กับภัยพิบัติได้ของชาวญี่ปุ่นคือการอยู่อย่าง “เป็นอันหนึ่งอันเดียว” กับธรรมชาติ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่มีวินัยและยกย่องความงามในธรรมชาติ ในศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเอง

ญี่ปุ่นรู้จักใช้ที่จำกัดโดยไม่รู้สึกถูกจำกัด

โรงแรมในญี่ปุ่นมีห้องแคบแต่ดูกว้างพอดีอยู่ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดเลย

พิธีชงชาของญี่ปุ่นเป็นการปฏิบัติธรรมคือการเข้าถึงความรู้สึกในตัวตนของตนอย่างลึกซึ้ง ประณีต ละเอียดอ่อน ดึงใจเราให้สงบอยู่จำเพาะ “ผัสสะ” คือตาหูจมูกลิ้นกายของเรานี้เอง

 

เคยไปร่วมงานอาหารที่เมืองคิตะคิวชู เบื้องหน้าเรามีถ้วยเล็กๆ ในถ้วยมีปลาสองชิ้นกับผักสองสามใบและตะเกียบ ประสาเราคนไทยก็รีบจะกินด้วยอารามหิว แต่

ฟังก่อน เขาเริ่มอธิบายเรื่องราวของผักปลาถ้วยน้อยว่า เนื้อปลานี้มาจากปลาในทะเลหาดพันเสื่อ (เสื่อญี่ปุ่นเรียกตาตามิ ขนาดมาตรฐานใช้ปูห้อง) ผักนี้มาจากสวนบ้านเรา เช่นกันกับปลาที่มีเฉพาะฤดูนี้เท่านั้น

ฟังเล่าจนเรารู้สึกอร่อยแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้กิน

คิดถึงบ้านเราขึ้นมาทันที เราร่ำรวยอาหารสารพัด ผลไม้เปลี่ยนไปทุกฤดูเดือนจนเหมือนกินทิ้งกินขว้าง แค่ผัดไทยจานเดียว แกงเขียวหวานถ้วยเดียว ถ้าให้บอกเล่าแบบญี่ปุ่นรับรองว่ายืดยาวไม่จบไม่ทันกินแน่

แต่นี่คือเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เขาเห็นคุณค่าของธรรมชาติเป็นสำคัญ

นี่เป็นบทเรียนที่โลกถึงต้องเรียนรู้ถึงวิถีที่มนุษย์จะอยู่อย่างไรกับธรรมชาติ

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) เคยกล่าวว่า เมื่อใดคนเราเริ่มบอกว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นคนเริ่มแยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อม เห็นสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่ง ตัวเราเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งนี้เป็นสำนึกผิด ด้วยที่จริง

เรากับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนเดียวกัน

เราหายใจจากอากาศ อาหาร เสื้อผ้า ทั้งชีวิตเราเองนี่แหละล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ฉะนั้น วิถีถูกต้องของโลกวันนี้คือ

อยู่อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้น กินน้ำต้องเห็นต้นน้ำ กินข้าวต้องเห็นต้นข้าว เงินจะเต็มกระเป๋าหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือ “ข้าวเต็มกระบุง” แน่

วิถีใหม่ของโลกยุคใหม่ต้องตระหนักเรื่องนี้

การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่แค่ประเทศแล้ว แต่ต้องช่วยกันทุกประเทศ คือ

ปฏิรูปโลก

 

รากเหง้า

 

ลึกซึ้ง ในรากเหง้า

และเข้าใจ ปัจจุบัน

เลือกจริง ทิ้งเท็จพลัน

รู้เท่าทัน อนาคต

 

ต้นไม้ ต้องมีราก

คือรากแก้ว อันกำหนด

ลำต้น จะตรงคด

ก็เพราะราก แหละปรุงเป็น

 

ต่อยอด เป็นเรือนยอด

แลกิ่งกัาน ตระหง่านเห็น

ระบัดใบ ให้ร่มเย็น

ทั้งผลดอก ได้งอกงาม

 

ต้นไม้ ที่ไร้ราก

เป็นกาฝากเที่ยวฝากหนาม

เกาะเกี่ยว และเลี้ยวลาม

ไปตามขั้ว ที่พัวพัน

 

ลึกซึ้ง ในรากเหง้า

และเข้าใจ ในปัจจุบัน

เลือกจริง ทิ้งเท็จพลัน

รู้เท่าทัน อนาคต!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์