ลูกเสือไทย สู่สากลกับงานชุมนุมลูกเสือโลก/บทความพิเศษ วูดแบดจ์สองท่อน

บทความพิเศษ

วูดแบดจ์สองท่อน

 

ลูกเสือไทย

สู่สากลกับงานชุมนุมลูกเสือโลก

 

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (นายสุทิน แก้วพนา) เป็นกรรมการและเลขานุการ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงทุก 4 ปีตามวาระ

การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตามภารกิจ โดยผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเป็นประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย

ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายและประธานอนุกรรมการในคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ 5 ฝ่ายประกอบด้วย

1. ประธานผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายกลั่นกรองกฎหมาย คือ นายธงทอง จันทรางศุ

2. ประธานผู้ตรวจการฝ่ายต่างประเทศ คือ นายสมบูรณ์ บุญศิริ

3. ประธานผู้ตรวจการฝ่ายพัฒนาบุคลากร คือ นายคงศักดิ์ เจริญรักษ์

4. ประธานผู้ตรวจการฝ่ายจัดการทรัพย์สิน คือ นายเสฎฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์

5. ประธานผู้ตรวจการฝ่ายพัฒนาค่ายลูกเสือ คือ นายอมร ชุมศรี

คณะอนุกรรมการแต่ละชุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้แต่งตั้ง มีความสำคัญในตัวเอง อาทิ อำนาจหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ คือ

1. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ

2. ส่งเสริมเยาวชนได้เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือในระดับนานาชาติ

3. ดำเนินการตามมติหรือข้อตกลงระหว่างลูกเสือนานาชาติ

4. ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย

 

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ ประกอบด้วย

1. นายสมบุญ บุญสิริ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ

2. อนุกรรมการ 15 คน คือ นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร นายคงศักดิ์ เจริญรักษ์ นายเสฎฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ นายอรรถ แสงจิตต์ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล นางสาลีวรรรณ กาญจนจารี นายศักดิ์ชัย ยอดวานิช นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ นายวัลลพ สงวนนาม น.ส.อัจฉรา สากระจาย นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นางเบญจางค์ ถิ่นธานี น.ส.วรรยดา บุตรานนท์ อนุกรรมการ

3. น.ส.ศกลวรรณ เปลี่ยนขำ อนุกรรมการและเลขานุการ

4. นายอดุลย์รัตน์ นิ่มเจริญ และ น.ส.อรวรรณ พุ่มอุสิต ผู้ช่วยเลขานุการ

5. นางพิชญา นัยนิตย์ ศึกษาธิการ ชำนาญการพิเศษ ผู้เข้าร่วมประชุม

คณะอนุกรรมการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุมสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา อำเภอศรีราชา ชลบุรี มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 25 ณ ประเทศเกาหลี และเรื่องอื่นๆ

อาทิ การชำระค่าบำรุงลูกเสือโลก พ.ศ.2564-2565 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นเงิน 136,331 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,533,005 บาท)

รายงานผลการดำเนินงานของฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ประจำปี 2563-2564 จากสถานการณ์โควิด-19 สำนักงานลูกเสือโลกจึงประกาศให้ประเทศเจ้าภาพที่ดำเนินกิจกรรมให้เลื่อนกำหนดการ อันส่งผลให้ประเทศเจ้าภาพจัดงานชุมนุมในแต่ละระดับ การฝีกอบรม การประชุมสมัชชา ต้องเลื่อนกำหนดการ และยกเลิกบางกิจกรรม ทั้งการประชุมส่วนใหญ่ที่ยังต้องดำเนินการใช้ระบบออนไลน์โดยการ Zoom เป็นหลัก ประเทศไทยได้ดำเนินการตามตามนโยบายในห้วงปี 2563-2564 รวม 18 งาน

งบประมาณประจำปีของฝ่ายวิเทศสัมพันธ์จากโครงการที่นำเสนอในการดำเนินงานช่วงปี 2565-2566 อาทิ โครงการยกระดับลูกเสือไทยสู่สากล ที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ศรีราชา เป็นเงิน 700,000 บาท งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 25 ประเทศเกาหลี ในปี 2566 เป็นเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นรายการหลักของการชุมนุมลูกเสือโลก

 

การชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 25 สำนักงานลูกเสือโลก มอบหมายให้ประเทศเกาหลี ณ เมืองแชมังกึม จังหวัดจอลลาบุกโด เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2566 จากประเทศทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษา เชื้อชาติ และกิจกรรมแปลกใหม่ จึงขอเชิญชวนลูกเสือ เนตรนารี อายุระหว่าง 12-17 ปี และบุคลากรทางการลูกเสืออายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคเข้าร่วมชุมนุมภายใต้คำขวัญ “Imagine You Dream”

ก่อนหน้านั้นเพื่อเตรียมความพร้อม จึงมีการจัดชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 15 โดยเชิญชวนลูกเสือเข้าร่วมงานเสมือนจริงเพื่อทดสอบสภาพค่าย สาธารณูปโภค และการรับรองการเดินทางเข้าร่วมงานชุมนุมประมาณ 30,000 คน ที่ค่ายงานชุมนุมลูกเสือโลกวันที่ 2-7 สิงหาคม 2565

การนี้ กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติฝ่ายต่างประเทศมีมติจัดส่งลูกเสือไทยและผู้กำกับเข้าร่วมงานจำนวน 150 คน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ และให้ลูกเสือได้เข้าร่วมกิจกรรมกับลูกเสือในต่างประเทศ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เยาวชนสื่อสารภาษาต่างประเทศและมีเพื่อนต่างแดนผ่านกระบวนการลูกเสือ

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมติดต่อฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-3819-0796 อีเมล : [email protected]

 

ก่อนหน้านี้มีการประชุมออนไลน์เตรียมการ ประเทศไทยจัดส่งหัวหน้าคณะผู้แทนลูกเสือไทยและคณะทำงานเข้าร่วมประชุมรวม 8 คน คือ ดร.สุทิน แก้วพนา เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดร.สมบูรณ์ บุญศิริ ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ ดร.อรรถ แสงจิตต์ กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ นายเสฎฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ดร.อัจฉรา สากระจาย ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ นางเบญจางค์ ถิ่นธานี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ น.ส.สกลวรรณ เปลี่ยนขำ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาลูกเสือและบุคลากาทางการลูกเสือ และนายอดุลย์รัตน์ นิ่มเจริญ นักวิชาการศึกษา ชำนาญการ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศมอบหมายให้ ดร.อรรถ แสงจิตต์ เป็นผู้ดำเนินการประกาศเชิญชวนสถานศึกษาที่มีความประสงค์จะจัดส่งนักเรียนในสังกัดเข้าร่วมชุมนุมชุมนุมลูกเสือโลก โดยงบประมาณของผู้ประสงค์เข้าร่วมงาน

และต้องส่งรายชื่อภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้

 

ลูกเสือไทยคือคณะลูกเสือแห่งชาติ เป็นสมาชิกของสำนักงานลูกเสือโลกเมื่อ ปี 2465 ขณะนั้นมีสมาชิกทั้งสิ้น 31 ประเทศ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรกและเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของลูกเสือโลก หลังจากจัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยนายสวัสดิ์ สุมิตร เป็นหัวหน้าคณะ

ต่อมา กรรมการลูกเสือโลกได้จัดตั้งสำนักงานเขตตะวันออกไกล เมื่อ ปี 2499 ขณะนั้นมีสมาชิกเพียง 10 ประเทศ รวมประเทศไทย เมื่อขยายตัวมีประเทศสมาชิกเพิ่มเป็น 18 ประเทศจึงเปลี่ยนชื่อจากเขตตะวันออกไกลเป็นเขตเอเชีย-แปซิฟิก มีสมาชิกเพิ่มเป็น 29 ประเทศ

ปี 2561 มีประชุมสมัชชาลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ที่ตั้งสำนักงานลูกเสือภาคฟื้นเอเชีย-แปซิฟิก ดร.สมบูรณ์ บุญศิริ ได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมการลูกเสือเอเชีย-แปซิฟิก คนที่สอง

เนื่องจากสภาลูกเสือไทยเป็นสมาชิกองค์การลูกเสือโลก จึงต้องพัฒนาลูกเสือและเนตรนารีให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในด้านลูกเสือไทยและสากล เพื่อให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ โดยมีบุคลากรทางการลูกเสือที่มีคุณภาพและความสามารถทั้งในฐานะวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ และเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกเสือ เนตรนารี เข้าร่วมการประชุมและงานชุมนุมในระดับนานาชาติ

การนี้ นอกจากต้องจัดทำคู่มือภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ในระดับนานาชาติ ยังต้องพัฒนาลูกเสือไทยให้มีความรู้ ความสามารถ และมีความพร้อมในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และพัฒนากิจการลูกเสือร่วมกับประเทศสมาชิกโลก และเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกเสือไทยมีบทบาทและส่วนร่วมในกิจการลูกเสือไทยและนานาชาติ ให้ลูกเสือไทยเกิดความท้าทายในการพัฒนาตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ รู้จักแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก

ให้ลูกเสือไทยเป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างแพร่หลายในวงการลูกเสือสากล มีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นผู้ขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในอนาคต

 

โครงการหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ คือเตรียมการสำหรับงานชุมนุมลูกเสือ ครั้งที่ 25 ดังกล่าว มีเป้าหมายให้ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ลูกเสือ และเนตรนารีจำนวน 90 คนมีโอกาสเข้าร่วมชุมนุม ระยะเวลาตั้งแต่ 1-12 สิงหาคม 2566 โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจัดงบประมาณให้ 10,000,000 บาท

นอกจากงบประมาณจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายส่วนตัว ทางผู้จัดจะดำเนินการเรื่องค่าที่พักและค่าอาหาร

การร่วมงานกับลูกเสือโลกเป็นกิจกรรมของคณะอนุกรรมการลูกเสือโลกฝ่ายต่างประเทศโดยตรง ผู้ตรวจการฝ่ายต่างประเทศคือผู้ที่ต้องไปร่วมการประชุมและร่วมงานเกี่ยวกับกิจกรรมลูกเสือโลกทั้งในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศและผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศระหว่างอยู่ในวาระ

นอกจากนั้น ลูกเสือไทย คือ ดร.อรรถ แสงจิตต์ กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ยังเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการลูกเสือโลก และอนุกรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กรและประสานงานสมาชิกประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ค.ศ.2018-2022 ด้วย

อนึ่ง สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ย้ายที่ทำการจากที่เดิม อาคารวชิราวุธ ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งเดิม ด้วยสัญญาเช่าที่ดินระหว่างสำนักงานลูกเสือแห่งชาติกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ไปอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เลขที่ 60/38 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สำนักงานลูกเสือแหงชาติทำพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีบวงสรวงเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2564 ครบรอบปีที่ 110 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และเชิญธงคณะลูกเสือแห่งชาติกับพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์มาประดิษฐาน ณ สำนักงานลูกเสือแห่งใหม่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเป็นประธานในพิธี