‘ธงทองของเยอะ’ พ่อค้าซื้อ-ขายออนไลน์ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ขณะที่เขียนบทความเรื่องนี้ อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่เรียกชื่อด้วยความคุ้นเคยโดยย่อว่า อบต. จำนวนหลายพันแห่งทั่วทั้งประเทศ

ข่าวโทรทัศน์เมื่อตอนหัวค่ำรายงานว่า การหาเสียงกำลังเป็นไปอย่างตื่นเต้น

พร้อมกับมีข้อสังเกตว่าผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยเป็นคนสูงวัย คือมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่จำนวนประมาณร้อยละ 20 ของประชากรในพื้นที่ บางจังหวัดเช่นที่ลำปาง จำนวนผู้สูงอายุกระโดดขึ้นไปถึงร้อยละ 24 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

การหาเสียงของผู้สมัครจึงต้องเอาอกเอาใจประชากรอาวุโสเหล่านี้ให้จงดี

เพราะอาจจะเป็นคะแนนชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นสมาชิก อบต.ก็เป็นได้

นับวันสังคมไทยก็เป็นสังคมของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สรรพสิ่งในสังคมก็ต้องแปรเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตปัจจุบันด้วย

สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องการประชุมออนไลน์ วันนี้เรามาพูดถึงเรื่องการซื้อของออนไลน์บ้างดีไหมครับ

เอาตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คนแก่ที่ชอบซื้อของออนไลน์ที่อยู่ใกล้ตัวผมมากที่สุดไม่ใช่ใครอื่นเลย ส่องกระจกดูหน้าตัวเองตอนเช้าก็ได้พบเห็นกันทุกวัน พูดแล้วจะหาว่าคุย ผมเป็นชายชราที่ขยันซื้อของออนไลน์บ่อยครั้งที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

สินค้าที่ผมซื้อเป็นประจำมีสองหมวดใหญ่ ถ้าไม่เป็นอาหารก็เป็นหนังสือครับ

เรื่องซื้ออาหารนี้เป็นโรคติดต่อเรื้อรังมาตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มต้นโรคระบาดโควิดเมื่อต้นปีก่อน พวกเราคงจำได้ว่าอยู่ดีๆ เราก็จำเป็นต้องหยุดอยู่กับบ้าน จะออกไปทำงานหรือไปกินไปเที่ยวอย่างปกติไม่ได้ต่อไป แล้วหยุดอยู่กับบ้านจะกินอะไรล่ะครับ

ทันใดนั้นการซื้ออาหารออนไลน์ก็โผล่มาให้เห็น

ช่องทางที่ผมรับข้อมูลข่าวสารเป็นประจำคือ Facebook มีสารพัดร้านสารพัดช่องทางที่ผมสมัครเป็นสมาชิกเพื่อติดตามข่าวสาร

ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มที่ชื่อว่า จุฬามาร์เก็ตเพลส ซึ่งมีสมาชิกเป็นศิษย์เก่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือเครือข่ายจำนวนนับแสน

แรกทีเดียวผมก็เป็นคนซื้อครับ จำได้ว่าไปซื้อขนมปังกรอบอบเนยของรุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ท่านหนึ่ง

ซื้อเสร็จยังไม่พอ ผมเองเอามาตีฆ้องร้องป่าวใน Facebook ของผมซ้ำเติมเข้าไปอีก

เลยเดือดร้อนคุณพี่ท่านที่ว่าต้องทำขนมปังกรอบอบเนยมือเป็นระวิงนานหลายเดือนกว่าจะส่งได้ครบตามจำนวนที่มีคนสั่งจองมา

 

เป็นคนซื้อออนไลน์สนุกมากแล้ว ผมก็คืบหน้าไปเป็นคนขายออนไลน์บ้าง

สติปัญญาอย่างผมขายอาหารเห็นจะไม่สำเร็จเป็นแน่

ผมหรือจะขายอะไรได้นอกจากขายหนังสือ

ตลอดเดือนเมษายนพุทธศักราช 2563 ที่หยุดอยู่กับบ้านดังกล่าวมาข้างต้น ผมหยิบสิ่งละอันพันละน้อยในบ้านมาเขียนอธิบายขยายความสำเร็จเป็นหนังสือหนึ่งเรื่อง ใช้ชื่อว่า “ธงทองของเยอะ”

หนังสือเล่มนี้เองที่ผมขายออนไลน์ โดยใช้วิธีบอกข่าวใน Facebook ของผมบ้าง และไปแปะข่าวไว้ในจุฬามาร์เก็ตเพลสด้วย ปรากฏว่าได้ผลดีพอสมควรเลยครับ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเวลานั้น คือ การบอกกับตัวเองว่าชีวิตวัย 60 ปีเศษและได้เรียนรู้การอยู่กับโลกสมัยใหม่ ทั้งซื้อของออนไลน์และขายของออนไลน์ ต้องถือเป็นความสำเร็จหรือเป็นหมุดหมายอย่างหนึ่งของการปรับตัวที่มีนัยยะสำคัญของผมเอง

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน การซื้อ-ขายอาหารออนไลน์สำหรับผมนั้นทุเลาลงไปบ้างแล้ว เพราะสามารถเดินทางไปโน่นไปนี่ได้ตามสมควร

แต่ทุกสัปดาห์ก็ยังซื้อของออนไลน์ครับ ของที่ซื้อบ่อยที่สุดช่วงนี้คือหนังสือ ทั้งหนังสือที่พิมพ์ใหม่เพิ่งเสร็จสดๆ ร้อนๆ หรือเป็นหนังสือมือสอง แต่มีเนื้อหาถูกใจ สินค้าแบบนี้ก็ตกเป็นเหยื่อของผมเหมือนกัน

 

เมื่อกี้นี้เองก็เพิ่งซื้อหนังสือไปหนึ่งเล่มครับ เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่ง

งานของท่านผ่านไปหลายเดือนแล้ว ผมเองยังนึกเสียดายว่าไม่ได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของท่านได้แต่ไปฟังสวดพระอภิธรรม ทำอย่างไรหนอถึงจะได้อ่านหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน

ประหนึ่งว่า Facebook อ่านดวงจิตของผมได้ แป๊บเดียวหนังสือที่ว่านี้ก็มาปรากฏร่างอยู่ใน Facebook แล้วครับ มีผู้มาบอกขายราคาเล่มละ 300 บาท บวกค่าส่งอีก 30 บาทรวมเป็น 330 บาท

หลังจากสอบถามราคาและขอหมายเลขบัญชีเพื่อโอนเงินแล้ว ผมก็นั่งจิ้มนิ้วชี้ลงบนหน้าจอโทรศัพท์ของผม อึดใจเดียวเงิน 330 บาทก็ถูกหักออกจากบัญชีของผมและย้ายไปปรากฏตัวอยู่ในบัญชีของคุณผู้ขายแล้ว

จากนั้นผมก็นำหลักฐานการโอนเงินที่ปรากฏเป็นภาพอยู่ในโทรศัพท์ของผมส่งเป็นข้อความตรงไปหาคุณคนขาย พร้อมแจ้งตำบลที่อยู่สำหรับส่งหนังสือมาทางไปรษณีย์

อีกไม่เกินสองวัน เชื่อแน่ว่าหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเล่มนั้นก็จะมาอยู่ในเงื้อมมือของผม

ขณะที่ผมนั่งโอนเงินอยู่นั้น บังเอิญมีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกันมานั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน พอโอนเงินซื้อหนังสือเสร็จ ผมก็เงยหน้าขึ้นบอกเขาว่า ผมซื้อหนังสือเสร็จไปอีกหนึ่งเล่มแล้ว

รุ่นน้องผู้นั่งชมเหตุการณ์ปรารภขึ้นว่า อาการที่ผมแจ้งเขาว่าซื้อหนังสือเสร็จแล้วหนึ่งเล่มนั้น แฝงไว้ด้วยความยินดีปรีดาปราโมทย์ว่าตัวเองได้ทำกิจกรรมสำคัญสำเร็จไปอย่างหนึ่ง ด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร

ตาเป็นประกายเชียวล่ะ

เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเขาหลายคนเล่าสู่กันฟังว่า คุณพ่อและคุณแม่ของแต่ละคนนั่งเหงาอยู่กับบ้าน แต่ละวันก็นั่งดูโทรทัศน์ไปเรื่อย เห็นใครบอกขายสินค้าอะไรในทีวีก็รีบยกโทรศัพท์มือถือที่มีประจำกายไปสั่งซื้อ

ก็เห็นบอกว่าถ้าโทร.มาภายในครึ่งชั่วโมงนี้จะได้ราคาพิเศษอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วจะหักห้ามใจไหวได้อย่างไร

ของดีราคาถูกมีอยู่จริงในโทรทัศน์ ฮา!

ข้อวิเคราะห์จากคนเป็นลูกเป็นหลานก็แบบเดียวกันกับที่รุ่นน้องวิเคราะห์ผมสั่งซื้อหนังสือเลยครับ

เขาสังเกตเห็นแววตาปลื้มปริ่มอยู่ในลักษณะอาการของคุณพ่อคุณแม่ที่ซื้อของจากรายการทีวีไดเร็กได้สำเร็จ

“เห็นไหมฉันซื้อของจากทีวีก็ได้ ซื้อของออนไลน์ก็ได้ อย่าได้คิดมาดูแคลนกันเป็นอันขาดเลยทีเดียว”

Digital wardrobe on a transparent screen

การสั่งซื้อของทางโทรศัพท์ก็ดี การสั่งซื้อของทางระบบออนไลน์ก็ดี จึงไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงแค่การอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าของผู้สูงวัยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้คุณลุงคุณป้า คุณย่าคุณยายได้มีความภาคภูมิใจว่า ตนยังเป็นที่พึ่งแห่งตน และยังเอาชีวิตรอดในยุคสมัยปัจจุบันได้โดยไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ในสังคมไทยที่มีผู้อาวุโสเพิ่มจำนวนมากขึ้น เราต้องหัดเรียนรู้ว่า ความต้องการของผู้อาวุโสนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยสี่หรือสิ่งที่จับต้องได้ด้วยมือ มองเห็นด้วยตาเท่านั้น

หากแต่ยังรวมตลอดไปถึง “ความรู้สึกที่อยู่ในใจ” อีกนานาความรู้สึก

ตั้งแต่ความมั่นใจในตัวเอง การเป็นที่ยอมรับของลูก-หลาน ความรู้สึกว่าตัวเองยังมีประโยชน์ และอีกหลากหลายความรู้สึก

ลูก-หลานและคนรอบข้างก็ต้องเข้าใจความต้องการเหล่านี้ และช่วยประคับประคองกันไป

แต่ก็นั่นแหละครับ ทุกอย่างก็ต้องมีขอบเขตที่พอเหมาะพอควร คนแก่ก็ต้องรู้จักตัวเองด้วยว่า ตัวเองมีสติปัญญาทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน

ถ้าจะให้ทุกคนช่วยประคับประคองคนชราเรื่อยไป แต่คนแก่บางคนขี้หงุดหงิดมาก ลูก-หลานขอร้องอะไรก็ไม่รับฟัง นึกว่าตัวเองยังเก่งเหมือนสมัยเมื่อตอนเป็นหนุ่มๆ

พบอย่างนี้นานวันนานปีเข้า ลูก-หลานก็อึดอัด

คนรุ่นเดียวกันก็อึดอัด

เราจะทำอย่างไรกันดีล่ะครับ