สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (7) ฟังครูเขมร จัดการห้องเรียน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

Show and Share ต่อไปเป็นคิวของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากประเทศกัมพูชา ครู Tauch Bandaul ครูระดับชั้นประถมศึกษาโรงเรียนวัดบ่อ จังหวัดเสียมเรียบ หัวข้อ “การจัดการห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก”

เธอเริ่มด้วยการขอให้ผู้เข้าฟังนั่งสมาธิ เป็นเวลา 1 นาที เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับฟัง

ก่อนเข้ากิจกรรมด้วยคำถามว่า “คุณครูทุกท่านเคยสอนนักเรียนมากถึง 75 คนหรือไม่”

และ “ทำอย่างไรให้นักเรียนทั้ง 75 คนไม่สอบตก”

ครู Tauch แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สามารถจัดการเรียนการสอนสำหรับห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากได้สำเร็จ

หลักการสำคัญคือ การเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการจัดกิจกรรมให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ มีการเคลื่อนไหว และกล้าแสดงออก

เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในทุกๆ กิจกรรม เช่น การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ การตั้งกติกาในชั้นเรียน ประกอบกับการเสริมแรงอย่างเหมาะสมจากครูผู้สอน

บริหารจัดการเวลาในการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม

ใช้สื่อการสอนที่เป็นของจริงและสอดคล้องกับบริบทชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่ และอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน

เช่น รายวิชาวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนนำตัวอย่างพืชชนิดต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนมาศึกษาและลงพื้นที่สำรวจสิ่งมีชีวิตในบริเวณโรงเรียน

รายวิชาคอมพิวเตอร์ นักเรียนสืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อ 1 คน

รายวิชาดนตรี จัดทำสื่อจำลอง เช่น คีย์บอร์ดกระดาน เป็นต้น

บรรยากาศในชั้นเรียนครูเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม

ครูเป็นแบบอย่างสร้างความมั่นใจว่านักเรียนทุกคนรวมถึงกลุ่มที่มีพัฒนาการช้าสามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการผ่อนคลายและดึงดูดความสนใจของนักเรียนไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายด้วยกิจกรรมนันทนาการภายในห้องเรียน

 

“ความท้าทายของการจัดการชั้นเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านครูผู้สอน ได้แก่

1. การจัดการชั้นเรียน ครูจำเป็นต้องใช้เทคนิคหลายอย่างในการจัดการห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก

2. อุปสรรคจากสิ่งรบกวนในห้องเรียน เช่น การส่งเสียงดัง ห้องเรียนมีขนาดเล็กแต่จำนวนนักเรียนมากจึงทำให้ผลการเรียนต่ำลง และครูต้องใช้เสียงดังขึ้น

3. นักเรียนที่มีพื้นฐานหลากหลาย ทำให้ยากต่อการดูแลนักเรียนที่มีพัฒนาการช้าหรือต้องการความช่วยเหลือพิเศษ

และ 4. การใช้สื่อการสอนจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้งบประมาณและเวลาที่มากขึ้นในการเตรียมสื่อ”

ความท้าทายด้านผู้เรียน ได้แก่

1. ขนาดชั้นเรียนที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนเกิดความเครียดในการเรียน ยากต่อการเคลื่อนไหว และเป็นอุปสรรคสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาและการได้ยิน

และ 2. เสียงรบกวนจากเพื่อนร่วมชั้น ทำให้นักเรียนให้ความสนใจเรียนน้อย รวมถึงบรรยากาศอื่นๆ ทำให้ไม่อยากมาโรงเรียน

“วิธีที่ครู Tauch นำมาใช้ในการจัดการกับประเด็นความท้าทายข้างต้น” เธอเล่าตามลำดับ

 

การจัดการชั้นเรียนที่ดี ได้แก่

1. จัดบรรยากาศห้องเรียนให้น่าเรียน ส่งเสริมความสามัคคีในห้องเรียน ครูต้องปรับทัศนคติตนเองให้มีความอดทน และพยายามให้เต็มที่ มีการจัดมุมอ่านหนังสือภายในห้องเรียน

2. ทำความเข้าใจนักเรียนบนพื้นฐานที่หลากหลาย อาทิ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา เพื่อให้สามารถตอบสนองนักเรียนได้ตรงประเด็นความต้องการ

3. ส่งเสริมและคัดเลือกให้นักเรียนค้นพบตนเอง และรู้จักการแบ่งหน้าที่ในการดูแลห้องเรียน เช่น การเลือกหัวหน้าห้องและตัวแทนนักเรียนเพื่อช่วยครูดูแลเพื่อนๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน

4. แบ่งกลุ่มในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทำความสะอาดในแต่ละวัน มีการให้รางวัลเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

5. ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างกติกาในชั้นเรียนว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

6. การสื่อสารที่ดีและต่อเนื่องกับผู้ปกครองของนักเรียน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ การติดต่อโดยตรงจากการเชิญเข้าพบที่โรงเรียน การติดต่อทางโทรศัพท์หรือการเขียนจดหมาย รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook เพื่อทำความเข้าใจกับนักเรียนในบริบทที่บ้านได้มากขึ้น อาทิ ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของนักเรียนขณะอยู่ที่บ้าน รวมทั้งการแนะนำแนวทางในการเพิ่มผลการเรียนของนักเรียน

 

การนำเทคนิคที่เหมาะมาใช้ ได้แก่

1. สร้างคุณลักษณะที่ดีผ่านการจัดกิจวัตรประจำวันเพื่อให้นักเรียนเกิดความเคยชิน ทราบถึงภาระหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งสิ่งที่ต้องเตรียม (อุปกรณ์ ความรู้) ในการเรียนแต่ละครั้ง

2. ประเมินผลผู้เรียนทั้งก่อนและหลัง โดยทำการทดสอบเพื่อแยกนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ว่านักเรียนแต่ละคนมีปัญหากับทักษะใดบ้าง เช่น ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาเขมร และทักษะทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต ระบบจำนวน และพีชคณิต) เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนได้อย่างเหมาะสมตลอดกระบวนการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนที่ได้รับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น แต่ยังไม่มีการพัฒนา จะมีระบบการเรียนเสริมในแต่ละวัน

3. จัดเตรียมสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนในแต่ละวันให้พร้อมกับกิจกรรม เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมทั้งการนำสื่อมาจากบ้านซึ่งเป็นการสร้างความสนใจและความเข้าใจในการเรียนรู้ให้นักเรียนมากขึ้น

4. มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่งของนักเรียนในทุกๆ เดือน เช่น นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ(หูตึง สายตาสั้น) ได้นั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม อีกทั้งนักเรียนได้มีโอกาสทำความรู้จักและสนิทกับเพื่อนในห้องมากยิ่งขึ้น

5. การบริหารจัดการเวลาในการทำกิจกรรม ครูกำหนดเวลาให้ชัดเจนและเหมาะสม เช่น กิจกรรมนอกสถานที่ควรให้เวลาในการทำกิจกรรมมากขึ้น

6. การนำท่าทางภาษากาย มาใช้ช่วยแก้ปัญหากรณีห้องเรียนเกิดการส่งเสียงดัง ครูจะเลือกใช้วิธีการเงียบและปรบมือ 3 ครั้ง

7. ครูใช้การสังเกตนักเรียนที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาขณะเรียน จากนั้นซักถามเพื่อความแน่ใจว่านักเรียนเข้าใจดีหรือไม่

 

ประสบการณ์ของครู Tauch แสดงให้เห็นว่า ห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากครูจำเป็นต้องใช้พลังแรงกาย สติปัญญาในการจัดการเรียนการสอนให้เต็มที่

ซึ่งผลลัพธ์จากการจัดการชั้นเรียนที่ดีจะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ปัจจัยในการส่งเสริมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับครูเพียงคนเดียว ผู้ปกครองล้วนมีส่วนสำคัญเช่นกันในการสร้างกำลังใจและกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน

“ในฐานะที่ครูเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนห้องเรียน ครูจึงต้องรักนักเรียนให้เหมือนกับครอบครัวเดียวกัน รักอาชีพ และทำด้วยใจจริง”

เธอทิ้งท้ายได้อย่างน่าประทับใจ