วิกฤติศตวรรษที่21 : การตอบโต้ที่รุนแรง รวดเร็ว และคาดไม่ถึงของสหรัฐ

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (29)

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐเปลี่ยนจากขั้นรุกมาเป็นขั้นยัน เนื่องจากการรุกเข้าไปในพื้นที่มหาตะวันออกกลางล้มเหลว

การแผ่อิทธิพลเข้าไปในดินแดนที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต อย่างเช่น จอร์เจีย และยูเครนไม่เป็นผล จะถอยก็ไม่ได้เพราะอาจทำให้สูญเสียพื้นที่ยูเรเซียทั้งหมด จะรุกก็ไม่สำเร็จ จำต้องยันไว้ เพื่อรักษาสถานะเดิมของระเบียบโลกไว้ให้นานที่สุด

ความพยายามดังกล่าวพบได้ในการเพิ่มงบประมาณทางทหาร การเสนอการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ และความวุ่นวายภายในชนชั้นนำสหรัฐ ที่ขณะนี้เหมือนมีร่างกายเดียว แต่มีหัว 2 หัว ต่อสู้อย่างดุเดือดเพื่อแย่งกันครองร่างกาย

หัวทั้งสองนี้ หัวหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิม

อีกหัวหนึ่งเป็นทรัมป์กับพวก ต่างสร้างดาวคนละดวง

ทรัมป์กับพวก หรือลัทธิทรัมป์สร้างดาวที่เดินถอยหลัง ถือความยิ่งใหญ่ของอเมริกันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นสิ่งส่องทางว่าจะกลับมาเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลก เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ มีเงินดอลลาร์ที่ดีเท่ากับทองคำ มีอำนาจแห่งชาติและแสนยานุภาพเป็นที่ยำเกรงทั้งโลก

มีความฝันอเมริกันที่เป็นจริงว่า “ทุกโรงรถมีรถยนต์ ทุกหม้อมีไก่” แต่การหมุนเวลาย้อนหลังเป็นเรื่องยากยิ่ง ได้แก่ แหล่งน้ำมันแบบธรรมดาที่ขุดเจาะขึ้นมาง่าย ราคาถูกนั้น สหรัฐได้นำมาใช้ถึงจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 1970 ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่สหรัฐผลิตเพิ่มขึ้นปริมาณมากนั้นมาจากแหล่งที่ไม่ใช่ธรรมดา ต้องใช้เทคนิคสูง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทั้งแต่ละหลุมก็หมดไปอย่างรวดเร็ว

ในด้านอุตสาหกรรม ในครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อุตสาหกรรมในยุโรปถูกทำลายอย่างย่อยยับ ขณะที่อุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่งหลุดจากการเป็นอาณานิคมก็ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน

สหรัฐที่ไม่ได้รับพิษภัยสงคราม จึงมีฐานอุตสาหกรรมเหนือกว่าชาติใด

แต่ในไม่ช้าสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ได้ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ขยายตัวขึ้นเป็นอันมาก

แนวโน้มคือเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะมีสัดส่วนและเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น อุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้จักเติบใหญ่และเป็นคู่แข่งที่เอาชนะไม่ได้สำหรับสหรัฐ

ในด้านแสนยานุภาพ สหรัฐเผชิญกับการทำสงครามอสมมาตรและสงครามพันทางจากประเทศและกลุ่มต่ำกว่ารัฐที่ทำให้ต้องพ่ายแพ้ต่อเนื่อง

เงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ดีเหมือนทองคำตั้งแต่ปี 1971 และถูกแข่งขันจากเงินสกุลอื่น ได้แก่ ยูโรและเยน เป็นต้น ท้ายสุดได้แก่เงินหยวนของจีน

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟคนปัจจุบัน มีความเห็นว่า ในสิบปีข้างหน้าสำนักงานใหญ่ของไอเอ็มเอฟอาจย้ายไปตั้งที่กรุงปักกิ่ง (จากในกรุงวอชิงตัน สหรัฐ) ตามโครงสร้างสิทธิการออกเสียงถ้าหากเศรษฐกิจของจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อื่นๆ ยังรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้

ในด้านความฝันของชาวอเมริกัน ปรากฏว่าหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 เกิดการล่มสลายในชนชั้นกลางสหรัฐ มาตรฐานการครองชีพของคนกลุ่มนี้ลดลง

สําหรับกลุ่มอำนาจเดิมสหรัฐนั้น ยึดถือดาวที่เดินไปข้างหน้าอย่างทุลักทุเล

กล่าวคือ ลัทธิโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมที่กลุ่มนี้เชิดชูอยู่ประสบปัญหาอย่างทั่วด้าน ความทุลักทุเลของกลุ่มอำนาจเดิมสหรัฐแสดงออกสำคัญ ได้แก่ การเกิดทรัมป์และพวกขึ้นมาสวมตำแหน่งประธานาธิบดีได้

จากนี้จะเห็นได้ว่าหนทางเดินที่ถูกควรเป็นว่า ชนชั้นนำสหรัฐทิ้งเรือนร่างคือลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารลงไปเดินนโยบายสันติภาพหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิการปกครองตนเองและความยั่งยืน

แต่ในทางเป็นจริงกลับปฏิบัติหนักกว่าเดิม

กลางเดือนกรกฎาคม 2017 สภาผู้แทนฯ สหรัฐผ่านกฎหมายงบประมาณกระทรวงกลาโหมปีงบประมาณ 2018 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 696 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สูงกว่างบฯ ที่รัฐบาลทรัมป์เสนอไปเสียอีก

แต่การเพิ่มขึ้นทำให้เกินกฎข้อบังคับที่รัฐสภาสหรัฐตราไว้ตั้งแต่ปี 2011 ว่างบประมาณทางทหารจะต้องไม่เกิน 549 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็คงแก้ไข ได้ไม่ยาก เพราะว่ามติที่ให้ผ่านกฎหมายนี้มีลักษณะเห็นพ้องกันทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต

งบประมาณทางทหารของสหรัฐเคยขึ้นสูงในช่วงต้นสมัยประธานาธิบดีโอบามา แต่ก็ค่อยๆ ลดลงในเวลาต่อมา

ซึ่งทรัมป์โจมตีว่าเป็นการก่อ “ความหายนะ” และว่า พรรคเดโมแครตทำให้กองทัพ “อ่อนแอ” แต่ถึงกระนั้นงบประมาณทางทหารในปีสุดท้ายของโอบามาก็ยังมากกว่าประเทศที่มีงบประมาณทางทหารมากที่สุดรองลงมา 8 ประเทศรวมกัน

(ดูบทความของ Emily Shugerman ชื่อ House surpasses Trump”s “historic” proposal for military spending with massive defence bill ใน independent.cu.uk 14.07.2017)

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง มีรายงานชื่อ “ความรับผิดชอบของเรา” ของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาแห่งวิทยาลัย สงครามกองทัพบกสหรัฐเผยแพร่ให้เข้าอ่านได้เสรีในปลายเดือนมิถุนายน 2017

ความน่าสนใจของรายงานนี้ อยู่ที่การรวบรวมทัศนะและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงหลายสิบคนมีการสอบถามความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างกว้างขวาง และความร่วมมือจากสำนักคิดจำนวนมากในสหรัฐ ใช้เวลาศึกษาเกือบหนึ่งปีจากเดือนกรกฎาคม 2016

เนื้อหาของรายงานสรุปได้ดังนี้

1)สหรัฐเข้าสู่สถานการณ์ใหม่

คือช่วง “หลังสหรัฐเป็นที่หนึ่ง” (Post-U.S. Primacy) คำอธิบายโดยรวมก็คือ ระเบียบโลกที่สหรัฐจัดตั้งขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองกำลัง “ชำรุด” หรือ “ล่มสลาย” ไม่เพียงอำนาจของสหรัฐ เสื่อมทรุด อำนาจปกครองของรัฐบาลทั่วโลกก็เสื่อมลงด้วย

“เหตุการณ์โลกเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐแบบที่เป็นอยู่จะรับมือได้”

สหรัฐ “ไม่สามารถรักษาฐานะของการครอบงำ ความเหนือกว่า หรือความสำคัญก่อนอื่นอย่างที่เคยทำได้เมื่อกว่า 20 ปีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต”

กล่าวอย่างจำแนกสถานการณ์หลังสหรัฐเป็นที่หนึ่ง ประกอบด้วยลักษณะที่สัมพันธ์กัน 5 ประการดังนี้

ก) มีการเกี่ยวพันกันอย่างยิ่งของข่าวสารและการแปรข่าวสารเป็นอาวุธ ความรวดเร็วใช้เป็นเครื่องมือสังหารได้

ข) การแตกตัวอย่างรวดเร็วของสถานะเดิมหลังสงครามเย็น

ค) การแพร่กระจายการเกิดความหลากหลาย และการเกิดกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในขบวนต่อต้านสหรัฐ

ง) การผุดขึ้นของคู่แข่งที่เป็นมหาอำนาจ ซึ่งก็ได้มีการแปลงโฉมใหม่ เช่น รัสเซียจากที่อ่อนแอ กลับฟื้นมาเป็นมหาอำนาจ จีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ และยากจน เดินหนทางทุนนิยมขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงสหรัฐ

จ) การสลายตัวของความเหนียวแน่น และอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างแตกหักรุนแรง

สรุปได้ว่าในช่วงเวลาสั้นๆ ราว 25 ปี มีการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของความมั่นคงระหว่างประเทศเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ก) ช่วง “หลังสงครามเย็น” (1991-2001) เป็นช่วงที่สหรัฐได้เปรียบทางการทหารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ต่อคู่แข่งที่อยู่ใกล้เคียงหรือสามารถคุกคามต่อสหรัฐได้สูงสุด

ข) ช่วง “หลัง 9/11” (2001-2015) สหรัฐและอำนาจทางทหาร เผชิญกับ “การช็อกทางยุทธศาสตร์” อย่างกะทันหัน แสดงให้เห็นจุดอ่อนของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่มีลักษณะอคติเข้าข้างตัวและการปฏิบัติตามแบบเดิม รวมทั้งความไม่สามารถของอเมริกันในการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์

ค) ช่วง “หลังสหรัฐเป็นที่หนึ่ง” ซึ่งยิ่งมีความไม่แน่นอนกว่าสองช่วงแรกเป็นอันมาก ที่จะต้องปรับตัวทางยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง

2)การปรับตัวที่สำคัญ

ได้แก่ การรวมวัตถุประสงค์หลักตามด้วยภัยคุกคามทางทหารเข้าด้วยกัน (รวมความเสี่ยงทางด้านยุทธศาสตร์และการทหาร) วัตถุประสงค์หลักทางการทหารและความมั่นคงของสหรัฐในรอบ 25 ปีมานี้ มี 6 ประการคือ

ก) การสร้างความมั่นคงแก่แผ่นดิน ประชาชน โครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินของสหรัฐต่ออันตรายสำคัญ

ข) การรักษาการเข้าถึงภูมิภาค ตลาดและทรัพยากรที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเป็นสาธารณะ

ค) การรับผิดชอบต่อความมั่นคงต่างประเทศ (ขณะนี้รวนเร)

ง) สร้างระเบียบโลกที่เสถียร คงทน ยึดหลักกฎเกณฑ์ (ขณะนี้ปฏิบัติโดยลำพังฝ่ายเดียวมาก)

จ) สร้างและรักษาสถาปัตยกรรมความมั่นคงโลกที่เป็นผลดีและยืดหยุ่น

ฉ) สร้างสรรค์ รักษา และขยายความได้เปรียบและตัวเลือกหลากหลายทางทหารของสหรัฐ (ทำเต็มที่)

ส่วนการประเมินความเสี่ยงแบบใหม่ดังกล่าว มีหลักการใหญ่ 4 ประการได้แก่ ก) ความหลากหลาย ข) ความเป็นพลวัต ค) ความแน่วแน่ ง) การปรับตัว

3)สิ่งที่จะต้องทำ

ได้แก่ การเพิ่มงบประมาณ และการใช้จ่ายเพื่อการสงครามในทุกพื้นที่ ตลอดจนสงครามไซเบอร์ และที่สำคัญคือการเสี่ยงเข้าไปรบใน “พื้นที่สีเทา” ที่มีความไม่แน่นอนสูง ภายใต้คำขวัญว่า “ไปพื้นที่สีเทา หรือไม่ก็กลับบ้าน” (Go Gray or Go Home)

(ดูรายงานของ Nathan P. Freier และคณะ ชื่อ At Our Own Peril : DoD Risk Assessment in a Post-Primacy World ใน ssi.armywarcolledge.edu 29.06.2017)

ทัศนะที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งเป็นของ อัลเฟรด แม็กคอย (เกิด 1945) นักประวัติศาสตร์ชาวสหรัฐ ผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ “การเมืองเรื่องเฮโรอีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (เผยแพร่ปี 1972) ชี้ว่าซีไอเอมีส่วนร่วมรู้เห็นในการผลิตเฮโรอีนในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

หนังสือเล่มหลังสุดที่จะเผยแพร่ในเดือนกันยายน 2017 ชื่อ “ใต้ร่มเงาศตวรรษแห่งอเมริกา : ความรุ่งเรืองและการเสื่อมถอยของอำนาจโลกสหรัฐ”

ในบทความชิ้นหนึ่งเขาวิเคราะห์ว่า ผู้นำเป็นสิ่งสะท้อนความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของสังคมและจักรวรรดิ

ในยามที่รุ่งเรืองจะบังเกิดผู้นำที่ช่ำชอง รู้จักสร้างสมดุลระหว่างการทูต อำนาจทางทหาร ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

อย่างในกรณีอังกฤษเกิดผู้นำเชี่ยวชาญในพรรคอนุรักษนิยม อย่างเช่น เบนจามิน ดิสราเอลี (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1874-1880) โรเบิร์ต ซาลิสเบอร์รี่ (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1895-1902) และ วินสตัน เชอร์ชิล (ดำรงตำแหน่งสองสมัย 1940-1945 และ 1951-1955) เมื่อถึงคราวเสื่อมก็สร้างผู้นำแบบ แอนโทนี่ อีเดน (ดำรงตำแหน่ง 1955-1957)

ในกรณีสหรัฐ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สหรัฐก้าวมาเป็นผู้นำโลก ก็เกิดมีผู้นำที่โดดเด่นอย่างเช่น ประธานาธิบดี แฮร์รี่ ทรูแมน (ดำรงตำแหน่ง 1945-1949 และ 1949-1953) และ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (ดำรงตำแหน่งสองสมัย 1953-1961)

แต่เมื่อสหรัฐเสื่อมถอยก็เกิดมีผู้นำแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ (ดำรงตำแหน่ง มกราคม 2017 ถึงปัจจุบัน)

เมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาต้องรับทอดมรดกแห่งความเสื่อมถอยจากโอบามา

แต่ทรัมป์ยังทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงอีก โดยในช่วงเพียงห้าเดือนที่ผ่านมาทรัมป์ได้ทำลายเสาหลักของอำนาจของสหรัฐลง ได้แก่ องค์การนาโต้ที่เป็นใจกลางยุทธศาสตร์การป้องกันร่วมกัน

ถอนตัวจากข้อตกลงภูมิอากาศปารีส โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพันธมิตรที่สนิทที่สุดในยุโรป

ยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

ทิ้งพันธมิตรของตนในเอเชีย

AFP PHOTO / JIM WATSON

แม็กคอยเปรียบทรัมป์ว่าคล้ายกับนายกรัฐมนตรีอีเดนของอังกฤษ

อีเดนเกิดในครอบครัวอภิสิทธิชนเจ้าที่ดิน ได้รับการศึกษาสูงในสถานศึกษาชั้นดี

หลังจากได้รับมรดกก็ได้เข้าสู่วงการเมืองในพรรคอนุรักษนิยมที่อยู่ภายใต้การนำของเชอร์ชิลในช่วงหลังสงคราม

วางตัวเป็นผู้ก่อกบฏต่อสถาบันหัวโบราณของอังกฤษ ก่อการต่อสู้ภายในพรรค ใช้บุคลิกของตนจนสามารถผ่านเชอร์ชิล ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1955

เมื่อนัสเซอร์แห่งอียิปต์ประกาศยึดกิจการคลองสุเอซเป็นของรัฐ อีเดนแสดงความโกรธเกรี้ยวทะนงตน และคิดว่าตนเองยังเป็นมหาอำนาจโลก วางแผนกับอิสราเอลและฝรั่งเศสบุกโจมตีอียิปต์

แต่ล้มเหลว

เมื่อสหรัฐเข้ามาแทรกแซงให้หยุดยิง ทหารอังกฤษต้องถอนกำลังออก

อีเดนที่สูญเสียเกียรติภูมิและความนิยมถูกบีบให้ลาออก โดยดำรงตำแหน่งได้เพียง 21 เดือนเท่านั้น (ดูบทความของ Alfred W. McCoy ชื่อ The Demolition of U.S. Global Power: Donald Trump”s Road to Debacle in the Greater Middle East ใน tomdispatch.com 16.07.2017)

(FILES) This file photo taken on April 7, 2017 shows US President Donald Trump (L) and Chinese President Xi Jinping (R) at the Mar-a-Lago estate in West Palm Beach, Florida.
US President Donald Trump said April 11, 2017 that the United States is ready to solve the North Korean “problem” without China if necessary.”North Korea is looking for trouble,” Trump wrote on Twitter. “If China decides to help, that would be great. If not, we will solve the problem without them! U.S.A.”
/ AFP PHOTO / JIM WATSON

จากที่กล่าวนี้จะเห็นได้ว่า แม้สถานการณ์จะไม่เป็นใจ ชนชั้นนำแตกเป็นสองหัว สหรัฐก็เตรียมพร้อมทำสงครามอย่างทั่วด้านกับรัสเซีย-จีน และเผชิญหน้ากับพันธมิตรเก่าของตน อย่างเช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ระฆังยกแรกของมหาสงครามดังขึ้นแล้ว เป็นมวยหมู่จากทุกมุมแบบไม่กำหนดยก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเศรษฐกิจกับมหาสงคราม