ปฏิรูปจนเป็นอำมาตยาธิปไตย ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ แตะไม่ได้/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ปฏิรูปจนเป็นอำมาตยาธิปไตย

ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ แตะไม่ได้

 

หลังรัฐประหาร 2557 เรามี 4 สภาที่ประชาชนไม่ได้เลือก

แต่มีอำนาจที่ส่งผลต่อการปฏิรูป

เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยในการเคลื่อนไหวของ กปปส. จนกระทั่งมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. หลังจากนั้นก็มีการตั้งสภาต่างๆ

ดังนี้

 

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เริ่ม 31 กรกฎาคม 2557 ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา มีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 250 คน โดยมีหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้เสนอชื่อ

วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สนช.ประชุม เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือก

วันที่ 25 กันยายน 2557 สนช.ให้อำนาจตนเองถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันที่ 23 มกราคม 2558 สนช.ลงมติฟ้องให้ขับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งฐานละเลยต่อหน้าที่ต่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลให้ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี

9 เมษายน 2559 สนช.เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มคำถามประชามติ เพื่อเปิดทางให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ในรัฐสภา

 

2.สภาปฏิรูป (ไม่ใช่ล้มล้าง) แห่งชาติ หรือ สปช.

เป็นสภาที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2557 มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน สภานี้คล้ายกับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

6 กันยายน พ.ศ.2558 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้สภาต้องถูกยุบทิ้งโดยทันทีตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

แต่ก่อนถูกยุบ สปช.ก็ได้เสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ 10 ด้าน เช่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พลังงาน ฯลฯ

มีอยู่สองด้านที่ไม่มีใครกล้าเสนอให้ปฏิรูป คือเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกองทัพ

 

3.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (ไม่ใช่ล้มล้าง) ประเทศ (สปท.)

ตั้งขึ้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2558 มาทำงานสืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ถูกยุบไป

โดยสมาชิก สปท.นั้นประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายอาชีพทั้งสิ้นไม่เกิน 200 คน

วันที่ 5 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ลงนามแต่งตั้งสมาชิกทั้ง 200 คนพร้อมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน ซึ่งสมาชิกทั้ง 200 คน ประกอบไปด้วยอดีตสมาชิก สปช.,นักวิชาการ, นายทหาร นายตำรวจทั้งในและนอกราชการ

ฉายาของ สปท.ที่สื่อตั้งให้คือสภาต่างตอบแทน เพราะนายกฯ แต่งตั้งให้สมาชิก สปช.กว่า 40 คนได้กลับเข้ามาเป็นสมาชิก “สปท.”

ผลงานเด่นก็คือ เสนอคำถามพ่วงที่ว่า ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ในระยะ 5 ปีแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และ สนช.ก็เห็นชอบ

(แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังเคยบอกว่าไม่กล้าเขียนเรื่องนี้ลงบทหลักของรัฐธรรมนูญ เพราะจะถูกมองว่าช่วย คสช.สืบทอดอำนาจ)

 

4.วุฒิสภา ซึ่งสื่อเปรียบว่าเป็น “พรรค ส.ว.”

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ชุดนี้ประกอบด้วยทหารและตำรวจรวม 104 คน สมาชิกเกือบครึ่งมาจากองค์การตามรัฐธรรมนูญที่ คสช.จัดตั้งขึ้น (คือ 3 สภาที่กล่าวมาแล้ว+ครม.ประยุทธ์ 1+สมาชิก คสช.)

ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้น ส.ส.จึงมาเลือกฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ 2550 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ส.ส.เท่านั้นที่เลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ 2560 มี ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด 250 คน กลายเป็นเสียงตัดสินทางการเมืองมากที่สุด ส.ว.ชุดแรกทั้ง 250 คนมาจากระบบการคัดเลือกของ คสช.ทั้งสิ้น จึงกลายเป็นกำลังทางการเมืองใหญ่ที่สุด เพราะการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส มากสุด ก็แค่ 136 คน

ผลของการปฏิรูป 2557-2560

ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560

ได้ ส.ว. ได้ศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทั้ง 3 สิ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษาอำนาจการปกครอง

250 ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจมากกว่า ส.ส.เลือกตั้ง

อำนาจหน้าที่ตามปกติ คือการกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ที่ล้นเกิน ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่ได้เลือก เช่น

1. เลือกนายกรัฐมนตรีได้…อำนาจของ ส.ว.ที่ คสช.ได้วางเส้นสืบทอดอำนาจเอาไว้ คือให้อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์ (249 จาก 250 คน) แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นที่ 1

2. เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้…ส.ว.มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายคนที่ถูกสรรหาเข้าไป แต่ไม่ผ่าน ส.ว. ก็ต้องสรรหาไปให้เลือกใหม่

3. เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด คือ กกต. 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ป.ป.ช. 9 คน กสม. 7 คน คตง. 7 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก

และยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ

4. กล่าวหาถอดถอน ป.ป.ช.ได้ มาตรา 236 กำหนดว่า ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.เข้าชื่อกันจำนวนมากกว่า 150 คน (1 ใน 5 ของทั้งสองสภา) กล่าวหาถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ แบบนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องกลัว ส.ว.

5. ตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปรายได้

6. ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน สามารถยับยั้งไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ข้อนี้ทำให้วันนี้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เพราะมาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.อย่างน้อย 84 คน หรือหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ลองคิดดูกันเองว่า ส.ว.เขาจะยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตนเองหรือไม่

7. ควบคุมนโยบาย และการทำงานของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

สรุปว่า ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่มีอำนาจเท่ากับ ส.ว.แต่งตั้ง

คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกเลย กลับมีอำนาจที่สามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ สามารถตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กรรมการองค์กรต่างๆ ได้ จึงมีผลต่อระบบยุติธรรม

 

การเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงเป็นไปไม่ได้ ตามสภาพของโครงสร้างอำนาจจริง ที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็ไม่เป็นประชิปไตย หลังการรัฐประหารสองครั้งหลัง โครงสร้างการปกครองถูกดัดแปลงให้รับใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

ดังนั้น คนฉีกรัฐธรรมนูญ และใช้กำลังทำรัฐประหาร จึงไม่ผิดในข้อหาล้มล้างระบอบ แต่คนต่อต้านคณะรัฐประหารผิด คนอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญผิด อยากปฏิรูปผิด เยาวชนคนหนุ่ม-สาวจะคิดปฏิรูปต่อไป ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีให้ดี