แมลงวันในไร่ส้ม/ข่าวร้ายพรรคการเมือง แยกเบอร์ผู้สมัคร อีกสูตร แก้ “เสียของ”

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้ายพรรคการเมือง แยกเบอร์ผู้สมัคร อีกสูตร แก้ “เสียของ”

เรียกเสียงฮือฮาจากวงการเมืองอีก

เมื่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกทีมไปประชุมสุดสัปดาห์ที่โรงแรมรีสอร์ตใน จ.ระยอง พร้อมกับเปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มี นายประพันธ์ นัยโกวิท ประธานอนุกรรมการ ได้เสนอผลการศึกษา 39 ประเด็น โดย กรธ. ได้พิจารณาไปแล้ว 29 ประเด็น

มีข้อเสนอใหม่ๆ ได้แก่ หมายเลขผู้สมัคร จากเดิมเบอร์พรรคหรือบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกัน ให้แยกเบอร์ โดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับการสมัคร

ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขตจะอยู่ในพรรคเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกัน เพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส.

เขตเลือกตั้งนั้นให้ใช้เกณฑ์ขั้นต่ำ 1,000 คน จากเดิม 800 คน เป็น 1 หน่วย และไม่ควรใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตตายตัวในการกำหนดเขตเลือกตั้ง แต่ให้คำนึงถึงความสะดวกของผู้ที่จะมาลงคะแนนเป็นสำคัญ

การนับผลคะแนนเลือกตั้ง ทาง กรธ. มีความเห็นว่า ควรจะนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง โดยมีผลดีคือจะได้ทราบผลการเลือกตั้งรวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการป้องกันหีบบัตรให้รัดกุมเพิ่มขึ้น

บุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในทุกระดับ ถูกตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งในระยะเวลา 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้

หากผู้ใดดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที และถ้ายังไม่ไปใช้สิทธิ์อีกก็ให้ตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปีต่อไปอีก

การประกาศผลการเลือกตั้ง หากไม่มีเหตุวุ่นวายให้ดำเนินการได้ภายใน 7 วันนับจากการเลือกตั้ง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ร้อยละ 95 ภายใน 60 วัน

พร้อมกับเผยว่า การพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ของ กรธ. เสร็จเรียบร้อยในเบื้องต้นทั้ง 3 ฉบับที่เหลือ

คือ ร่าง พ.ร.บ.ที่มา ส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ที่มา ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว

จากนี้จะให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องนำกลับไปร่างเป็นรายมาตราต่อไป ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะนำเสนอ สนช. ได้ในเดือนสิงหาคม 1 ฉบับ และเดือนกันยายนอีก 1 ฉบับ

คอมเมนต์จากฝ่ายต่างๆ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กวันที่ 7 สิงหาคม ว่า วันรพี น่าจะเป็นวันที่เห็นการพัฒนาของกฎหมายในทางที่ดี แต่กลับเจอข่าวที่สะท้อนถึงความล้าหลังในกระบวนการคิดออกกฎหมายลูก

แนวคิดของ กรธ. ที่ให้ผู้สมัครจับสลากหมายเลขของแต่ละเขตเอง โดยเชื่อว่าจะป้องกันการซื้อเสียง และบอกว่าประชาชนจะไม่สับสน แค่คิดก็สับสนแล้ว

กรุงเทพมหานคร มี 30 เขต โคราช มี 14 เขต ประชาชนที่นั่งรถข้ามเขตปกครองกันไปมา คงเห็นหมายเลขและหน้าผู้สมัครของแต่ละพรรคสับสนวุ่นวายกันไปหมด

กกต. ในแต่ละจังหวัดต้องเพิ่มภาระในทางธุรการที่ให้ผู้สมัครมาเจอกันเพื่อจับสลาก หากถูกปิดล้อมสักที่ จนเลยเวลารับสมัคร ก็จะเป็นเหตุให้เลือกตั้งเป็นโมฆะอีก

การรวมคะแนนทั้งประเทศของพรรค คงเขียนโปรแกรมอย่างสนุกสนาน เพราะต้องเอาคะแนนเบอร์โน้นของเขตนี้ มารวมคะแนนเบอร์นี้ของเขตโน้น การกำกับตรวจสอบเพื่อดูถึงความถูกต้องเป็นไปได้ยาก โอกาสผิดพลาด โอกาสถูกฟ้องร้อง โอกาสที่ประชาชนจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็สูงขึ้น

“บอกอยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลัวคนเลือกเบอร์ของพรรคการเมือง เช่นเดียวกับบอกว่า ต้องการคนที่มีคุณสมบัติสูงมาเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรหนึ่งเซ็ตซีโร่ อีกองค์กรหนึ่งให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ เพื่อนที่เป็นแพทย์คนหนึ่งบอกผมว่า เป็นอาการไบโพลาร์ทางการเมือง” นายสมชัยระบุ

เจ้าภาพของงานนี้คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ออกมาแจกแจงว่า ต้องการให้การเลือกตั้งแต่ละเขตต้องดูคน สอดคล้องกับการกำหนดคุณสมบัติ ส.ส. ให้เข้มข้น เพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลข เอาคนขับรถลงก็ได้อีกต่อไป

ประชาชนทำความรู้จักผู้สมัคร ส.ส. จะได้ไม่ต้องเป็นบริวารให้พรรคการเมือง เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้พูดถึงเรื่องความเคยชิน แต่การปฏิรูปใช้ความเคยชินไม่ได้ หากกลับไปใช้เบอร์เดียว ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม เลือกกันโดยไม่รู้ว่าเลือกใคร

ตอนนี้เนื้อหายังไม่นิ่ง ก็อาจทำให้สับสนกันบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อนิ่งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนได้

“เราจะไปดูถูกประชาชนไม่ได้ การเลือกตั้งคนในเขต เขาสามารถเห็นป้ายผู้สมัคร จำหน้า จำชื่อผู้สมัครในพื้นที่ได้ทั้งเช้า-ค่ำ หน้าคูหาวันเลือกตั้งก็มี ผู้คนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ไม่ใช่ 30-40 ปีที่แล้ว ที่อ่านหนังสือกันไม่ออก การเลือกตั้ง ต้องรู้ว่าไปเลือกใคร ต้องขวนขวายที่จะดูว่าใครเป็นผู้สมัครในเขตของตน” นายมีชัยกล่าว

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ มาจาก นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ว่า วิธีนี้จะทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นเบี้ยหัวแตก

หากประชาชนจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย ก็จะจำไม่ได้ว่า ส.ส.เขตคือเบอร์อะไร เพราะแต่ละเขตเบอร์ไม่เหมือนกัน

ต่อไปพรรคการเมืองไม่สามารถจับกลุ่มกันได้ พรรคใดพรรคหนึ่งก็จะไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้

ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ กรธ. ถือเป็นวิธีที่แยบยล แต่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย

ต่อไปพรรคการเมืองไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภา เกิดภาวะเสียงแตก จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่าตรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

คะแนน ส.ส. ที่ได้มานั้นจะมาจากการสับสน ได้มาจากการเข้าใจผิด ประเทศเราไม่เคยใช้เช่นนี้มาก่อน

ข้อสรุปจากนางสดศรี น่าจะตรงกับความเป็นจริงที่สุด เพราะเป้าหมายของรัฐธรรมนูญใหม่และขั้วอำนาจปัจจุบัน สอดคล้องกันว่า จะไม่ให้เกิดพรรคที่แข็งแกร่ง วิธีเลือกตั้งที่กำลังชงอยู่ รับใช้เป้าหมายได้ดีที่สุด

เป็นอีกสูตร เพื่อป้องกันการ “เสียของ”