วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (15)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุทธการในยุทธภูมิ (ต่อ)

แผนศึกที่เฉาเชาใช้ก็คือ แสร้งยกทัพบุกไปทิศหนึ่ง แต่จริงๆ กลับบุกไปอีกทิศหนึ่งเพื่อทำให้หยวนเส้าเข้าใจผิด และหยวนเส้าก็เข้าใจผิดจริง จากแผนนี้ส่งผลให้เฉาเชาสามารถฆ่าขุนศึกของหยวนเส้าได้สองคน จากนั้นทัพของทั้งสองฝ่ายจึงตั้งเผชิญหน้าและคุมเชิงกันอยู่ที่เมืองกวานตู้ (กัวต๋อ)

ระหว่างนี้ขุนนางคนหนึ่งที่เป็นผู้วางแผนศึกให้กับหยวนเส้าได้แปรพักตร์มาเข้ากับเฉาเชา ขุนนางคนนี้จึงวางแผนให้กับทัพของเฉาเชาไปด้วย

และแผนที่ว่าคือ ให้ทัพของเฉาเชาลอบเข้าไปโจมตีและเผาทำลายเสบียงอาหารและหญ้าสำหรับเลี้ยงม้า ตลอดจนยุทธปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญของทัพของหยวนเส้าที่เมืองอูเฉา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเอี๋ยนจินในมณฑลเหอหนาน

จากแผนดังกล่าวทำให้ทัพของหยวนเส้าระส่ำระสายอย่างหนัก ซ้ำยังส่งผลให้ขุนศึกอีกสองคนของหยวนเส้ามาเข้าด้วยกับเฉาเชาอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้หยวนเส้าพร้อมกับบุตรชายอีกคนหนึ่งของเขาจึงนำทหารม้า 800 นายหนีข้ามแม่น้ำเหลืองไปทางตอนเหนือ

ในขณะที่ทหารที่เหลืออยู่อีกถึง 70,000 นายถูกเฉาเชาฆ่าด้วยการฝังทั้งเป็น

จากนั้นไม่นานหยวนเส้าก็ป่วยตายไป ซ้ำร้ายบุตรชายสองคนของเขาก็กลับขัดแย้งและปะทะกันเอง จากเหตุนี้ ทัพของเฉาเชาจึงตีทัพของบุตรทั้งสองได้ไม่ยาก ชัยชนะในครั้งนี้ของเฉาเชาทำให้เขาสามารถยึดมณฑลที่หยวนเส้าครอบครองมาแต่เดิมได้สำเร็จ

อิทธิพลของเฉาเชาจึงยิ่งแผ่กว้างไกลไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

 

การศึกครั้งนี้เรียกกันต่อมาว่า “ศึกกวานตู้” (ศึกกัวต๋อ) ถือเป็นศึกที่มีการกล่าวขานกันมากศึกหนึ่งในยุคสามรัฐ เพราะถือเป็นศึกที่ใช้กำลังน้อยเอาชนะกำลังมากด้วยแผนที่แยบยล

แต่ที่เป็นที่วิเคราะห์กันไม่น้อยก็คือ ความสามารถที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเฉาเชากับหยวนเส้า

ที่ทำให้เห็นว่า เฉาเชาไม่เพียงเป็นนักวางแผนที่ดีเท่านั้น หากยังเป็นนักบริหารที่ดีอีกด้วย

อย่างหลังนี้เห็นได้จากที่เฉาเชาเก่งในการใช้คนได้ถูกที่ถูกเวลาและถูกสถานการณ์ และมีความชัดเจนในการพิจารณาความดีความชอบสำหรับบุคคลที่มีผลงาน และลงโทษบุคคลที่กระทำผิด ตรงกันข้ามกับหยวนเส้าที่มักฟังแต่คนใกล้ชิด ครั้นต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญก็ไม่เด็ดขาดชัดเจน ยิ่งการพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษบุคคลด้วยแล้วนับว่าหย่อนยานอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ขุนนางและขุนศึกที่ขึ้นต่อหยวนเส้าจึงมักขัดแย้งกันเอง และไม่แปลกที่จำนวนหนึ่งของบุคคลเหล่านี้จะแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับเฉาเชาในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากศึกกวานตู้ไปแล้ว เฉาเชายังใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการทำศึกกับชนชาติอื่นที่อยู่ทางตอนเหนือ ชนชาติหนึ่งที่สำคัญคืออูหวน เมื่อปราบได้แล้วเฉาเชาก็สามารถยึดครองดินแดนตอนเหนือของจีนได้อย่างเด็ดขาด ภารกิจต่อไปของเขาจึงคือการปราบปรามผู้ที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ทางตอนใต้

เวลานั้นผู้ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ทางตอนใต้แม้จะมีหลายกลุ่ม แต่ที่มีอิทธิพลมากมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของซุนฉวน (ค.ศ.182-252) กลุ่มนี้ครอบครองดินแดนทางด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำฮั่น (ฮั่นเจียง) อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของหลิวเปี่ยว (ค.ศ.142-208) ซึ่งเป็นผู้ว่าการจิงโจว กลุ่มนี้ครอบครองดินแดนที่เป็นเทือกเขาด้านตะวันตกของแม่น้ำฮั่น

กลุ่มหลังนี้ยังมีกลุ่มย่อยอีกกลุ่มหนึ่งที่มาอาศัยพึ่งพิงด้วยคือ กลุ่มของหลิวเป้ย กลุ่มนี้ตั้งทัพอยู่ที่เมืองฝานเฉิง ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเซียงฝานในมณฑลหูเป่ย

เหตุดังนั้น เป้าหมายหลักของเฉาเชาในการรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นเอกภาพจึงอยู่ที่สองกลุ่มนี้

 

จากเหตุดังกล่าว ในปี ค.ศ.208 เฉาเชาจึงได้เคลื่อนทัพใหญ่ที่มีกำลังพล 200,000 นายเพื่อหมายพิชิตจิงโจวก่อน ในระหว่างนี้เองหลิวเปี่ยวซึ่งอ่อนแอมากตั้งใจที่จะสนับสนุนให้บุตรคนรองคือ หลิวฉง เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากตน และได้ขับบุตรคนโตคือ หลิวฉี ด้วยการให้ไปครองเมืองเจียงเซี่ย ซึ่งปัจจุบันคืออำเภออวิ๋นเมิ่งในมณฑลหูเป่ย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามทางอำนาจของหลิวฉง

ภายหลังจัดสรรอำนาจให้แก่บุตรทั้งสองเพื่อตั้งรับทัพเฉาเชาแล้วก็ให้ปรากฏว่า หลิวเปี่ยวก็ป่วยลงและเสียชีวิต

หลังจากบิดาเสียชีวิต หลิวฉงที่เป็นผู้ว่าการมณฑลคนใหม่ที่ยังมิได้เห็นแม้แต่เงาของทัพเฉาเชานั้น ก็แอบส่งคนไปยื่นหนังสือต่อเฉาเชาแสดงตนขอยอมจำนนอย่างลับๆ

จากเหตุดังกล่าว เฉาเชาจึงพักการบุกจิงโจวเอาไว้ก่อน แล้วก็มุ่งหน้าไปตีทัพของหลิวเป้ย ข้างฝ่ายหลิวเป้ยซึ่งแต่เดิมมิได้รู้ถึงการยอมจำนนของหลิวฉง แต่ครั้นรู้ในเวลาต่อมาจึงเร่งถอยทัพของตนไปยังเมืองเจียงหลิงอย่างเร่งด่วนจนแทบจะไม่ทันการ เมืองนี้ในปัจจุบันยังคงชื่อเดิม และมีฐานะเป็นอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองจิงโจวซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลหูเป่ย

การที่หลิวเป้ยมุ่งไปเมืองนี้เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการทหาร และมีปัจจัยที่ใช้เพื่อการนี้ถูกสะสมอยู่มากมาย หากหลิวเป้ยสามารถยึดเมืองนี้เอาไว้ได้ก็จะต้านรับทัพของเฉาเชาเอาไว้ได้

ข้างฝ่ายเฉาเชาเองก็รู้ถึงจุดแข็งของเมืองนี้ดีเช่นกันนั้น ก็ถึงกับยอมทิ้งยานพาหนะที่ใช้ขนสัมภาระในการเดินทัพเอาไว้ก่อน แล้วนำทัพ 5,000 นายเร่งรุกไล่ทัพหลิวเป้ยโดยไม่หยุดพักจนไปทันที่เมืองฉางป่าน ซึ่งปัจจุบันคือเขตตวอตาวที่ขึ้นต่อเมืองจิงเหมินและอยู่ใกล้กับเมืองตางหยางของมณฑลหูเป่ย จนเกิดเป็นศึกฉางป่านขึ้นมา

ด้วยกำลังที่น้อยกว่าของทัพหลิวเป้ย จึงทำให้เขาจำต้องสละเมืองนี้พร้อมทั้งบุตรกับภรรยา จากนั้นก็หนีไปกับคนใกล้ชิดอีกสิบกว่าคนโดยหนึ่งในนั้นคือ จูเก่อเลี่ยง (จูกัดเหลียง, ค.ศ.181-234) หรือข่งหมิง (ขงเบ้ง)

และแล้วเมืองเจียงหลิงก็ตกอยู่ในมือของเฉาเชาไปในที่สุด

 

ข้างฝ่ายหลิวเป้ยกับสมัครพรรคพวกนั้นได้หนีไปจนถึงเมืองเซี่ยโข่ว (ปัจจุบันคือเมืองฮั่นโข่วในมณฑลหูเป่ย) ช่วงก่อนหรือหลังจากนี้ในบันทึกระบุขัดแย้งกัน โดยข้างหนึ่งระบุว่า หลิวเป้ยได้มารวมตัวกับกลุ่มของหลิวฉี (บุตรคนโตของหลิวเปี่ยนที่พลาดตำแหน่งผู้ว่าการจิงโจว) ที่เมืองนี้

อีกข้างหนึ่งระบุว่า หลิวเป้ยได้ส่งผู้แทนไปเจรจากับซุนฉวน ในขณะที่หลู่ซู่ (โลซก, ค.ศ.172-217) ได้ช่วยให้ทัพหลิวเป้ยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองฝานโข่ว (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของเมืองเอ้อเฉิงในมณฑลหูเป่ย) เป็นที่สำเร็จ

แต่บันทึกที่ขัดแย้งกันนี้เป็นการขัดกันในเรื่องลำดับเวลาเท่านั้น ส่วนประเด็นที่สำคัญของเรื่องราวในช่วงนี้อยู่ตรงที่หลิวเป้ยได้ส่งผู้แทนไปเจรจากับซุนฉวน และผู้แทนคนนั้นก็คือ จูเก่อเลี่ยง

ช่วงที่จูเก่อเลี่ยงเดินทางไปถึงและพำนักอยู่ไฉซาง (ปัจจุบันคือเมืองจิ่วเจียงของมณฑลเจียงซี) นั้น เฉาเชาได้ส่งสาส์นมาถึงซุนฉวน สาระสำคัญในสาส์นฉบับนี้อ้างว่า ทัพของเฉาเชามีกำลังพลถึง 800,000 นาย จึงขอให้ซุนฉวนยอมจำนนเสีย

สาส์นฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันในหมู่ขุนนางของซุนฉวนอย่างกว้างขวาง บ้างก็ให้ซุนฉวนยอมจำนน บ้างก็ว่าไม่ควร ในช่วงนี้เองจูเก่อเลี่ยงได้เข้าพบซุนฉวนแล้วใช้วาทศิลป์ของตนเข้าหว่านล้อมซุนฉวน ว่าหากซุนฉวนมีกำลังพอต้านเฉาเชาได้ก็ต้าน หากไม่พอก็ยอมจำนนเสีย และไม่ควรเปรียบเทียบกับหลิวเป้ยที่เป็นนายของตน ที่ยังยืนหยัดต่อสู้กับเฉาเชาทั้งที่กำลังน้อยกว่า นั่นเป็นเพราะหลิวเป้ยเป็นหน่อเนื้อเชื้อจักรพรรดิ จิตใจอยู่ที่ราษฎร ที่จักให้จำนนต่อเฉาเชาย่อมหาควรไม่

วาทศิลป์ของจูเก่อเลี่ยงกระตุ้นความรู้สำนึกของซุนฉวนอย่างได้ผล ว่าตนควรไม่ควรทำอย่างไร ในที่สุด ภายใต้การแนะนำของหลู่ซู่ ซุนฉวนจึงได้เรียกตัวขุนศึกหนุ่มชื่อ โจวอี๋ว์ (จิวยี่, ค.ศ.175-210) ที่เป็นคนสนิทอีกคนหนึ่งของตนมาพบเพื่อปรึกษาหารือ

โจวอี๋ว์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับหลู่ซู่และจูเก่อเลี่ยง นั่นคือ ให้ทำศึกกับเฉาเชา

 

หลังจากนั้นทั้งสามคนคือ จูเก่อเลี่ยง หลู่ซู่ และโจวอี๋ว์ พร้อมทั้งขุนนางที่เห็นไปในทางนี้จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์ว่า หากต้องทำศึกกับเฉาเชาแล้ว กองกำลังของฝ่ายตนซึ่งประกอบไปด้วยทัพของซุนฉวน หลิวเป้ย กับหลิวฉี จะสามารถต่อสู้กับทัพของเฉาเชาได้หรือไม่ อย่างไร

ข้อวิเคราะห์ที่สำคัญอาจสรุปได้เป็นสามประเด็นคือ

หนึ่ง ทัพของเฉาเชาไม่คุ้นชินกับดินฟ้าอากาศทางตอนใต้ จะทำให้ทหารของเฉาเชาปรับตัวได้ยาก ผิดกับทัพของซุนฉวนที่อยู่ทางตอนใต้มาโดยตลอด

สอง ทัพของเฉาเชาไม่คุ้นชินกับการศึกทางน้ำ ในขณะที่ทัพของซุนฉวนมีทัพเรืออยู่ด้วย

และสาม หากยอมจำนนแล้วทัพของเฉาเชาจะต้องบุกเข้าตีทัพของหลิวเป้ยก่อนอย่างแน่นอน แต่หลังจากตีสำเร็จแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ทัพของเฉาเชาจะไม่หันมาตีทัพของซุนฉวน

ดังนั้น การยอมหรือไม่ยอมจำนนจึงมีค่าเท่ากัน สู้หันมาทำศึกกับเฉาเชาแล้วชนะย่อมหมายถึงอิสรภาพ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ย่อมดีกว่าตกอยู่ใต้อำนาจของเฉาเชา

เมื่อวิเคราะห์จนได้ข้อสรุปเช่นนั้น ทัพของซุนฉวนกับหลิวเป้ยจึงร่วมมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อทำศึกกับทัพของเฉาเชาในที่สุด และเป็นที่มาของการศึกที่มีชื่อเสียงศึกหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

ศึกนี้เรียกขานกันต่อมาว่า ศึกผาแดง (ชื่อปี้จือจ้าน, Battle of Red Cliffs)