คุยกับทูต เบรนแดน โรเจอร์ส ทูตคนแรก จากไอร์แลนด์ “เกาะมรกตแห่งยุโรป” (จบ)

“เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ กับอังกฤษ เราจึงไม่ต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว EU เพราะการอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า และเราควรจะเติบโตอย่างใกล้ชิดในโลกเดียวกัน ไม่ใช่แยกตัวออกห่างจากกัน”

เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายเบรนแดน โรเจอร์ส กล่าวถึงเรื่องที่ชาวอังกฤษลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ให้ถอนตัวออกจาก EU ซึ่งนิยมเรียกกันว่า เบร็กซิท (Brexit)

“การที่อังกฤษจะออกจาก EU อาจมีผลกระทบ เพราะเรามีพื้นที่เดินทางร่วมกัน (Common Travel Area) กับอังกฤษ ซึ่งเราต้องมั่นใจว่า จะไม่ทำให้ไอร์แลนด์เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะไอร์แลนด์ยังคงอยู่กับ EU และทำงานร่วมกับสมาชิก 27 ประเทศต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของไอร์แลนด์”

“ประเทศของเราเคยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในมาหลายปี และสิ้นสุดลงด้วยการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ เมื่อมีข้อตกลงสันติภาพร่วมกันสถานการณ์จึงดีขึ้น”

ในอดีตไอร์แลนด์เหนือมีปัญหาของคนที่นับถือศาสนาต่างนิกายและเชื้อชาติต่างกัน ทำให้ชนชาติที่อาศัยมาก่อนคือชาวไอริชซึ่งกลายเป็นคนที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าไม่ชอบใจ จนเกิดการรวมตัวกันขึ้นมาจัดตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธ แล้วเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบขึ้นมาต่อเนื่องเป็นเวลานานสามสิบกว่าปี

ก่อนที่ความสงบจะกลับมาสู่ดินแดนนั้นอีกครั้ง

“ไอร์แลนด์ใช้เงินถึง 1 พันล้านยูโรต่อปีสำหรับบางประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เราชาวไอริชเป็นคนใจกว้างมากเพราะมีความทรงจำพื้นบ้านเกี่ยวกับความโหยหิวและความยากไร้ เราสูญเสียผู้คนนับล้าน อันเนื่องมาจาก “ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์” ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากเมื่อเราเติบโตแข็งแรงขึ้น ก็ไม่ลืมรากเหง้าของเรา นั่นเป็นเหตุผลที่เรามีโครงการช่วยเหลือที่สำคัญในแอฟริกาและเอเชีย” ท่านทูตเล่า

ระหว่างปี ค.ศ.1845-ค.ศ.1852 เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Irish Potato Famine) หรือในภาษาเกลิก “An Gorta M?r” แปลว่า “ความโหยหิวอันยิ่งใหญ่” เป็นสมัยที่เกิดทุพภิกขภัย โรคระบาด และการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ซึ่งทำให้จำนวนประชากรลดลงไปถึงระหว่างร้อยละ 20 ถึง 25

ชาวไอริชเสียชีวิตไปประมาณหนึ่งล้านคนและอีกกว่าล้านคนอพยพหนีความทุกข์ยากไปอยู่ประเทศอื่น (Irish Diaspora)

สาเหตุหลักมาจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อรามันฝรั่ง (potato blight หรือ phytophthora infestans) ทำลายผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์

แม้ว่าเชื้อราเดียวกันนี้จะทำลายผลผลิตของมันฝรั่งไปทั่วยุโรปในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 เช่นกัน แต่ผลกระทบที่มีต่อชีวิตของคนในไอร์แลนด์ ซึ่งหนึ่งในสามของประชากรบริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก มีความรุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ

“เกาะไอร์แลนด์ มีประชากร 6 ล้านคน แต่มากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกอ้างว่ามีเชื้อสายของชาวไอริชพลัดถิ่น เพราะเกิดความอดอยากในปี ค.ศ.1845 รวมกับปัญหาทางเศรษฐกิจ คนไอริชจำนวนมากจึงออกนอกประเทศและเดินทางไปทั่วโลกมานานแล้ว”

“แม้กระทั่งในทศวรรษที่ 1950-1960 คนไอริชก็ยังเดินทางออกนอกประเทศ ในอเมริกาเหนือมีมากกว่า 40 ล้านคนที่อ้างเป็นชาวไอริช ในอังกฤษมีจำนวน 9 ล้านคน ในยุโรปมีคนไอริชอีกนับล้านๆ ในภูมิภาคเอเชียมีคนไอริชประมาณ 400,000 คน ในประเทศไทยมีคนไอริชประมาณ 5,000 คน และเมื่อแต่งงานกับคนไทย เด็กที่เกิดมาจึงเป็นคนไอริชด้วย”

“คนเชื้อสายไอริชพลัดถิ่นมีความสำคัญมาก เพราะจำนวนไม่น้อยอยู่ในตำแหน่งที่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง โดยเฉพาะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา มีบรรพบุรุษเป็นชาวไอริช เช่น จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John Fitzgerald Kennedy – JFK ) มีเชื้อสายไอริชโดยตรง, บารัค โอบามา (Barack Obama) มีเชื้อสายไอริชจากทางฝั่งของมารดา, โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ก็มีเชื้อสายไอริชเช่นกันจากทางฝั่งของบิดา”

“นักการเมืองอาวุโสและนักธุรกิจหลายคนในสหรัฐ แคนาดา และสหราชอาณาจักรมีเชื้อสายไอริช ดังนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับคนเชื้อสายไอริชมากยิ่งกว่าที่เคยเพื่อประโยชน์ร่วมกัน”

เมื่อพูดถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับไอร์แลนด์ในประเทศไทย ท่านทูตเปิดเผยถึงแผนงานต่างๆ ดังตัวอย่างเช่น

“จัดเทศกาลภาพยนตร์ไอริช (Irish film festival) แสดงเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของไอร์แลนด์ อาจเป็นในเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้ ต่อมาคือเทศกาลอาหารไอร์แลนด์ (A Taste of Ireland Festival) ซึ่งจัดร่วมกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า”

“เนื่องจากไอร์แลนด์ได้ให้ความสำคัญในสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เสมอมา จนกระทั่งได้ออกกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่า การแต่งงานระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง ฯลฯ มีกฎหมายที่รับรองการสมรส โดยเราหวังว่า บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมาเยือนไทยและจัดการประชุมเสวนาเพื่อได้คำถามและคำตอบในเรื่องนี้ด้วย”

“เคยมีนักดนตรีไอริชชื่อดังมาแสดงในไทยในหลายโอกาส รวมทั้ง มิก มอโลนีย์ (Professor Dr. Michael “Mick” Moloney) ศาสตราจารย์ด้านดนตรีและไอริชศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุดของอเมริกาทางด้านศิลปะพื้นบ้านและดั้งเดิมจาก NEA National Heritage Fellowship โดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ นางฮิลลารี คลินตัน (First Lady Hillary Clinton) เป็นผู้มอบให้เมื่อปี ค.ศ.1999″

“มีชุมชนไอริชประมาณ 3-5,000 คน ทั้งที่พักอาศัยในไทยอย่างถาวรและชั่วคราว เช่น นักธุรกิจ ผู้เกษียณอายุ หรือชาวไอริชที่แต่งงานกับคนไทย มีครอบครัวที่นี่ จึงเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวาและกำลังเติบโตเช่นกัน”

“เมื่อปีที่แล้วผมนำคณะผู้แทนทางการค้าจากประเทศไทยประมาณ 25 คนเดินทางไปไอร์แลนด์เป็นครั้งแรก ผู้แทนเหล่านี้มาจากคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thai Chamber of Commerce and Board of Trade of Thailand) คณะกรรมการการลงทุน (Thai Board of Investment – BOI) ธนาคารและหน่วยงานด้านอาหาร”

“ปัจจุบันสำนักงานหอการค้าไอริช-ไทย (Irish-Thai Chamber of Commerce) ตั้งอยู่ที่สถานทูต มีการประชุมหารือกันทุกเดือน เพื่อช่วยเหลือคนไอริชที่ต้องการมาทำธุรกิจที่นี่”

“มีเพลงหนึ่งที่โด่งดังในไอร์แลนด์ชื่อ สีเขียว 40 เฉด (The 40 Shades of Green) เพราะไอร์แลนด์เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า สีเขียวจึงเป็นสีประจำชาติของเรา”

“สำหรับสถาบันการศึกษาในไทย เราได้ไปเยี่ยมเยียนหลายแห่งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น”

“ไอร์แลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งไปตั้งในไอร์แลนด์ เพื่อผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และเภสัชกรรม เช่น ยาไวอากร้า (Viagra) และโบท็อกซ์ (Botox) ซึ่งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตในไอร์แลนด์ จะเห็นได้ว่ามีหลายอย่างเกิดขึ้นในไอร์แลนด์ และปัจจุบันเรากำลังติดต่อเชื่อมโยงกิจการด้านสุขภาพกับโรงพยาบาลที่นี่ จึงอยากเห็นบริษัทต่างๆ จากไทยไปลงทุนทำธุรกิจในไอร์แลนด์เช่นกัน”

การเป็นนักการทูตจึงไม่ค่อยมีเวลาว่างนานๆ เพราะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย

 

“แต่ในฐานะเอกอัครราชทูต ผมก็ควรเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ด้วย เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย เช่นเดียวกับกรุงดับลินไม่ใช่ประเทศไอร์แลนด์ และกรุงลอนดอนไม่ใช่ประเทศอังกฤษ จังหวัดที่ผมเคยไปมาแล้วได้แก่ หนองคาย เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี เขาใหญ่ ภูเก็ต เกาะเสม็ด เกาะกูด และหวังว่าจะไปกระบี่ในอันดับต่อไป”

“เราชอบวิ่งออกกำลังกันเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ร่วมกับทูตอื่นๆ ที่สวนลุมพินี ผมเคยลงแข่งหลายครั้งและร่วมแข่งขันมาราธอนนานาชาติที่ขอนแก่นทุกปี ปกติชอบอ่านหนังสือและฟังเพลง บางทีก็ชวนภรรยานั่งรถสามล้อเครื่องหรือตุ๊กตุ๊กโต้ลมสำรวจกรุง” ท่านทูตเล่าอย่างสนุกสนาน

“อาหารไทยที่ผมชอบเป็นพิเศษคือต้มยำกุ้งหรือไก่ผัดกะเพรา แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ส้มตำไทยใส่ถั่วลิสงเยอะๆ ชอบอาหารเผ็ดมากๆ แต่ใส่น้ำตาลน้อยๆ ผมสังเกตเห็นคนไทยมักรับประทานอาหารในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง”

“ส่วนอาหารไอริชที่ผมอยากแนะนำได้แก่ ไอริชสตู ปรุงด้วยเนื้อแกะ มันเทศและผักอื่นๆ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะสินค้าส่งออกหนึ่งในสี่ของไอร์แลนด์คือ อาหาร เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เช่น ไอริชแซลมอน เนยแข็ง และผมดีใจมากที่เห็นไอริชวิสกี้และเบียร์กินเนส (Guinness) มีจำหน่ายอย่างแพร่หลายที่เมืองไทย”

“ตอนประจำที่แอฟริกา 11 ปี ผมสามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้บ้าง ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน แต่ไม่อาจกล่าวว่าผมเก่งทางภาษา เพียงแต่ผมคิดว่า การได้เรียนภาษาของประเทศที่ไปประจำ ทำให้รู้สึกว่าได้มาอยู่ที่ประเทศนั้นๆ อย่างแท้จริง และเป็นการให้เกียรติเจ้าของภาษาอีกด้วย”

“ผมขอส่งข้อความพิเศษมายังนักศึกษาไทย เพราะเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการศึกษา เราจึงมีโครงการพิเศษสำหรับคนไทยที่ไปศึกษาต่อปริญญาโทในไอร์แลนด์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว สามารถอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อทำงานที่นั่นพร้อมได้รับใบอนุญาตทำงานโดยอัตโนมัติทันที ซึ่งแตกต่างจากการไปเรียนต่อที่ประเทศอื่น”

“ผมขอขอบคุณคนไทยที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี ผมและภรรยารู้สึกว่าประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สองของเรา หลังกลับจากพักร้อนที่ไอร์แลนด์ เมื่อมาถึงประเทศไทย ภรรยาบอกว่า เรากลับถึงบ้านแล้ว ซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของเรากับประเทศไทย”