จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (25) เส้นทางการล่มสลายของซ่งใต้ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (25)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งใต้ (ต่อ)

 

จากเหตุนี้ เมื่อจักรพรรดิของจินที่ทรงหนีไปอยู่ที่เมืองไช่โจว (ปัจจุบันคือเมืองหญูหนันในมณฑลเหอหนัน) ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากจีน จีนจึงได้แต่นิ่งเงียบ ในที่สุดเมืองไคเฟิงก็ถูกตีแตกในกลางปี ค.ศ.1233

โดยจักรพรรดิจินองค์สุดท้ายทรงทำอัตวินิบาตกรรมใน ค.ศ.1234 ราชวงศ์จินจึงล่มสลายลง

ราชวงศ์นี้มีจักรพรรดิเก้าองค์ มีอายุราชวงศ์ 119 ปี

 

ความเสื่อมถอยของซ่งใต้

ภายหลังจากที่จินล่มสลายไปแล้ว มองโกลยังไม่ได้ลดละในการขยายดินแดน โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1235 และหลังจากนั้นอีกหลายปี ทัพมองโกลได้มุ่งไปยังทางตะวันตกเพื่อตียุโรปรวมทั้งรัสเซียในแถบแม่น้ำโวลก้าและมอสโก ยูเครน โปแลนด์ เป็นต้น

แต่แล้วโอโกไดก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน จากการที่ทรงดื่มเมรัยอย่างหนักในเดือนธันวาคม ค.ศ.1241 เป็นเหตุทำให้มองโกลต้องยกทัพกลับไปยังมองโกเลียเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่

แต่การเลือกผู้นำใหม่มิได้ราบรื่นดังที่เคย ด้วยได้เกิดความขัดแย้งและการแก่งแย่งอำนาจในหมู่ผู้นำ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นมา และทำให้การขยายดินแดนของทัพมองโกลต้องชะงักลงราวสิบปีจนถึง ค.ศ.1251

ผู้นำที่ก้าวขึ้นมาเป็นข่านองค์ใหม่คือ มองเค (M?ngke, ค.ศ.1209-1259)

 

พลันที่มองเคก้าวขึ้นมาเป็นข่าน พระองค์ก็ทรงสานต่อภารกิจขยายดินแดนไปทางยุโรปต่อไป และเพื่อให้มั่นใจในอำนาจ พระองค์ทรงกำจัดครอบครัวของโอโกไดจนหมดสิ้น และทรงบัญชาให้พี่น้องหรือเครือญาติองค์อื่นๆ ไปปกครองดินแดนที่ตีชิงมาได้

ถึงตอนนี้มองโกลจึงเพ่งมายังจีนเพื่อหมายจะตีชิง และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ไปตีจีนก็คือ กุบไล

กุบไล (Kublai, ค.ศ.1215-1294)1 เป็นหลานของเจงกิสข่าน ก่อนที่จะได้รับบัญชาให้ไปตีจีนนั้น กุบไลกำลังทำศึกเพื่อปราบราชอาณาจักรต้าหลี่ (the Kingdom of Dali) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลอวิ๋นหนัน

ครั้นได้รับบัญชาให้ไปตีจีน กุบไลจึงบุกเข้าตีใน ค.ศ.1254 และเมื่อมองเคสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1259 ในขณะกำลังทำศึกอยู่ที่ซื่อชวน กุบไลจึงต้องยุติศึกกับจีนแล้วเดินทางกลับไปยังมองโกเลียเพื่อเลือกข่านองค์ใหม่

โดยตัวเขาได้รับเลือกให้เป็นข่านองค์ใหม่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1260

ครั้นถึง ค.ศ.1271 หรือราว 11 ปีหลังรับตำแหน่งข่าน กุบไลจึงประกาศตั้งราชวงศ์หยวนพร้อมกับตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

เมื่อตั้งราชวงศ์ขึ้นแล้วปฏิบัติการตีจีนก็ดำเนินต่อไป

 

ย้อนกลับมาที่จีนตอนที่สื่อหมีหย่วนเรืองอำนาจนั้น จินยังคงคุกคามจีนเช่นเดิม และทั้งสองก็ยังคงมีการเจรจาสันติภาพดังก่อนหน้านี้ แต่การล่มสลายของจินแทนที่จะทำให้จีนมีความสงบสุขก็กลับไม่เป็นเช่นนั้น

โดยใน ค.ศ.1234 ที่จินล่มสลายลงนั้น ในจีนกลับเกิดความผันผวนของค่าเงิน จนค่าของธนบัตรตกลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเหรียญกษาปณ์ พลเรือนและทหารที่มีธนบัตรอยู่ในมือจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก

และเมื่อขุนนางระดับสูงเสนอให้แก้ปัญหานี้ด้วยการขึ้นภาษีที่ดิน บรรดาเจ้าที่ดินรายใหญ่ไม่เห็นด้วย พร้อมเสนอให้เก็บภาษีนี้จากบรรดาเหล่าพ่อค้าแทน มาตรการต่างๆ ยังคงปรากฏออกมาโดยไม่อาจช่วยแก้สถานการณ์ได้

จน ค.ศ.1246 ภาวะเงินเฟ้อก็ขยายตัวขึ้น ถึงแม้จะมิได้ดำรงอยู่นานก็จริง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีใครกล้าพอที่จะไปแตะต้องเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่ง

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว การซื้อผลผลิตของเกษตรกรเพื่อเป็นเสบียงให้แก่กองทัพที่มีขนาดใหญ่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เมื่อราชสำนักขอให้เกษตรกรยอมรับธนบัตรที่ตนจ่ายให้ทั้งๆ ที่ค่าธนบัตรกำลังตก

 

ตราบจน ค.ศ.1263 มหาอำมาตย์ชื่อ เจี่ยซื่อเต้า (ค.ศ.1213-1275) ได้เสนอแผนการปฏิรูปด้วยการเก็บภาษีตามมูลค่าความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นจากภาคเอกชน ออกกฎหมายซื้อที่ดินจากผู้ที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่รายละ 500 หมู่ (ประมาณ 286,500 ตารางเมตร)

แล้วแปลงเป็นที่ดินสาธารณะ

จากนั้นก็นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไร้ที่ดิน วิธีหลังนี้จึงใกล้เคียงกับการเวนคืนที่ดินที่ค่อนข้างสุดโต่งและสุ่มเสี่ยง แต่เป็นวิธีที่สร้างความมั่นคงทางการคลังให้แก่รัฐได้ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินธนบัตร และจำกัดการถือครองที่ดินของเจ้าที่ดิน

การปฏิรูปของเจี่ยซื่อเต้าแม้จะได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักก็ตาม แต่กลับได้รับการต่อต้านจากเล่าเสนามาตย์ที่สูญเสียผลประโยชน์ คนเหล่านี้โวยวายด้วยความคลุ้มคลั่งและด้วยท่าทีที่เกรี้ยวกราด

อีกทั้งโชคก็มิได้อยู่ข้างเจี่ยซื่อเต้าเมื่อปรากฏว่า ทัพมองโกลได้กรีธาเข้าตีจีนใน ค.ศ.1268 ศึกครั้งนี้ดำเนินอยู่หลายปี จนถึงปลาย ค.ศ.1274 เจี่ยซื่อเต้าที่อยู่ในวัย 61 ได้นำทัพเข้าตีทัพมองโกลให้ข้ามพ้นแม่น้ำหยังจื่อและแม่น้ำฮั่นกลับไป

 

ครั้น ค.ศ.1275 เขาได้นำกำลังพล 130,000 นาย และกองเรือ 2,500 ลำเข้าตรึงทัพมองโกลที่แม่น้ำหยังจื่อ แต่ทัพของเขากลับถูกตีแตก

แม้เขาพยายามจะฟื้นกองกำลังขึ้นมาใหม่แต่ไม่เป็นผล และถูกปลดโดยราชชนนีเซี่ยซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซ่งกงตี้ (ค.ศ.1274-1275) ที่ทรงมีพระชนมายุ 4 พรรษาขณะขึ้นครองราชย์

หลังถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้วเจี่ยซื่อเต้าถูกย้ายไปยังมณฑลฝูเจี้ยน เขาถูกสังหารโดยหัวหน้ากองผู้คุ้มกันตัวเขาที่มณฑลนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1275

ภายหลังมรณกรรมของเจี่ยซื่อเต้าไปแล้ว นักประวัติศาสตร์จีนยกย่องเขาให้มีฐานะเสมอกับหวังอันสือ ถึงแม้ทุกวันนี้การปฏิรูปของเขายังคงยากแก่การประเมิน ด้วยเป็นการปฏิรูปที่ยังความเสื่อมถอยให้แก่จีนอย่างรวดเร็ว

โดยที่หลังจากมรณกรรมของเขาไปแล้ว ทัพมองโกลยังโหมโจมตีจีนอย่างไม่ลดละ

 

การล่มสลายของซ่งใต้

หลังจากที่เจี่ยซื่อเต้าถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้ว ขุนนางที่เข้ามารับตำแหน่งของเขาได้เลิกล้มการปฏิรูปของเขาทั้งหมด แล้วนำทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบเดิมก่อนการปฏิรูป แต่ก็มิได้ช่วยให้สถานการณ์ภายในราชสำนักดีขึ้น

ความแตกแยกในหมู่ขุนนางยังคงอยู่ เวลานั้นทัพมองโกลได้เคลื่อนเข้ามายังเมืองหลินอันโดยทัพจีนมิอาจต้านทานได้ เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองที่ถูกทัพมองโกลปิดล้อมโดยมิอาจทำอะไรได้

จนเดือนธันวาคม ค.ศ.1275 ขุนศึกของมองโกลก็สั่งให้ทัพของตนสังหารราษฎร ข้าราชการพลเรือนและทหารของจีนจนสิ้น ข้างฝ่ายราชสำนักซ่งก็ยอมอ่อนข้อโดยยอมเป็นประเทศราชของมองโกล แต่มองโกลปฏิเสธ

ในที่สุดราชชนนีของจักรพรรดิจึงทรงนำจักรพรรดิพร้อมราชลัญจกรที่ใช้สืบทอดกันมาเพื่อยอมจำนน จากนั้นมองโกลจึงจับกุมจักรพรรดิในฐานะเชลย และนำพระองค์ไปควบคุมยังภาคเหนือในปีถัดมา

แต่นั่นมิได้ทำให้เหล่าเสนามาตย์อีกจำนวนหนึ่งของจีนยอมจำนนไปด้วยไม่

บุคคลที่มีบทบาทสูงผู้หนึ่งคือ เหวินเทียนเสียง (ค.ศ.1236-1283) เหวินเทียนเสียงเกิดที่เมืองจี๋โจว (ปัจจุบันคือเมืองจี๋อันในมณฑลเจียงซี) อายุ 18 สอบบัณฑิตในถิ่นเกิดได้อันดับที่ 1

ครั้นอายุ 20 ก็สามารถสอบเป็นบัณฑิตระดับสูงสุดที่เมืองหลวงหลินอันได้ เนื่องจากความเรียงของเขาได้รับการยกย่องจากขุนนางผู้คุมการสอบ จักรพรรดิจึงประกาศให้เขาเป็นจ้วงหยวน (จอหงวน) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของบัณฑิต

จากนั้นเขาก็รับใช้ราชสำนักซ่งเรื่อยมา

1ภาษาจีนเรียกขานกุบไลว่า ฮูปี้เลี่ย (Hubilie) ดังนั้น งานศึกษาบางที่จึงเขียนพระนามของกุบไลว่า Khubilai ซึ่งอ่านได้ว่า กูปีไล ในที่นี้จะยึดการเรียกขานแบบแรกด้วยเป็นคำเรียกขานที่ใช้กันโดยทั่วไป