การศึกษา : ผ่าเบื้องหลัง…สภาเทโหวต ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ!!

 

 

ผ่าเบื้องหลัง…สภาเทโหวต

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ!!

 

แม้ “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็สร้างความผิดหวังให้คนการศึกษาอย่างมาก

เพราะท้ายสุดแล้ว ที่ประชุมไม่ได้ลงมติรับหลักการ พร้อมกับปิดประชุมสภา และให้ไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในการเปิดประชุมสมัยหน้า เดือนพฤศจิกายนแทน!!

สาเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกเท เพราะเมื่อเข้าสู่การนับองค์ประชุม ปรากฏว่าสมาชิกแสดงตนเพียง 365 คน ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก 2 สภา ที่มีอยู่ 730 คน ทำให้ประธานสภาตัดสินใจไม่ให้ลงมติครั้งนี้…

ทำให้หลายฝ่ายเกิดคำถามว่า “รัฐบาล” จริงใจ…ที่จะแก้ปัญหาการศึกษาหรือไม่??

เพราะผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว ที่รัฐบาลประกาศ “ปฏิรูปการศึกษา” แต่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ถือเป็น “ยุทธศาสตร์” ด้านการศึกษา กลับไม่คลอดออกมาง่ายๆ ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ และเป็นความหวังในการปฏิรูป…

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่าสาเหตุที่สภายังไม่พิจารณาลงมติรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพราะพบว่า ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.มีน้อย จึงกังวลว่าถ้าปล่อยให้มีการลงมติ อาจจะได้รับคะแนนโหวต “ไม่เห็นด้วย” มากกว่า

เนื่องจากฝ่ายค้านส่วนใหญ่ท้วงติงเนื้อหาที่มีการยัดเยียดให้เด็กต้องปฏิบัติตาม และมองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้!!

ดังนั้น รัฐบาลต้องมั่นใจว่าเมื่อลงมติแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.จะอยู่ครบองค์ประชุม เพื่อเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงตัดสินใจลากเวลาออกไปอีก 2 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าในการลงมติครั้งถัดไปจะราบรื่น…

 

ประเด็นนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า แม้จะเลื่อนลงมติร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการศึกษา รู้สึกเสียดายเช่นกัน เพราะระยะเวลา 1 เดือน สามารถตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้

“หากเปิดสมัยประชุมหน้า แล้วสภามีมติรับหลักการ จะตั้ง กมธ.มาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้ ก็เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ได้เร็วขึ้น เชื่อว่าในการประชุมสมัยหน้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่านเรียบร้อย” นายวิษณุกล่าว

ส่วน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะคลอดทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายวิษณุระบุว่า ไม่รู้ ต้องถามรัฐมนตรีว่าการ ศธ. หรือไม่ก็คลอดในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 3

ด้าน “ครูเหน่ง” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ยืนยันว่าการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไป ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณาได้ผ่านกระบวนการการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติแล้ว ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาสมัยหน้าจะโหวตรับร่างฉบับนี้อย่างแน่นอน ไม่มีการปัดตกกฎหมายการศึกษา

“ที่มองว่ารัฐบาลไม่จริงใจต่อการพิจารณากฎหมายการศึกษา คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่คิดว่าเป็นประเด็นในเรื่องการสื่อสารมากกว่า” น.ส.ตรีนุชระบุ

เจ้าตัวยืนยันว่า “ไม่มี” ประเด็นทางการเมืองแอบแฝง แต่ยอมรับว่าการพิจารณาอาจล่าช้าไปจริง แต่ก็ไม่ถือว่าช้ามาก และยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษา “ไม่สะดุด” อย่างแน่นอน!!

 

ส่วนคำถามที่ตามมาว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จะปฏิรูปการศึกษาได้หรือไม่ เพราะคนในแวดวงการศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย…

เริ่มจาก ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) บอกว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเดิมการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ล่าช้าอยู่แล้ว กลับต้องมาล่าช้าเพิ่มอีก 2 เดือน เพราะต้องรอการลงมติในการประชุมสมัยหน้า

แม้จะเสียดายโอกาส แต่ ดร.เอกชัยก็มองว่า อาจเป็นเรื่องดี เพราะทราบมาว่ามีคนบางกลุ่มที่กังวลว่าอาจจะเสียผลประโยชน์ เสียตำแหน่ง เสียอำนาจที่เคยมี จึงพยายามคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้!!

ดังนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา สาเหตุที่สภายังไม่ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ อาจเป็นการ “แก้เกม” เบื้องต้นของรัฐบาล

เพราะรัฐบาลต้องมั่นใจว่า เมื่อลงคะแนนโหวตร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะต้อง “ผ่าน” อย่างเดียว หากลงมติไปแล้วผลออกมาว่าสภามีมติไม่รับหลักการ อาจเกิดปัญหาตามมาได้

ซึ่ง ดร.เอกชัยมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งข้อดี และมีข้อแตกต่างจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อย่างมาก เช่น กำหนดสมรรถนะให้เด็กได้บรรจุเป้าหมายตามช่วงวัย โดยเน้นคุณภาพการศึกษาสำคัญ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดชัดเจนว่าจะใช้ครูทำหน้าที่อื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการสอนไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ที่ครูจะต้องทำหน้าที่อื่น ทำให้ไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้ดีเท่าที่ควร เป็นต้น

ส่วนที่หลายคนมองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ไม่จริง เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้แน่นอน เพราะตัวกฎหมายกำหนดให้มีสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักสูตร และออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ดังนั้น แม้ประเทศจะเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 สถาบันหลักสูตรฯ ก็กำหนดหลักสูตร และแนวทางการจัดการเรียนการสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ได้!!

 

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ยังมี “จุดอ่อน” อยู่หลายประเด็น ไม่ช่วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต โดยเฉพาะการศึกษาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ที่การศึกษาจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร…

ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์เชื่อว่า สาเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกดันเข้าสภา เพราะรัฐบาลเคยรับปากว่าจะปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปตำรวจ แต่กินเวลามานาน 7-8 ปี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าที่รัฐบาลให้คำมั่นนั้น ไม่เป็นความจริง

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภา จึงเหมือนเป็นการบอกกล่าวต่อประชาชน ว่ารัฐบาลได้ทำตามที่ให้คำมั่นแล้ว!!

“ผมคิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ช้าเกินไป ตกยุกสมัย ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของปัจจุบัน และอนาคต แต่ตอบโจทย์คนบางกลุ่มที่อาจได้รับผลประโยชน์เท่านั้น มองว่าขณะนี้เรากำลังปฏิรูปการศึกษาที่ถอยหลังสู่อดีต ไม่ใช่เดินหน้าสู่อนาคต ที่สำคัญคือ ไม่ตอบโจทย์พลวัตของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งคนกลุ่มนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

ศ.ดร.สมพงษ์ยังได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ควรตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด ให้มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยเฉพาะตัวแทนของนักเรียน และผู้ปกครอง เพราะกฎหมายฉบับเดิมถูกร่างแค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น แม้ส่วนตัวอยากให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาให้เร็วที่สุด แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “ไม่ตอบโจทย์” การศึกษาใดๆ เลย

ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว สภาจะโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในการประชุมสมัยหน้าหรือไม่??

ซึ่งคงจะเป็นการดี ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มุ่งเน้นประโยชน์ที่ “เด็ก” และ “คุณภาพ” การศึกษาของประเทศ เป็นเป้าหมายหลักร่วมกัน

ไม่มัว “เล่นเกมการเมือง” จนทำให้กฎหมายที่ถือเป็นธรรมนูญการศึกษาของประเทศ ต้องล่าช้าไปอีก…

เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือนักเรียนตาดำๆ และคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่ถดถอยต่อไปอีก!!