เขย่าสนาม : ศึกชิงเจ้าภาพลูกหนัง ‘ซูซูกิ คัพ’ ปูทาง ‘ช้างศึก’ สู่บัลลังก์อาเซียน

เขย่าสนาม

เมอร์คิวรี่ / [email protected]

 

ศึกชิงเจ้าภาพลูกหนัง ‘ซูซูกิ คัพ’

ปูทาง ‘ช้างศึก’ สู่บัลลังก์อาเซียน

 

นับเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่ทัพนักเตะ “ช้างศึก” ทีมชาติไทย ห่างหายจากความสำเร็จกับการเป็นชาติเบอร์หนึ่งของวงการลูกหนังภูมิภาคอาเซียน ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน รายการ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ” หลังจากครั้งสุดท้ายที่ทีมไทยเป็นแชมป์เมื่อปี 2016

ทัพช้างศึกมีดีกรีเป็นมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังอาเซียน ด้วยการครองโทรฟี่เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ มากที่สุดถึง 5 สมัย ประกอบด้วย ปี 1996, 2000, 2002, 2014, 2016 รองลงมาอันดับ 2 เป็น สิงคโปร์ 4 สมัย (ปี 1998, 2004, 2007, 2012) ตามด้วย เวียดนาม 2 สมัย (ปี 2008, 2018) และ มาเลเซีย 1 สมัย (ปี 2010)

ตามเดิมนั้นฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 กำหนดจัดตั้งแต่เมื่อปีก่อนในรูปแบบเหย้า-เยือน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเดินทาง

สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) จึงได้ปรับรูปแบบการแข่งขันให้จัดในรูปแบบเจ้าภาพกลาง ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้

 

เอเอฟเอฟ ได้เปิดโอกาสให้ชาติสมาชิกอาเซียนเสนอตัวยื่นเจ้าภาพจัดศึกซูซูกิ คัพ 2020 โดยช่วงที่ผ่านมามีหลายชาติแสดงความสนใจกับการรับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา, สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย

รวมทั้ง ไทย เป็นอีกหนึ่งชาติที่ต้องการแสดงศักยภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับนาชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19

กัมพูชาวางแผนที่จะใช้มรดก เตโช เนชั่นแนล สเตเดี้ยม หรือสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ ที่ตั้งอยู่ห่างไปทางเหนือจากกรุงพนมเปญเพียง 18 กิโลเมตร ขนาดความจุ 75,000 ที่นั่ง รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ โดยสนามแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากจีนลงทุนก่อสร้างด้วยมาตรฐานระดับโอลิมปิก ด้วยงบฯ มูลค่า 168 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,600 ล้านบาท

ขณะที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย เป็นชาติอาเซียนที่มีสาธารณูปโภคพร้อมสำหรับการจัดกีฬาใหญ่ หลังจากที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ทำให้มีสนามกีฬาที่มีศักยภาพรองรับศึกลูกหนังชิงแชมป์อาเซียนได้อย่างไร้ปัญหา

จึงกลายเป็นงานหนักสำหรับไทยในการแย่งชิงเจ้าภาพครั้งนี้

 

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รวมทั้ง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะต้องการเป็นเจ้าภาพจัดศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมาไทยเคยผ่านจัดการแบดมินตันนานาชาติ 3 รายการใหญ่ ซึ่งผ่านพ้นด้วยการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในรูปแบบบับเบิล ห้ามคนในออก และห้ามคนนอกเข้า

ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.มองว่า ไทยมีศักยภาพที่จะจัดศึกฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ช่วงปลายปี 2021 โดยเชื่อมั่นว่าไทยก็มีโอกาส เพราะมีความพร้อม และเคยมีประสบการณ์จัดการแข่งขันใหญ่ท่ามกลางสภาวะการระบาดของโควิด-19 มาแล้วเมื่อช่วงต้นปี ในศึกแบดมินตันนานาชาติ 3 รายการใหญ่

สำหรับสนามแข่งขัน ราชมังคลากีฬาสถาน ก็ถือว่ามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ทั้งการเดินทาง โรงแรมที่พัก หากต้องจัดระบบบับเบิล

หรือสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ก็มีความพร้อม มีศักยภาพ โดยจะจัดแบบปิด 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ให้คนเข้าชมเลย หรือจำกัดคนดู ก็อาจต้องดูความเหมาะสมของสถานการณ์ และช่วงเวลาดังกล่าว

 

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ระบุว่า ไทยได้เปรียบประเทศอื่นคือ มีประสบการณ์จัดรายการใหญ่ๆ มาแล้ว ทั้งฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รวมถึงล่าสุดที่เป็นเจ้าภาพเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2021 รอบแบ่งกลุ่มที่ผ่านมา ซึ่งจัดภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ทางเอเอฟเอฟจะมีเงินสนับสนุนให้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32.7 ล้านบาท ในช่วงสถานการณ์ปกติ แต่ว่าจากการคำนวณถ้าต้องจัดในรูปแบบบับเบิลก็จะมีการตรวจเชื้อตามมาตรการ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าจะจัดให้ได้ตามมาตรฐานต้องใช้เงิน 120-150 ล้านบาทด้วยกัน!

ในส่วนของไทยจำเป็นต้องหางบประมาณเพิ่มเติมจากที่เอเอฟเอฟสนับสนุน

ขณะที่ทางด้านของกัมพูชาและสิงคโปร์ มีรายงานมาว่า กัมพูชานั้นมีข้อเสนอให้เอเอฟเอฟคือ จะไม่รับเงินสนับสนุนก้อนดังกล่าว รวมถึงสิงคโปร์เองก็จะไม่รับเช่นกัน

แต่ถ้าไทยจะจัดจะต้องรับเงินสนับสนุนดังกล่าวมา

 

สําหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้ทำเรื่องส่งไปยัง กกท.แล้ว ซึ่งถ้าจะจัดก็ต้องมีงบประมาณเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากเอเอฟเอฟ โดยกระบวนการจะขึ้นอยู่กับที่รัฐบาลไทยจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจะจัด จะต้องมีหนังสือตอบกลับมาภายในเดือนกันยายนนี้

“ตอนนี้อยู่ที่รัฐบาล ถ้าไม่มีหนังสือยืนยันมาก็ไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะจัด ยังเชื่อว่าโอกาสได้มีสูง เพราะจากที่คุยเบื้องต้นกับสมาชิกเอเอฟเอฟแล้ว ต่างอยากจะมาจัดที่ไทย เพราะไทยเคยจัดรายการใหญ่มาแล้ว มีมาตรฐานสูง” พล.ต.อ.สมยศให้ข้อมูล

การเป็นเจ้าภาพเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ แน่นอนว่าจะช่วยให้ทัพช้างศึกได้เปรียบอยู่พอสมควรกับการไล่ล่าแชมป์อาเซียนในรอบเกือบ 5 ปี แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจกับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำศักยภาพของไทยในการจัดกีฬาใหญ่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเป็นการปูทางไปสู่การเปิดประเทศอีกครั้งตามแนวทางของรัฐบาล

นับเป็นการใช้การจัดกีฬาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน และสร้างภาพลักษณ์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศไทยต้อนรับชาวโลกอีกครั้ง…