วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (13)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การดิ้นรนของเสนามาตย์ (ต่อ)

บทบาทของเฉาเชามาโดดเด่นก็ในตอนที่เขามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำจัดต่งจว๋อ อย่างไรก็ตาม แม้เฉาเชาจะไม่สู้จะประสบความสำเร็จในการกำจัดต่งจว๋อเท่ากับที่ซุนเจียนได้ทำไว้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเฉาเชาก็มิได้ทิ้งหน้าที่ในการปราบปรามกบฏโพกผ้าเหลืองที่ยังมีบทบาทอยู่

ในระหว่างนี้เองเฉาเชาก็สามารถกำราบกลุ่มกบฏที่เคลื่อนไหวอยู่เอี่ยนโจวกับชิงโจวได้สำเร็จ

ความสำเร็จครั้งนี้ส่งผลประการหนึ่งตามมาด้วย นั่นคือ กลุ่มกบฏที่ยอมจำนนที่มีกำลังพลอยู่สามแสนนายนั้น ได้ตกมาอยู่ในมือของเฉาเชาไปด้วย

จากเหตุดังกล่าว เฉาเชาจึงได้ตั้งมั่นและบริหารจัดการกองกำลังของเขาที่สองมณฑลนี้ขึ้นมาใหม่ และเรียกกองกำลังนี้ว่า “กองกำลังชิงโจว” จากนั้นเขาก็อยู่ปกครองที่มณฑลนี้นับแต่นั้นมา

การปกครองของเขาที่มณฑลนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางการเกษตรที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นระบบ จนทำให้พื้นที่ในการปกครองของเขาไม่เพียงราษฎรจะไม่อดอยากเท่านั้น

หากยังมีเสบียงสะสมสำหรับกองทัพได้อย่างเพียงพออีกด้วย

 

ในขณะที่เฉาเชาพัฒนามณฑลที่เขาปกครองจนมีฐานที่มั่นคงอยู่นั้น ต่งจว๋อซึ่งได้ย้ายไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉางอานแล้วถูกหลี่ว์ปู้สังหารไปแล้วนั้น แต่นั้นมาฉางอานก็หาความสงบไม่ได้ ด้วยว่าขุนนางในเมืองนี้ต่างก็ขัดแย้งและแก่งแย่งกันไปเป็นใหญ่

ความไม่สงบนี้ได้มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญใน ค.ศ.195 เมื่อความขัดแย้งในฉางอานมาถึงจุดแตกหักจนทำให้ฮั่นเสี้ยนตี้ต้องอพยพกลับมาที่ลว่อหยาง ซึ่งในเวลานั้นเหลือแต่ซากปรักหักพังจากการเผาของต่งจว๋อ การกลับมายังลว่อหยางของฮั่นเสี้ยนตี้จึงไม่ได้ราบรื่น

ซ้ำร้ายกลุ่มขุนนางที่ฉางอานยังมีแผนที่จะปลงพระชนม์พระองค์อีกด้วย

ข้างฝ่ายเฉาเชาซึ่งมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกขณะนั้น เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงยกกำลังไปช่วยฮั่นเสี้ยนตี้มาได้ ถึงตรงนี้ก็เป็นอันว่าฮั่นเสี้ยนตี้ได้ตกอยู่ในการ “ควบคุม” ของเฉาเชาไปโดยปริยาย

จากนั้นมา เฉาเชาซึ่งแต่เดิมเป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น และแสดงออกด้วยความไม่พอใจการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของต่งจว๋อ ก็กลับมีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกับต่งจว๋อแทน

 

ภายใต้คำแนะนำของขุนนางที่ปรึกษาสองคน เฉาเชาได้นำฮั่นเสี้ยนตี้มาพำนักที่อำเภอสี่ว์ (สี่ว์เซี่ยน, ปัจจุบันคือสี่ว์ชางในมณฑลเหอหนาน) ใน ค.ศ.196 จากนั้นก็สถาปนาเมืองนี้ให้เป็นเมืองหลวง และเพื่อให้ดูว่าตนมีความจงรักภักดี เฉาเชาจึงได้สร้างศาลบรรพชนของราชวงศ์ฮั่นขึ้นที่เมืองนี้ด้วย เพื่อที่ฮั่นเสี้ยนตี้จะได้แสดงความคารวะต่อบรรพชนของพระองค์ในวาระหรือเทศกาลต่างๆ1

ข้างฮั่นเสี้ยนตี้นั้นเล่าเมื่อทรงได้รับการปฏิบัติเช่นนี้จากเฉาเชาก็หมดหนที่จะทำสิ่งใดได้อีก เมื่อประกอบเข้ากับความอ่อนแอของพระองค์เองด้วยแล้ว จึงได้แต่ปฏิบัติตามที่เฉาเชาประสงค์

และเรื่องหนึ่งที่ทรงทำไปก็คือ การแต่งตั้งให้เฉาเชาเป็นนายพลและมอบที่ดินให้เขาด้วยพื้นที่ที่มหาศาล

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเท่ากับเฉาเชาได้รวบอำนาจต่างๆ ไว้ในมือ แล้วก็ใช้มันในนามจักรพรรดิแทบจะสมบูรณ์

 

ในที่สุดแล้ว เฉาเชาก็ได้เข้ามาแทนที่ต่งจว๋อในการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ แต่ที่ต่างกันออกไปคือ เฉาเชามิได้ใช้เยี่ยงทรราชดังที่ต่งจว๋อใช้ ที่สำคัญ เฉาเชามีความรู้ความสามารถทั้งในกิจการพลเรือนและกิจการทหาร แล้วก็ใช้มันไปด้วยความพยายามที่จะรวมจีนให้เป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่ง

แต่สำหรับขุนนางกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่นอกเขตอำนาจของเฉาเชาแล้วย่อมไม่พอใจ ที่ต่างเห็นว่าเฉาเชากระทำไปนั้นก็ไม่ต่างกับจักรพรรดิเป็นหุ่นเชิดของเฉาเชา

เมื่อเป็นเช่นนี้ความคิดที่จะยุติการกระทำของเฉาเชาจึงเกิดขึ้นแก่ขุนนางเหล่านี้โดยทั่วไป

ความพยายามที่จะล้มอำนาจที่เฉาเชามีอยู่จึงเกิดขึ้น

หนึ่งในผู้ไม่พอใจเฉาเชาย่อมต้องเป็นหยวนเส้า ในขณะที่เฉาเชาเองก็ตระหนักดีว่า แม้ตนจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนและมีจักรพรรดิเป็นหุ่นเชิดอยู่ในมือ แต่หยวนเส้าก็ยังคงมีความแข็งแกร่งมากกว่าตน

จากเหตุนี้ หยวนเส้าจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เฉาเชาคิดจัดการ แต่ด้วยเหตุที่ยังมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองอื่นที่เป็นปฏิปักษ์กับตนอีกหลายกลุ่ม เฉาเชาจึงใช้เวลาช่วงต้นของอำนาจในการจัดการกับกลุ่มอำนาจเหล่านั้นก่อน

กลุ่มอำนาจทางการเมืองกลุ่มแรกๆ ที่เฉาเชาจัดการคือ กลุ่มขุนศึกที่ได้รับราชโองการจากฮั่นเสี้ยนตี้ให้กำจัดเฉาเชา แต่แผนการถูกเปิดเผยขึ้นมาก่อน เฉาเชาจึงชิงลงมือเป็นฝ่ายจัดการก่อนด้วยการฆ่าขุนศึกกลุ่มนี้ตายทั้งหมด

และเพื่อให้หมดเสี้ยนหนาม เฉาเชายังจัดการไปถึงตระกูลที่พัวพันกับแผนการนี้ถึงสามตระกูลด้วยกัน

เหตุการณ์นี้ยิ่งเพิ่มความไม่พอพระทัยแก่ฮั่นเสี้ยนตี้ยิ่งขึ้น และเมื่อมเหสีของพระองค์ทรงเล่าเหตุการณ์นี้ผ่านจดหมายที่ทรงมีไปถึงราชบิดาของพระนาง เฉาเชาซึ่งจับได้ก็ฆ่ามเหสี ราชบิดา อนุชา ตลอดจนคนในตระกูลนับร้อยคนจนสิ้น

ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มอำนาจในราชสำนักที่จะโค่นเฉาเชายังมีแพทย์หลวงประจำฮั่นเสี้ยนตี้กับขุนนางจำนวนหนึ่งอีกด้วย กลุ่มนี้พยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากเฉาเชา แต่ก็ถูกจับได้และถูกเฉาเชาปราบจนสิ้นเช่นกัน

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชสำนักครั้งนั้นทำให้เฉาเชาเผด็จอำนาจให้เด็ดขาดมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องหนึ่งที่เขาทำไปก็คือ แต่งตั้งให้บุตรสาวของเขาเองเป็นมเหสีเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของฮั่นเสี้ยนตี้ จากนั้นก็ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิด้วยการสร้างภารกิจให้กับตนในการรวมจีนให้เป็นเอกภาพ

จากเหตุนี้ เมื่อราชสำนักตกอยู่ในมืออย่างเด็ดขาดแล้ว เขาก็มุ่งปราบกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่อยู่นอกราชสำนักต่อไป

นับจาก ค.ศ.192 ที่ต่งจว๋อตายไปและเฉาเชาได้เข้ามาใช้อำนาจแทนจักรพรรดินั้น กลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ไม่พอใจเฉาเชาก็ไม่หยุดที่จะเคลื่อนไหว ด้านหนึ่ง เพื่อโค่นล้มเฉาเชา แต่อีกด้านหนึ่ง ก็กลับขัดแย้งกันเองบ้าง ร่วมมือกันบ้าง ความเป็นปึกแผ่นจึงไม่มีอยู่ในกลุ่มอำนาจทางการเมืองเหล่านี้ ยิ่งไม่มีก็ยิ่งล้มเฉาเชาได้ยาก

และทำให้เฉาเชามีข้อได้เปรียบในการกำจัดกลุ่มอำนาจเหล่านี้มากขึ้น

 

เริ่มที่หลี่ว์ปู้หลังจากฆ่าต่งจว๋อตายแล้ว เขาก็ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นนายพลจากขุนนางที่เป็นแกนนำในการฆ่าต่งจว๋อ แต่ทว่า หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มของหลี่ว์ปู้ก็ถูกตอบโต้จากขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งในฉางอาน จนขุนนางที่เป็นแกนนำของหลี่ว์ปู้ถูกฆ่าตายทั้งครอบครัว

จากเหตุนี้ หลี่ว์ปู้จึงหนีไปพร้อมกับทหารใต้บังคับบัญชาอีกจำนวนหนึ่ง แล้วไปเข้าด้วยกับจางหยางขุนศึกทางภาคเหนือ จากนั้นก็ไปอยู่กับขุนนางอื่นในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหยวนซู่ หยวนเส้า จางเหมี่ยว และสุดท้ายคือหลิวเป้ย (เล่าปี่) ก่อนที่จะยึดครองสีว์โจวเอาไว้ได้

ข้างฝ่ายส่วนหยวนเส้าก็ได้เข้ายึดครองจี้โจวจากขุนนางที่เป็นผู้ปกครองเดิม โดยขุนนางคนนี้ได้ยอมตนมาขึ้นต่อเขา การขยายอิทธิพลครั้งนี้ของหยวนเส้าทำให้สามารถควบคุมอาณาบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำเหลืองเอาไว้ได้

จากนี้ไปพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำฮว๋ายก็ปะทุเป็นความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจต่างๆ อันประกอบด้วยกลุ่มของหยวนซู่ เฉาเชา เถาเชียน (ค.ศ.132-194, ผู้ว่าการสีว์โจวหรือมณฑลสีว์) หลี่ว์ปู้ และหลิวเป้ย ความขัดแย้งนี้มีปัญหาใจกลางอยู่ที่การแย่งชิงพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ มาเป็นของตน

ที่น่าสนใจก็คือว่า ความขัดแย้งนี้ยังมีบางกรณีที่เป็นความแค้นส่วนตัวอีกด้วย

 

จากความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ ในที่นี้จะเริ่มจากเถาเชียนผู้ซึ่งครั้งหนึ่งสมัครพรรคพวกของเขาเคยฆ่าบิดาของเฉาเชา เป็นเหตุให้เฉาเชาผูกใจเจ็บและเปิดศึกกับเขาใน ค.ศ.194

แต่เถาเชียนได้รับการช่วยเหลือจากหลิวเป้ย ประกอบกับเฉาเชารู้ข่าวมาว่าหลี่ว์ปู้เข้ายึดเอี่ยนโจวในขณะที่เขาไม่อยู่ เฉาเขาจึงหยุดทำศึกกับเถาเชียนเอาไว้ก่อน แต่ทว่าเถาเชียนได้เสียชีวิตลงในปีเดียวกันนั้น จึงทิ้งบางส่วนของสีว์โจวให้กับหลิวเป้ยดูแล

จนปีถัดมาเฉาเชาก็สามารถขับไล่หลี่ว์ปู้ออกจากเอี่ยนโจวไปได้ หลี่ว์ปู้จึงไปขอความช่วยเหลือจากหลิวเป้ยที่สีว์โจว และแม้จะได้รับการต้อนรับจากหลิวเป้ย แต่การเป็นพันธมิตรกันนี้ก็เป็นไปไม่นาน

เพราะหลังจากนั้นต่อมา หลี่ว์ปู้ได้ทรยศหลิวเป้ยด้วยการยึดสีว์โจวเอาไว้โดยได้รับการสนับสนุนจากหยวนซู่

———————————————————————————-
1เป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติของชาวจีนต่อบรรพชนของตน ซึ่งโดยทั่วไปจะแสดงความคารวะต่อหน้าหลุมศพของบรรพชนหรือป้ายชื่อในศาลบรรพชนประจำตระกูล แต่ในกรณีที่ต้องจากถิ่นฐานไปไกลจนมิอาจกลับถิ่นเดิมได้อีก ชาวจีนจะนำป้ายชื่อบรรพชนของตนติดไปด้วย (หรือสร้างขึ้นใหม่ในกรณีที่จำเป็น) เพื่อตั้งยังศาลบรรพชนในถิ่นฐานใหม่ กรณีที่เฉาเชาสร้างศาลบรรพชนราชวงศ์ฮั่นถวายแก่ฮั่นเสี้ยนตี้ที่เมืองสี่ว์นี้ ก็เพื่อแทนศาลบรรพชนที่เมืองลว่อหยางซึ่งถูกต่งจว๋อเผาจนเป็นจุณ