มองอเมริกา ภายใต้ความท้าทายใหม่ 20 ปีให้หลังสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ที่ล้มเหลว?

รายงานพิเศษ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

มองอเมริกา ภายใต้ความท้าทายใหม่

20 ปีให้หลังสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ที่ล้มเหลว?

 

ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ 20 ปีหลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่ผ่านมาแล้ว 20 ปี ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ การที่ทางฝ่ายอเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ทำให้ดูเหมือนว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดล้มเหลว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ไม่กล้าบอกว่าที่ทำมาทั้งหมดนั้นไม่ถูก เพราะว่ามันจะเป็นการทำลายอุดมการณ์ ความเชื่อ และจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาไปมาก

ณ ตอนนี้ก็มีคนที่วิพากษ์ ว่าจริงๆ แล้วโจ ไบเดน ก็ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายแบบที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ดำเนินการมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และผ่านมา 4 ประธานาธิบดีมาจนถึงไบเดน ถึงแม้จะบอกว่าเลิก จะถอนทหารต่างๆ แต่ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายโดยสิ้นเชิง

การดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย คนที่วิจารณ์เขาบอกว่า ให้ดูดีๆ อย่างตอนที่ถอนกำลังออกมา ก็มีกลุ่มไอซิส เป็นอีกกลุ่มที่ไม่ใช่อัลกออิดะห์ ไม่ใช่ทาลิบัน เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นมุสลิม ก็มีเหตุวางระเบิดทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไปมาก โจ ไบเดน เองก็กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมาก ไม่กี่วันต่อมาก็ส่งโดรน อากาศยานไร้คนขับ ไปโจมตีในจุดที่คิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแฝงตัวอยู่

ครั้งแรกเขาก็คิดว่า ได้กำจัดสังหารกลุ่ม ISIS ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าการดำเนินการครั้งที่ 2 ดันไปโดนชาวบ้าน จนมีเด็กเสียชีวิตไปหลายคน ซึ่งสภาพแบบนี้เอง เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เริ่มทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่มีการดำเนินนโยบายกับรัฐบาลที่ทำผิดพลาด แถมเป็นการเปิดบาดแผลทำให้คนพื้นที่คิดว่าสิ่งที่อเมริกาทำ การทิ้งระเบิด การสังหารอะไรต่างๆ แบบนี้ มันสร้างความเสียหายเดือดร้อนทุกข์ยากลำบากให้กับคนที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วย คนที่บริสุทธิ์ก็ต้องเสียชีวิตไป แล้วไม่ใช่เพียงครั้งเดียว มันเกิดขึ้นหลายครั้ง

สิ่งเหล่านี้ทำให้แทนที่กระบวนการแบบที่อัลกออิดะห์จะหายไป แต่ปรากฏว่ามันกลับตรงกันข้ามกัน ทำให้เกิดการเติบโต แตกหน่อมากขึ้นเป็นกระบวนการ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่ ศ.ธเนศบอกว่า ไม่ใช่ความสำเร็จของสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายที่อเมริกาทำมาตลอด โจ ไบเดน บอกว่า เราจะถอนทหารแล้ว จะไม่ส่งไปทำแบบนั้นแล้ว เพราะว่าได้รับบทเรียนแล้วว่าการใช้กำลังไป ส่งกองทัพทหารไปแล้ว คิดจะสร้างอัฟกานิสถานใหม่ มีตั้งกองกำลัง ตั้งกระทรวง สร้างกองทัพให้ใหม่ ตั้งโรงเรียน ทำทุกอย่างให้เพื่อจะเป็นประเทศสมัยใหม่ แบบที่อเมริกาอยากจะเห็น

แต่มันไม่ได้เกิดขึ้น แล้วปรากฏว่าพวกผู้มีอิทธิพล ทหารในพื้นที่ก็ถูกเปิดเผยว่ามีการคอร์รัปชั่น โกงกินกัน อเมริกาก็เลยบอกว่าจะไม่ทำแบบเดิมแล้ว ก็เพียงแต่สร้างภูมิต้านทานให้คนในสังคม จำแนกว่าอะไรคือความรุนแรง อะไรคือความถูกความผิด เพื่อที่จะไม่หลงผิดไปกับอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเจอคนที่สงสัยว่าจะเป็นศัตรูก็ให้คนได้ใช้ความคิด

อันนี้ถือเป็นแนวนโยบายที่ใหม่หน่อย แต่มันก็ใช้เวลานานกว่า 20 ปี กว่าจะคิดได้ สูญเสียทรัพยากรไปไม่ต่ำกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เสียเงินมหาศาล ถามว่าได้อะไรกลับมา?

ทั้งหมดที่ทำลงไปกลับกลายเป็นประเทศสะบักสะบอม มีผู้คนเสียชีวิตไปไม่รู้เท่าไหร่

ศ.ธเนศบอกว่า สิ่งที่นักประวัติศาสตร์อเมริกันที่มหาวิทยาลัยเยล เขาวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของตัวโจ ไบเดน ว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีเสนอในการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาซึ่งแต่ก่อนเป็นการใช้กำลังแบบตาต่อตา แต่ตอนนี้เป็นแบบมนุษยธรรม คือใช้ความอดทนอดกลั้น ใช้เหตุผล ให้การศึกษา ให้ข้อมูลให้คน ซึ่งเขาก็มองว่าที่ทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้นโยบายในการใช้กำลังหมดไป

เพราะคนที่ไม่เห็นด้วย เขาก็มองว่า ตราบใดที่มีการมองว่าการก่อการร้ายมันเป็นสงครามแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น รัฐบาลอเมริกันซึ่งมีกองกำลังอาวุธอยู่ มีเครื่องมือในการปราบก็จะปฏิบัติต่อ ฝ่ายที่เขาเรียกฝ่ายก่อการร้าย ก็มีโอกาสที่จะทำให้เมริกาส่งโดรนเข้าไป โดยที่ไม่ได้ส่งกองกำลังเข้าไป หรือใช้โมเดลกองกำลังไม่มากเหมือนตอนสหรัฐปฏิบัติการกับบิน ลาเดน ที่ปากีสถาน คือเป็นกองกำลังเงียบๆ ลงไปจัดการภายใน 1-2 วัน

คนเขาก็เลยมองว่าอเมริกาเพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบสงครามจากการที่ต้องใช้กำลังมาก ใช้รถถังระดมสรรพกำลังเหมือนกับในหนัง เปลี่ยนมาทำแบบเงียบๆ ใช้โดรน ใช้หน่วยนาวิกโยธิน

ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากการทำสงคราม เพราะว่าที่สุดแล้วเป็นการฆ่าคน

แล้วก็ฆ่าคนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไปด้วย

ผลที่ตามขึ้นมาก็จะมีคนที่ไม่พอใจจะเกิดขึ้นอีก ก็จะมีการต่อต้านอเมริกาเกิดขึ้นอีก ตัวสหรัฐเองก็จะไม่ยุติการใช้กำลังอาวุธในการไปแก้ไขปัญหากับคนอื่น ในขณะที่บอกว่าต่อไปจะใช้เหตุผลมากขึ้น ใช้สติปัญญา จะใช้ความเป็นมิตรเจรจากันก่อน

แต่ข้างหลังคุณมีอาวุธครบมือ แล้วก็รอเวลา ก็แสดงว่าพวกคุณไม่ได้เลิก

สิ่งที่คุณเรียกว่าสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย ไม่ว่าคุณจะใช้ในรูปแบบไหนมันก็ไม่หมดไปเสียทีในโลกใบนี้ แล้วมันก็จะมีผลต่อเนื่องตามมา ฝ่ายที่เขารับไม่ได้เขาจะสู้ เขาก็ต้องไปหาทางสู้ต่อไป มันก็ต้องมีคนเกิดขึ้นมาใหม่

ถามว่า บิน ลาเดน ตายไปแล้ว มันหมดไปไหมกลุ่มอัลกออิดะห์ ก็ไม่ แล้วมันก็จะมีคนรุ่นใหม่ตามขึ้นมา โลกนี้ก็จะไม่หมดการทำสงครามผ่านความเชื่ออุดมการณ์ที่ต่างกัน มาจากความคิดที่ฝังหัวว่าคนที่ทำแบบนี้ ตรงข้ามกับความเชื่อความคิดของคุณ มันก็ไม่มีทางที่โลกเราจะเข้าสู่ยุคสันติภาพจริงๆ ได้ ประเทศทุกประเทศก็จะไม่เกิดสันติภาพ

เรายังอยู่แค่จุดเริ่มต้น ยังไม่ถึงครึ่งทางด้วยซ้ำ ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา

ศ.ธเนศบอกอีกว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐโดยเฉพาะด้านความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ความไม่สงบสุขต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหารและเศรษฐกิจ คือมันจะโยงกันไปหมดเลย เพราะหลังจากที่จอร์จ บุช (ผู้พ่อ) ที่ประกาศสงครามอ่าวเปอร์เซีย มีการประกาศนโยบายว่า อเมริกาสร้างระเบียบโลกใหม่ (New World Order) เปิดพื้นที่การค้าให้กว้างขึ้น ให้เสรีขึ้น บอกทุกคนว่าไม่มีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา พูดง่ายๆ ก็คือแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ชนะแล้ว เพราะฉะนั้น คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีความหมาย อเมริกาก็จะช่วยสนับสนุนให้ทุกที่เป็นเสรีนิยม

การที่อเมริกามองว่าการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมโลก และการพัฒนาไปของระบบทุนนิยม มันขึ้นอยู่กับการค้ำจุนของอเมริกา สงครามในอัฟกานิสถานต้องหยุดไป การต่อต้านทาลิบันต้องหยุดไป อาจจะมีการเจรจามากขึ้น แต่มันก็จะไม่หมดไปอย่างที่นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเยลเขาวิพากษ์ความคิด ว่ายังไม่ถึงที่สุด

ยังไม่มีทางที่อเมริกาจะเข้าสู่นโยบายสันติภาพอย่างจริงจัง

ถ้าพูดให้มันดูดีหน่อย ท่าทีตอนนี้แค่เป็นการสงวนการใช้กำลังไว้ อเมริกาก็ยังมองว่ายังมีคนไม่ดีอยู่บนโลกนี้ เพราะฉะนั้น อเมริกาก็จะทำตัวเหมือนคอยเป็นผู้กำกับ ให้คนทำตัวให้ดี

สำหรับสมการโลกในปัจจุบันนี้ก็จะมีประเทศจีนที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้นและการเมืองเข้มแข็ง และจีนก็จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ แต่นโยบายทางการทหารของจีนก็ยังไม่มีนโยบายในการดำเนินต่อไปข้างนอก แต่เขาก็เริ่มทำในที่ของเขา เช่น ไต้หวัน ในทะเลจีนใต้ ก็ใช้นโยบายทางการทหารชัดเจน แต่เขาไม่ขยับออกไปจากเขตที่จีนมองว่าเป็นที่ตั้งเดิมของเขา

ซึ่งในอนาคตภายภาคหน้าเราก็ไม่รู้ว่าจะขยายไปเพิ่มมากแค่ไหน

เพราะฉะนั้น อเมริกาก็คงจะติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดและพยายามที่จะคานอำนาจ ดุลอำนาจในด้านการทหารต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ธเนศมองว่า ด้วยความที่จีนเข้ามาแทนที่สหภาพโซเวียต แต่จีนไม่ได้ทำแบบโซเวียต คือไม่ส่งกำลังเข้าไปแทรกแซงแบบที่โซเวียตใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซง เช่น ใช้กับอัฟกานิสถาน ไปสร้างเวทีของสงครามตัวแทนต่างๆ เข้าใจว่าจีนคงจะไม่เอา จีนก็อาจจะสร้างแนวร่วม สร้างยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนจีนมากขึ้น แทนที่ประเทศต่างๆ จะเป็นพันธมิตรของอเมริกา

แนวโน้มจากนี้ต่อไปก็คือ อเมริกาจะอ้างพันธมิตรแบบความศิวิไลซ์ มีอารยธรรม อุดมการณ์ด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หลังจากนี้ก็จะอ้างลำบากขึ้น เพราะจีนก็พยายามจะสู้ในอุดมการณ์ในแบบของเขา เพราะฉะนั้น จะมีประเทศส่วนหนึ่งก็จะเอาแบบจีน ทำแบบจีน เป็นพฤติกรรมแบบจีน

สหรัฐอเมริกาหลังจากนี้ก็จะมีความลำบากในการหาพันธมิตร หาแนวร่วม ที่อยู่ในอุดมการณ์เสรีนิยมแบบเก่าที่เคยใช้มา เรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนความเท่าเทียมกันต่างๆ เพื่อไปต่อต้านกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในประเด็นต่างๆ แบบนี้ จะไม่มีความเข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน อันนี้คือภาพที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้

ชมคลิป