‘นักการเมือง’ (2478) : คู่มือการหาเสียงของส.ส.ยุคแรก/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘นักการเมือง’ (2478)

: คู่มือการหาเสียงของส.ส.ยุคแรก

 

“ข้าพเจ้าจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยตั้งวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อชักชวนให้พี่น้องคนไทยทั้งหลายมีความรู้สึกในทางการเมืองมากขึ้นและเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้แทนราษฎรในคราวต่อไป” (เขมชาติ บุญยรัตนพันธุ์, คำนำนักการเมือง)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 หนังสือการเมืองขณะนั้นเรียกร้องให้พลเมืองทุกคนช่วยกันปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากภัยคุกคามว่า ประชาธิปไตยจะถาวรได้ ก็ต้องอาศัยปวงชนพลเมืองช่วยกันป้องกันและส่งเสริม

…เรามีหน้าที่ทางศีลธรรมและชุมชนที่จะต้องคอยป้องกันประชาธิปไตย แม้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ และไม่เพียงแต่ป้องกัน ยังต้องคอยส่งเสริมให้วัฒนาถาวร เพราะว่าการแตกดับของประชาธิปไตยย่อมหมายถึงการแตกดับแห่งสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม ในปัจจุบันนี้ เราจะไปหารูปการปกครองอันใดที่นำพาในประโยชน์สุขของพลเมืองยิ่งไปกว่าประชาธิปไตยเป็นอันหาไม่ได้แล้ว

การปฏิวัติ 2475 คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดไปสู่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหมือนหนึ่งการทำ “สังคมสัญญา”

ดังที่ปรีดี พนมยงค์ ตีความการปฏิวัติ 2475 คือ การทำสัญญาประชาคมให้พระมหากษัตริย์คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอยู่แต่เดิมดังว่า การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะผู้แทนระบอบราชาธิปไตยเหนือกฎหมายได้โอนอำนาจของระบบนั้นกลับคืนให้ปวงชนเป็นข้อตกลง คือสัญญาระหว่างระบบเก่ากับปวงชนชาวไทยที่จะได้สิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ข้อตกลงชนิดนี้คือ สังคมสัญญาที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไม่อาจจะละเมิดได้ (ปรีดี, 2516)

นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ (2455-2334) จบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ (2472) เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมาย จนสำเร็จเนติบัณฑิต (2474) เข้าทำงานในสำนักงานโฆษณาการ (2476) รับผิดชอบในการปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด

ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด (2480) เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

จากนั้น ผันตัวเองออกไปเป็นนักการทูต (2498-2501) ประจำอาร์เจนตินาคนแรก ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารล้มจอมพล ป.ลงแล้ว ต่อมาจอมพลสฤษดิ์เรียกเขากลับไทย

หลังจากนั้น เขาพ้นจากตำแหน่งราชการและทำเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ภาคเอกชน เขาเคยประเมินการเมืองไทยในยุคสฤษดิ์ให้ลูกสาวฟังว่า เป็น “มิลิทารี คุนต้า สมบูรณ์แบบ”

แม้นในเวลาต่อมา จะมีการเปิดให้มีการเลือกตั้ง เขาลงสมัครเช่นเดิม แต่บรรยากาศทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปแบบถอยหลังเข้าคลอง

เขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ กับหนังสือของเขาเมื่อ 2478

หนังสือเรื่องนักการเมือง (2478) เล่มนี้ เป็นบันทึกความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของอำนาจอธิปไตยของประชาชนในการกำหนดอนาคต บทบาทของนักการเมือง พร้อมทัศนะทางการเมืองของข้าราชการกรมโฆษณาการที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจในการส่งเสริมการปกครองใหม่ให้ประชาชนเข้าใจ ไม่นานจากนั้น เขาก็ลาออกลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดจนสำเร็จ (2480)

ในช่วงที่เขาทำงานกับกรมโฆษณาการในการส่งเสริมการปกครองประชาธิปไตย กระตุ้นให้พลเมืองมีความแข็งขันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เขาอยู่ในทีมของไพโรจน์ ชัยนาม อำพัน ตัณฑวรรธนะ และสมบูรณ์ เหล่าวานิช ตระเวนเผยแพร่ความรู้ไปทั่วอีสานถิ่นทุรกันดาร

เขาบันทึกไว้ในหนังสือนักการเมืองถึงความรู้สึกของคนไทยในชนบทภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อทราบพระบาทสมเด็จข่าวพระปกเกล้าฯ สละราชย์ว่า

“…หลังจากแสดงปาฐกถาแล้ว ผู้แสดงได้บอกข่าวเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงลาออกจากราชสมบัติ ให้ราษฎรซึ่งมาประชุมฟัง เมื่อบอกแล้ว ข้าพเจ้าได้คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลง อันคาดว่าจะเกิดจากสีหน้า หรืออาการของผู้ที่มาฟังบ้าง แต่เปล่า ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงหรือตื่นตกใจแต่อย่างใดเลย ราษฎรทั้งหลายได้ฟังและได้ยิน แต่ทว่า ข่าวที่ได้ยินนั้น ไม่ทำให้เขารู้สึกดีใจ เสียใจ หรือประหลาดใจแต่อย่างใด เสมือนหนึ่งว่า เรื่องที่บอกนั้น ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องแก่เขา ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง”

ในช่วงที่เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อปาฐกถาให้ประชาชนฟังจนป่วยเป็นมาลาเรียเจียนตาย แต่ทำให้เขาพบเห็นชีวิตของผู้คนมากมาย

และเล่าว่า ชาวบ้านในอีสานมีชีวิตยากลำบาก วนเวียนแต่ชีวิตชาวนามานาน

ส่วนคนทางใต้ส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้รู้ภาษาไทย ส่วนธรรมเนียมประเพณี ศาสนาเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนตัวไม่ควรแทรกแซง

ดังนั้น เขาจึงเกิดความต้องการเป็นนักการเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชน

เขาบันทึกว่า “นับแต่ลัทธิประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักแห่งการปกครองของประเทศแล้ว อำนาจอธิปไตยซึ่งแต่ก่อนเคยตกอยู่ในกำมือของคนคนเดียวได้คลายออกและกระจายไปอยู่ในมือของประชาชนชาวสยามโดยทั่วกัน”

พระยาพหลพลพยุหเสนา ใช้สิทธิลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง (ภาพ ปรัชญากรณ์ ละครพล)

สํหรับหนังสือนักการเมือง (2478) เล่มนี้ เขาเขียนก่อนลาออกจากราชการเพื่อลงสมัครเป็นผู้แทนฯ (2480) แบ่งออกเป็น 5 บท ดังนี้

บทนำ มติมหาชนคืออะไร? ประโยชน์ของมติมหาชน มติมหาชนเกิดขึ้นได้อย่างไร

บทที่ 2 นักการเมือง คุณสมบัติของนักการเมือง

บทที่ 3 ก้าวไปสู่เวทีการเมือง การเผยแพร่โดยทางหนังสือ การเผยแพร่โดยปาฐกถา หน้าที่ของผู้แสดงปาฐกถา คุณสมบัติบางอย่างของผู้แสดง การสมาคม

บทที่ 4 การเลือกตั้งครั้งที่สอง ทำไมราษฎรจึงไม่มาออกเสียงเลือกตั้ง ทำไมราษฎรจึงออกเสียงโดยไร้เหตุผล

และบทที่ 5 ผู้แทนราษฎร ประเภทของผู้แทนราษฎร ข้อผิดพลาดของผู้แทนราษฎร

เขาเปรยว่า ที่ผ่านมาไทยเป็นเมืองที่มีแต่นักรบมากเกินไป ไม่มีนักการเมือง กล่าวคือ นักรบยึดถือวินัยมากกว่าสติปัญญา จึงไม่คิดโต้แย้งหัวหน้า แต่นักการเมืองนั้นเน้นสติปัญญา สามารถแนะนำหรือคัดค้านผู้นำของประเทศได้ นักการเมืองเน้นความถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน

เขาเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย ราษฎรต้องเป็นผู้นำตนเอง ไม่เหมือนการปกครองเก่าที่เป็นเพียงผู้ตาม

เขาเห็นว่า การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยย่อมอาศัยมติมหาชนเป็นหลัก เพราะวิธีการดำเนินการของประเทศทุกอย่างต้องได้รับความเห็นชอบจากราษฎร

รวมทั้งเขาบรรยายถึงความสำคัญของมติมหาชนในการปกครองใหม่ กำเนิดมติมหาชนมาจากการถกเถียง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับคุณสมบัติของคนที่ต้องการเป็นนักการเมือง เขาเห็นว่า นักการเมืองต้องมีนิสัยที่สนใจเรื่องของส่วนรวม มีความสำนึกว่าเป็นเขาของประเทศ และมีความอดทนในความยากลำบาก การถูกดูแคลน มีความเพียรพยายาม

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นนักการเมืองต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างยิ่ง

สําหรับหนทางไปสู่เวทีการเมืองนั้น เขาเขียนแนะนำว่า ต้องมีการเผยแพร่ตนเองผ่านการเขียนหนังสือแจก เขียนจูงใจผู้อ่าน ไม่ใช้นามปากกาแต่ใช้ชื่อจริง หรือการจ้างหนังสือพิมพ์ลงข่าว การปาฐกถาแนะนำตัวมีหลายแบบ ตั้งแต่การพูดในที่ชุมชน ผ่านวิทยุ เขาแนะว่า การพูดผ่านวิทยุเข้าถึงน้อยเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องรับวิทยุ

เขาแนะนำวิธีการเตรียมการพูดในที่ชุมชน หมั่นสังเกตความรู้สึกผู้ฟัง ไม่พูดนานเกินไป ให้พูดด้วยน้ำเสียงดังฟังชัด มีการแสดงท่าทางประกอบการพูด ใช้สำนวนโวหาร มีความรู้กว้างขวาง

รวมทั้งเขาวิเคราะห์สาเหตุที่ประชาชนมาเลือกตั้งในครั้งแรกน้อย (2476) เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจ หรือรำคาญการถูกกรบเร้าให้เลือก

บางส่วนมีความขี้เกียจและไม่เห็นประโยชน์การเลือกตั้ง

เขาเห็นว่าคนสูงอายุจะมาเลือกน้อยเพราะแก่ชรา ส่วนสตรีนั้นเพราะอาย เนื่องจากสังคมไทยขณะนั้นไม่มีค่านิยมให้สตรีออกจากบ้าน นอกจากนี้ เขาวิเคราะห์ว่า ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มาออกเสียงเพราะมองไม่เห็นความสำคัญของการมีผู้แทนฯ การเกรงกลัวอำนาจของบุคคลผู้เป็นใหญ่ในถิ่นนั้น

สำหรับประเภทผู้แทนฯ ในความเห็นของเขามี 3 แบบ แบบแรก “เก่งคำพูด” มักเป็นนักกฎหมาย มักเก่งงานในสภาแต่ห่างชาวบ้าน

แบบที่สอง “เก่งสมาคม” ชอบวิ่งเต้นช่วยเหลือชาวบ้านแต่ไม่เก่งงานในสภา ราษฎรชอบแต่ไม่นับถือเพราะไม่เก่งงานในสภา

แบบที่สาม ไม่เก่งอะไรเลย นิสัยไม่ชอบทำอะไร ชอบอยู่เฉยๆ พวกนี้ไม่เตรียมตัวมาเป็น ตัวอย่างผู้แทนฯ เก่งในความคิดของเขาคือ เก่งงานสภาและเก่งสมาคมกับประชาชน ข้อพึงระวังของผู้แทนฯ คือ การขยันสัญญากับราษฎร ความเจ้ายศเจ้าอย่างทำให้ห่างราษฎร และหลงว่าตนเองมีอำนาจ

เขาเสนอแนะว่า หากผู้ใดได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ แล้วควรฝากผลงานให้เป็นอนุสาวรีย์อวดคนรุ่นต่อไปว่า ผู้แทนฯ คนนี้ทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง

สุดท้ายแล้ว เขาเห็นว่า

“พลเมืองของสยามควรจะเอาใจใส่ต่อการเมืองให้มากกว่านี้ เพราะประเทศสยามได้ชื่อว่าเป็นของคนไทยทุกๆ คน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ”