สิ่งที่ (อาจจะ) หายไปจากวิชาภาษาไทย

คุณยังจำได้ไหมว่า เมื่อตอนที่เริ่มหัดเขียน ก ไก่ ข ไข่ หรือ A B C เป็นครั้งแรกนั้น คุณทำอย่างไร

สำหรับคนในรุ่นผู้เขียน เมื่อนักเรียนในแต่ละห้องมีไม่มาก ครูจะเอามือใหญ่ๆ ของครูมากุมมือน้อยๆ ของลูกศิษย์ แล้วค่อยๆ จับลากเส้นไป จนกว่าเด็กจะทำได้เอง

ในสมัยต่อมาเมื่อนักเรียนมีมากขึ้น จึงเกิดเทคโนโลยีใหม่ มีแบบฝึกหัดคัดลายมือที่มีรอยเส้นประ และลูกศรให้เด็กลากเส้นตาม

ครั้นถึงสมัยคอมพิวเตอร์ ก็มีการสร้างแบบฝึกหัดการคัดลายมือให้ฝึกกันได้แบบออนไลน์

ไม่ว่าจะเรียนมาด้วยวิธีใด นักเรียนก็ต้องหัดเขียนตัวอักษรให้สวยงาม เพราะ

“ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน”

ตามที่นางวันทองสั่งสอนพลายงาม หรือตามที่มหากวีสุนทรภู่สั่งสอนไว้ ไม่ว่าลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงชาวไทยก็ล้วนแล้วแต่จะปฏิบัติตามเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชีวิต คือได้เป็น “เสมียน” ซึ่งในสมัยนั้นเป็นตำแหน่งหรือฐานะทางสังคมที่ยิ่งใหญ่มากในฐานะปราชญ์ผู้รู้หนังสือ

แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เด็กๆ ก็เลิกคัดลายมือ เพราะมีวิธีใหม่เข้ามาทดแทน นั่นคือการใช้นิ้วจิ้มเลือกจากจอหรือจากแป้นพิมพ์ เพราะสามารถเลือกฟอนต์สวยๆ แบบใดก็ได้ขึ้นมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับเลือกซื้อแกงมาฉีกซอง โดยไม่ต้องเสียเวลาตำน้ำพริก

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วที่ฟินแลนด์ ดังเช่นที่ ประชา สุวีรานนท์ ได้เขียนไว้ใน “วิช่วลคัลเจอร์ / พิมพ์สัมผัส : ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๙-๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐)

“ตั้งแต่ปี ๒๐๑๖ เด็กฟินแลนด์ไม่ต้องเรียนคัดลายมืออีกต่อไป และสิ่งที่เอามาแทนคือ พิมพ์สัมผัส

พิมพ์สัมผัส คือการพิมพ์ดีดโดยไม่ต้องมองแป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ด แต่พิมพ์ได้เร็วและถูกต้อง ทุกวันนี้แป้นพิมพ์ไม่ใช่อะไร นอกจาก algorithm ขั้นพื้นฐาน และพิมพ์สัมผัสจึงเป็นทักษะที่ยืนยง เพราะทำให้ผู้พิมพ์สามารถปลดปล่อยความคิดหรือเชื่อมโยงกับเครื่องจักรได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีกระบวนการอื่นมากีดกั้น”

ซูซาน ฮัททาร์ นายกสมาคมครูสอนภาษาของฟินแลนด์บอกว่า การคัดลายมือช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและดีต่อสมอง อย่างไรก็ตาม เพื่อเติมส่วนนี้ อาจจะสอนการฝีมือและวาดรูปแทนก็ได้

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ แทนที่จะเสียเวลาไปกับการคัดลายมือ เด็กรุ่นใหม่จะได้เอาเวลาไปใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างราบรื่น โดยไม่ติดขัดอยู่ที่การคัดลายมืออันเชื่องช้า

เมื่อกำจัด “การคัดลายมือออกไปแล้ว” อีกสิ่งหนึ่งที่จะตามมาก็คือ “การเขียนคำให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม”

ทำไมจะต้องใช้ “หน่วยความจำภายใน” ในสมองเพื่อการจดจำคำทุกคำว่าเขียนอย่างไร เราอาศัย “หน่วยความจำภายนอก” เช่น พจนานุกรม มิได้หรือ ยิ่งตอนนี้เราสามารถดาวน์โหลดพจนานุกรมทั้งเล่มมาไว้ในโทรศัพท์มือถือได้แล้ว อยากจะรู้ว่าคำไหนเขียนอย่างไรก็สามารถเปิดดูได้ทันที ไม่ต้องไปเสียเวลาท่องว่า คำไหนเขียนถูก “กะเพรา หรือ กระเพรา หรือ กระเพา” ทุกวันนี้นักเขียนหลายคนก็ยังต้องเปิดดูพจนานุกรม เพราะจำไม่ได้ทุกคำ หรือมิฉะนั้น กองบรรณาธิการก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ

ที่เขียนมาข้างต้นนี้รับรองว่าต้องมีคนคัดค้านอย่างแน่นอน

ผู้เขียนเพียงแต่ชี้แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่เกิน ๒๐ ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้น ครูภาษาไทยก็คงจะต้องปรับตัวกันใหม่ว่า จะสอนอะไรกันดี

สำหรับตัวผู้เขียนนั้น ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็คงต้องมองโลกด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา

ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง