สิ่งแวดล้อม : ไทยต้องเลิกนำเข้า ‘ขยะ’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

ไทยต้องเลิกนำเข้า ‘ขยะ’

 

ทําท่าเล่นเกมยึกยักอยู่นานกับกรณีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ล่าสุดมีข่าวคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้จะไฟเขียวยืดเวลาการนำเข้าอีกครั้ง

ในขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ คณะกรรมการอาจจะอนุมัติให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

ที่คาดการณ์ไว้อย่างนี้เพราะคณะอนุกรรมการแบไต๋มาตั้งแต่แรกว่าจะเสนอแนวทางผ่อนผันขยายการนำเข้าขยะพลาสติกยาวไปถึง 2569

ถ้าเปิดไฟเขียวให้นำเข้าขยะพลาสติกอย่างที่คาดไว้ แสดงว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โกหกประชาชนอย่างหน้าด้านๆ อีกครั้ง

เพราะการอนุมัติยืดเวลานำเข้าขยะต่างชาติเท่ากับสวนทางกับนโยบาย “ขยะ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ชูให้เป็นวาระแห่งชาติ

ขอย้อนเวลาลำดับให้เห็นเส้นทางของวาระขยะแห่งชาติของ พล.อ.ประยุทธ์

 

ปลายปี 2557 หลังรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ได้ให้คำมั่นกับประชาชนว่า จะวางโครงสร้างประเทศในด้านต่างๆ 1 ในนั้นคือสิ่งแวดล้อมจะต้องแก้ปัญหาและโครงสร้างอย่างยั่งยืน

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศขนาดเล็กจึงต้องมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการขยะที่เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ต้องเพิ่มมูลค่าขยะให้มีราคา” พล.อ.ประยุทธ์บอก

จากนั้น ในปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ เรียกร้องให้เลิกใช้พลาสติก เปลี่ยนเป็นวัสดุย่อยสลายได้ง่าย รณรงค์แยกขยะ เอาขยะมาแปรรูปเป็นพลังงาน

ปรากฏว่าในระหว่างทาง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลับอนุมัตินำเข้าขยะพลาสติกอย่างมโหฬาร

ดูจากสถิติการนำเข้าขยะพลาสติก ระหว่างปี 2555-2559 ปีละ 5 หมื่นกว่าตัน แต่มาต้นปี 2560 รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะต่างชาติ ทำให้ขยะทะลักล้นโลก บรรดาประเทศยักษ์ใหญ่พากันเบนหัวเรือเอาขยะยัดใส่ตู้คอนเทนเนอร์มายังประเทศกำลังพัฒนา ไทยเป็น 1 ในนั้น

ตลอดปี 2560 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศสูงถึง 150,000 ตัน

ปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ปริมาณนำเข้าขยะพลาสติกพุ่งเป็น 550,000 ตัน

ไทยถูกตราหน้าว่าเป็นถังขยะของโลก

จากนั้นปัญหาการนำเข้าขยะต่างชาติลุกลามกลายเป็นปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

โรงงานแปรรูปขยะต่างชาติเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ใช้กระบวนการไร้มาตรฐาน สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนทั้งปล่อยกลิ่นเหม็น ควันพิษ และน้ำเน่าเสีย

 

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริษัทวงษ์พาณิชย์ เจ้าของโรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิล เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อบีบีซี ภาคภาษาไทยว่า การนำเข้าขยะต่างชาติ ไม่เป็นผลดีกับกระบวนการรีไซเคิลในประเทศไทยเพราะทำให้ราคาขยะในประเทศตกต่ำ

เมื่อขยะล้น ราคาตก บรรดาซาเล้งหรือเด็กนักเรียน ชาวบ้านไม่อยากไปเก็บแยกขยะมาขาย

นโยบายคัดแยกขยะ ธนาคารขยะ ได้รับผลกระทบไปด้วย

ดร.สมไทยบอกว่า สิ่งสำคัญสุดคือการเกิดแรงบันดาลใจในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ขยะแพงคือเส้นทางการสร้างแรงจูงใจ

สื่อถามว่า ผู้ประกอบการรีไซเคิลขยะบางรายห่วงว่า ถ้าห้ามนำเข้าขยะต่างชาติจะทำให้ขยะในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการแปรรูป เจ้าของบริษัทรับซื้อขยะชื่อดังยืนยันว่า ปริมาณขยะในประเทศมีมากเพียงพอกับกระบวนการรีไซเคิลอย่างแน่นอน

ไทยผลิตขวดน้ำพลาสติกประมาณ 386,000 ตันต่อปี โรงงานรีไซเคิลรับซื้อไปได้เพียง 260,000 ตันต่อปี ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับซื้อทั้งหมด

ดร.สมไทยยังเล่าถึงผลกระทบจากการนำเข้าขยะต่างชาติว่า โรงงานรีไซเคิลบอกให้รถบริษัทวงษ์พาณิชย์จอดรอ แล้วเอาขยะที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้าไปก่อนเป็นร้อยตู้

บางครั้งให้รถบริษัทรออยู่ 4-5 วัน ทางโรงงานเดินออกมาบอกว่าตอนนี้ราคาขยะลงแล้วจะขายหรือไม่ขาย ไม่ขายก็เอากลับไปก่อน

 

หันไปดูภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ทางสถาบันพลาสติกวิเคราะห์ว่า ปี 2564 ไทยมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1% มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท

ไทยจะส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 2.7% ที่ส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดประมาณ 2.53 แสนล้านบาท

เม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด คือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแล็กติกแอซิด (Polylactic Acid) คาดว่าปี 2564 มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% จะสร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก

เม็ดพลาสติกพอลิแล็กติกแอซิดจะนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทใช้ครั้งเดียว เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อน-ส้อม และในต่างประเทศนำไปผลิตก้นกรองบุหรี่ เนื่องจากมีสมบัติในการย่อยสลายทางชีวภาพได้ภายใน 6 เดือน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม

ในเมื่อขยะในประเทศยังมีกลาดเกลื่อนเก็บกวาดเอามารีไซเคิลได้อีกมาก และยังเป็นฐานการผลิตส่งออกเม็ดพลาสติกอันดับ 3 ของโลก ทำไมจึงต้องขนขยะพลาสติกต่างประเทศที่ไร้คุณภาพเข้ามาเติม?

หรือรัฐบาลชุดนี้ต้องการให้ประเทศไทยเป็นถังขยะของโลกอีกต่อไป