ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ดนตรี |
เผยแพร่ |
การขยายตัวและแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ต ทำให้มีเพลงให้เลือกฟังกันอย่างท่วมท้น ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเลือกฟังแบบไหน ยังไงเท่านั้นเอง
ปกติ คู่มือของคนฟังเพลง คือนิตยสารดนตรี นิตยสารเพลง ที่บ้านเราเคยมีหลายหัว หลายฉบับ แต่ตอนนี้ ด้วยสภาพของยุคสมัย สลายตัวหายไปหลายฉบับแล้ว
ปัจจุบันนี้ จำแลงมาเป็นเว็บไซต์ มีให้อ่านหลายยี่ห้อ และหลากหลายคุณภาพ
เนื้อหาสาระมีหลากหลาย เหมือนนิตยสารนั่นเอง ทั้งข่าวคราว บทวิเคราะห์วิจารณ์
หัวข้อหนึ่ง ที่คอเพลงคงจะนิยมอ่าน เพราะเว็บไซต์ดนตรีขยันทำออกมาให้อ่านกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน น่าจะเป็นการจัดอันดับอัลบั้มดนตรีประเภทต่างๆ การจัดอันดับนักดนตรี
คนอ่านไม่ต้องเดือดร้อนไปหาเพลงฟัง เพราะเว็บไซต์ดนตรีเหล่านี้ แปะเพลงหรือลิงก์มาให้ฟังเสร็จสรรพ ปกอัลบั้มสวยๆ พร้อม
ส่วนคอเพลงที่ชอบติดตามประวัติชีวิต การทำงานของศิลปิน ก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากรายงานความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ใครป่วย ใครตาย รู้กันทันที
ศิลปินแต่ละคนมีเฟซบุ๊ก มีอินสตาแกรมให้ติดตามความเคลื่อนไหว จะไปทัวร์ เปิดการแสดงที่ไหน ไปพักผ่อนที่ไหน มีการรายงานไว้หมด
วงร็อกที่พ้นจากความนิยมในตลาดเพลง อายุอานาม 60-70 เข้าไปแล้ว แต่ยังทำมาหากิน เดินสายเปิดการแสดง อาศัยฐานแฟนเพลงเดิมๆ อุดหนุน ก็ยังได้เห็นความเคลื่อนไหวจากโลกออนไลน์กันอยู่
เอาเข้าจริงๆ ตัวละครหลักๆ ในข่าวเหล่านี้ ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง
อย่างถ้าจัดอันดับ 25 อัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม ก็พอจะนึกออกว่าน่าจะต้องมีใครบ้าง ถ้าเป็นฝั่งอังกฤษก็วงบนเกาะมากหน่อย ถ้าเป็นฝั่งอเมริกาก็ต้องมีสัดส่วนวงอเมริกันมากหน่อย
แต่ถึงกระนั้น ข่าวการจัดอันดับแบบนี้ก็น่าอ่านอยู่ดี เพราะอาจจะมีผลงานที่คอเพลงบางคนมองข้ามไป
อย่าง 25 เบสต์ร็อกอัลบั้ม ที่เว็บดนตรีแห่งหนึ่งจัดไว้เร็วๆ นี้ อันดับ 1 ยกให้อัลบั้ม Revolver สตูดิโออัลบั้มอันดับ 7 ของเดอะบีตเทิลส์ ออกเมื่อปี 1966 เป็นที่หนึ่ง โดยมีเพลง Tomorrow Never Knows เป็นคีย์แทร็ก เป็นที่รู้กันว่า อัลบั้มนี้เกิดขึ้นในสภาพที่บรรยากาศแบบไซคีเดลิกและการทดลองหาสิ่งใหม่ จึงสะท้อนความแปลกใหม่แบบเต็มๆ
อีกชุด ที่เป็นขาประจำในการจัดอันดับ คือวง Creams ซูเปอร์กรุ๊ปที่ประกอบด้วย เอริก แคลปตัน, จินเจอร์ เบเคอร์ และ แจ็ก บรูซ มีมาสเตอร์พีซอย่าง Disraeli Gears ออกเมื่อปี 1967 ในยุคที่ทั้ง 3 คนกำลังพีก ขนาดที่ใช้เวลา 3 วันครึ่งเท่านั้นเองในการบันทึกเสียง ออกมาเป็นเพลงเป๊ะๆ อย่าง Strange Brew, Sunshine Of Your Love หรือ Tales of Brave Ulysses
ชื่อที่เป็นสมาชิกประจำ ยังมีประเภท The Eagles, Deep Purple, The Doors ของ The Doors, The Jimi Hendrix Experience
หรือวงอย่าง The Small Faces ที่ดังระดับหนึ่งในบ้านเราเมื่อทศวรรษหกสิบ ก็มีอัลบั้ม Ogden’s Gone Nut Flake ออกปี 1968 เป็นช่วงที่ สตีฟ แมร์เรียต (Steve Marriott ) มือกีตาร์และนักร้องนำของวงยังเฟื่อง มีเพลงเด่น คือ Lazy Sunday
การจัดอันดับแบบนี้ ช่วยให้การตามเก็บตกฟังเพลงที่หลงหูหลงตามีความสนุกสนานมากขึ้น
ขณะที่การฟังเพลงสมัยใหม่ก็สนุกมากขึ้น ด้วยมิวสิกวิดีโอที่สวยงาม
เพลงเด่นๆ ในรอบ 3 เดือนแรกของปี จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ดนตรีอีกแห่งหนึ่ง ยกให้เพลง Down ของ Marian Hill วงดูโออเมริกันจากฟิลาเดลเฟีย ประกอบด้วย Jeremy Lloyd กับนักร้องสาว Samantha Gongol ชื่อวงมาจากละครเพลงเรื่อง The Music Man ที่มีตัวละครชื่อ Harold Hill กับ Marian Paroo ทำเพลงออกมาน่าฟัง
ส่วนอันดับต่อๆ มา ยกให้เพลง Out of the Bottle ผลงานของแร็ปเปอร์ Kamaiyah ฟีเจอริ่ง Zay’ M อีกเพลง Cheap Thrills ผลงานของ Sia หรือ Sia Kate Isobelle Furler นักร้องนักแต่งเพลงชาวออสเตรเลีย
Dancing on Glass ผลงานของ เซนต์ลูเชีย หรือ St. Lucia หรือนามจริง Jean-Philip Grobler เกิดที่เซาธ์แอฟริกา เรียนดนตรีที่ลิเวอร์พูล แล้วไปยึดอาชีพนักดนตรีที่บรูกลีน นิวยอร์ก เซ็นสัญญากับ Neon Gold Records ในปี 2012 และเริ่มออกผลงาน
อีกเพลงที่อยู่ในลิสต์น่าฟัง ก็คือ TiO ผลงานของ เซน มาลิก อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์ชื่อดัง วันไดเร็กชั่น
ทั้งหมดเป็นเพลงป๊อปที่มีกลิ่นอายต่างๆ กัน
แต่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าไปไกลของเพลงในยุคดิจิตอล