สมุนไพรเพื่อสุขภาพ : ตำรับยาขาว (3) สมเส็ด

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย / www.thaihof.org

 

ตำรับยาขาว (3) สมเส็ด

 

ที่ผ่านมา 2 ฉบับได้แจกแจงพืชสมุนไพร 2 ชนิด คือ กระเช้าผีมดและง้วนหมูในตำรับยาขาว ซึ่งสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนั้นมีพืชที่เรียกชื่อคล้ายกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยให้แน่ชัดขึ้น

มาถึงครั้งนี้ ตำรับยาขาว ซึ่งเป็นตำรับยาดั้งเดิมในคัมภีร์ของวัดโพธิ์ ซึ่งถือเป็นตำรับยาแก้ไข้ที่ดีตำรับหนึ่ง

ดังนั้น ในช่วงโควิด-19 จะได้ข่าวแพทย์แผนไทยบางท่านได้ช่วยผลิตยาแจกจ่ายให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ

เหตุนี้ตำรับยาขาวจึงเป็นยาอีกตำรับหนึ่งที่มีคนสนใจนำไปวิจัยเพื่อหวังการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น

ดูกันให้ชัดๆ ในตำรับยาขาว ประกอบด้วย “กระเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากสมเส็ด รากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากย่านาง รากฟักข้าว รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ บดทำแท่ง เอาไว้ละลายน้ำซาวข้าว”

นับสมุนไพรได้รวม 15 ชนิด ซึ่งในครั้งนี้ยังมีสมุนไพรอีก 1 ชนิดที่คนมักไม่ค่อยรู้จักกัน

นั่นคือ ต้นสมเส็ด

 

ปกติคำว่า สมเส็ด เราจะคุ้นเคยกันในนามของสัตว์ชนิดหนึ่งที่เขียนว่า “สมเสร็จ” เป็นสัตว์สงวนชนิดหนึ่งพบได้ทางภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น

เมื่อทำการค้นหาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แทบจะไม่พบว่า สมเส็ด เป็นชื่อของพืชเลย

ต้นสมเส็ดเป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสาร “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย” ผู้แต่ง เต็ม สมิตินันทน์ จากสำนักหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งระบุชื่อสมเส็ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion lutescens Blume

และมีรายงานในประเทศไทยพบเฉพาะในภาคใต้

สมเส็ดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 14 เมตร ลำต้นที่โตเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร

ใบเดี่ยว เรียงสลับ

ดอกมีขนาดเล็ก (3 มิลลิเมตร) สีเขียวอมเหลือง

ผลมีขนาด 5 มิลลิเมตร สีขาวอมชมพู

พบได้ตามป่าโปร่ง ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 700-1,000 เมตร

มีการกระจายอยู่ในจีนตอนใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา นิวกินี ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม

สมเส็ดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะขามป้อม อยู่ในสกุลเดียวกับต้นมันปูที่คนภาคใต้นิยมนำมากินเป็นผักเหนาะหรือผักแกล้มกับขนมจีนและน้ำพริกต่างๆ

 

แต่มีเรื่องน่าแปลกใจ เท่าที่ทำการสืบค้นได้ ณ เวลานี้ไม่พบว่ามีประเทศใดเลยในแถบเอเชียที่มีการนำเอาสมเส็ดชนิดนี้มาใช้เป็นยาสมุนไพร

แต่ที่ภาคใต้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่คนนราธิวาสเรียกว่า “สมเส็ด” เช่นกัน และในเอกสารของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ระบุว่ามีชื่อทางราชการว่า “ชุมเส็ด” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion zeylanicum (Gaertn.) A.Juss. var. zeylanicum ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่าต้นสมเส็ด มีความสูง 1-8 เมตร

มีการกระจายอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น อนุทวีปอินเดีย เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียไปถึงนิวกินี ออสเตรเลีย หมู่เกาะโซโลมอน

ชุมเส็ดหรือสมเส็ดชนิดนี้มีการนำใบมากินเป็นอาหารเหมือนใบมันปู

นอกจากนี้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านของจีนและอินเดียมีบันทึกถึงการนำมาใช้เป็นยารักษาอาการไอและอาการปอดอักเสบหรือปอดบวม (Pneumonia – นิวมอเนีย)

สำหรับหมอพื้นบ้านไทยมีการใช้ใบซึ่งมีรสฝาด นำมาใช้เป็นยาฝาดสมาน

ส่วนของรากและใบ แก้อาการปวดท้อง ปวดฟันและบาดเจ็บภายใน

ในประเทศอินเดียมีการใช้ใบรักษาอาการคันตามตัว

ส่วนของผลมีรสเย็นใช้ฟื้นฟูร่างกาย ส่วนของเปลือกต้นใช้แก้อาการเจ็บท้อง

 

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ชุมเส็ด น่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ในตำรับยาขาวมากกว่า สมเส็ด หรือไม่?

แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงลึกในอีกหลายเรื่อง เช่น ด้านสรรพคุณ ด้านพฤกษศาสตร์หรือชนิดพืชเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าในตำรับยาขาว ที่ระบุชื่อพืชสมุนไพรแบบดั้งเดิมนั้นได้ใช้สมุนไพรตัวไหนกันแน่ และวิจัยให้ชัดว่าสรรพคุณรักษาสอดคล้องกับความรู้ดั้งเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ หากได้ทำการศึกษาควบคู่ไปกับต้นมันปู ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันอีก 2 ชนิด คือ มันปูที่นิยมนำมากินเป็นผักเคียงกับอาหารต่างๆ ของทางภาคใต้

มันปูชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion littorale Blume มีรายงานว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในต่างประเทศกล่าวไว้ว่า ใช้รากต้มน้ำทำเป็นน้ำยาบ้วนปากในเด็กได้

ส่วนมันปูอีกชนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่ามันปูใบเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion wallichianum M?ll.Arg. คนปักษ์ใต้นิยมนำใบมากินเป็นผักเคียงเช่นกัน แต่มันปูใบเล็กนี้ไม่มีรายงานการใช้เป็นสมุนไพร

แต่มีงานวิจัยในปัจจุบันพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน

คำกล่าวที่ว่าในวิกฤตมีโอกาส ในโควิดก็มีโอกาสในการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านได้เช่นกัน

และถ้าเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมให้มากก็จะช่วยการจัดการสุขภาพของชุมชนได้ดีขึ้นด้วย