วิรัตน์ แสงทองคำ : สังคม กับธุรกิจสื่อสาร (7)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ที่มาภาพ : dtac.co.th

DTAC (ต่อ)

เรื่องราวของ DTAC กับธุรกิจสื่อสารและสังคมไทย มีบางมิติเชื่อมโยง จากโปรไฟล์บุคคลสู่ภาพกว้างขึ้น

นั่นคือเรื่องราวของ ภูษณ ปรีย์มาโนช กับ ธนา เธียรอัจฉริยะ ในฐานะผู้บริหารคนสำคัญของแทค (Total Access Communication-TAC – หรือ DTAC ปัจจุบัน) นอกจากให้ภาพโอกาสของมืออาชีพแล้ว ยังให้ภาพหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญด้วย

แม้ผมเคยเสนอเรี่องราวของคนทั้งสองมาแล้ว (ล่าสุดเมื่อต้นปี 2554) แต่อยู่ในบริบทที่แตกต่าง ในมุมมองกว้างขึ้น

ภูษณ ปรีย์มาโนช

บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 2 กับตำนานการบุกเบิกธุรกิจสื่อสาร ไม่เพียงได้สร้างโอกาสให้กับคนหน้าใหม่ๆ ของสังคมธุรกิจไทย รุ่นหลังสงครามเวียดนามเท่านั้น หากได้สร้าง “มืออาชีพ” ที่โดดเด่นขึ้นมาด้วย

ตำนานที่เริ่มจากยูคอม (บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเคชั่นอินดัสทรี) “ขายสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะยี่ห้อ Motorola ของสหรัฐให้กับหน่วยราชการ ยูคอมโชคดีมากในเรื่องหนึ่ง ก็คือ Motorola เติบโตเป็นระยะๆ สินค้ามีความแข็งแกร่งในตลาดโลก”

ข้อต่อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บุญชัย เบญจรงคกุล มารับช่วงกิจการ ในช่วงไล่เลี่ยกับ ภูษณ ปรีย์มาโนช ในฐานะลูกจ้างคนสำคัญ ผู้มีประสบการณ์มาพอควร เคยทำงานที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ ธนาคารกรุงไทย บริษัทล็อกซเล่ย์ และ GENERAL ELECTRIC ในเมืองไทย ในฐานะเป็นคนรุ่นเดียวกัน ความสัมพันธ์ “ลูกจ้าง” กับ “ทายาท” ธุรกิจครอบครัวจึงแตกต่างออกไปจากที่เคยเป็น

“เมื่อยุคสัมปทานแบบใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมๆ กับพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารระดับโลก ซึ่ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บุกเบิกสำคัญ ภูษณในฐานะลูกจ้างก็มองเห็นโอกาสเช่นเดียวกัน จึงผลักดันให้กิจการยูคอมเติบโตอย่างก้าวกระโดด เคียงคู่กับชินวัตร โดยที่ทั้งสองกลุ่มยึดหน่วยงานการสื่อสารของหน่วยงานของรัฐไว้เป็นฐาน ชินวัตรกับองค์การโทรศัพท์ฯ ยูคอม กับการสื่อสารฯ” บทสรุปจากข้อเขียนชิ้นหนึ่งของผมซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว (จากเรื่อง ภูษณ ปรีย์มาโนช หนังสือ “อำนาจธุรกิจใหม่” 2541)

โดยยกบทบาท ภูษณ ปรีย์มาโนช ในฐานะ “ลูกจ้าง” ผู้ประสบความสำเร็จแห่งยุค เทียบเคียงกับ “ผู้ประกอบการ” อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้เข้าใจแนวโน้มและแสวงหาโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายยุคแรกๆ ของสังคมไทย

บทบาทสำคัญของเขาปรากฏในประวัติในตำแหน่งประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (อ้างจาก www.isepthailand.com ซึ่งอ้างข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556) ในฉบับภาษาไทยอย่างสั้นๆ ว่าเป็นผู้ก่อตั้ง กรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของแทค

ขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษ อรรถาธิบายประสบการณ์ตอนนั้นยืดยาวพอสมควร โดยเฉพาะประสบการณ์การบริหารกิจการมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านปอนด์ที่อยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์

รวมทั้งมีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจสื่อสารไร้สาย โดยย้ำว่ามีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ก่อตั้ง (founder) อย่างยาวนานถึง 14 ปี (เมษายน 2532-เมษายน 2546)

เรียกได้ว่ามีบทบาทมาตั้งแต่ก่อตั้งแทคเพื่อเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย จนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนมือมาอยู่ในอำนาจบริษัทของบริษัทต่างชาติ (โปรดพิจารณาลำดับเหตุการณ์สำคัญ)

เป็นที่เชื่อได้ว่าในช่วงเวลานั้น ภูษณ ปรีย์มาโนช เป็นผู้บริหารมืออาชีพซึ่งมีหุ้นในแทคจำนวนหนึ่ง มากพอทำให้เขาซึ่งเข้าใจกลไกตลาดหุ้น ท่ามกลางความสามารถในการระดมทุนจากตลาดหุ้นของทั้งแทค (ตลาดหุ้นสิงคโปร์) และยูคอม (ตลาดหุ้นไทย) เป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ในฐานะปัจเจก วงการธุรกิจไทยกล่าวขานกันว่า ภูษณ ปรีย์มาโนช กลายเป็นมืออาชีพผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในเวลานั้น

เป็นปรากฏการณ์ที่ควรบันทึกไว้อีกมิติหนึ่งว่าด้วยอิทธิของธุรกิจสื่อสารในสังคมไทย

“เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ปี 2540 ธุรกิจสื่อสารซึ่งจุดพลุความรุ่งโรจน์ และต้องปรับฐานครั้งใหญ่ กลุ่มแทคมีปัญหาทางการเงินหนักหน่วง บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ Telenor ธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่ต่างชาติแห่งนอร์เวย์ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเขากับภูษณ ในที่สุดภูษณต้องค่อยๆ พ้นเส้นทางนั้นมา”

บทสรุปที่เคยนำเสนอไว้ จากนั้นเขาดูสนใจเรื่องการศึกษาหาความรู้ รวมทั้งพยายามเข้ากอบกู้และปรับเปลี่ยนกิจการเก่า ซึ่งดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

เขามีประสบการณ์สำคัญจากช่วงความเติบโตสุดขีดของตลาดหุ้นในช่วงปี 2534-2539 ในฐานะผู้ทำงานในกิจการหลักทรัพย์ และมองเห็นโอกาสในการทำงานที่รุ่งโรจน์ในธุรกิจสื่อสาร จึงตัดสินใจเดินทางจากธุรกิจค่อนข้างนามธรรมไปสู่รูปธรรมมากขึ้น มาสู่แทค ในช่วงเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์

ธนา เธียรอัจฉริยะ ผ่านประสบการณ์อันเข้มข้นในช่วงวิกฤตการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านแทคหรือดีแทค เมื่อ Telenor เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้ามาบริหาร เขาจึงเป็นบุคคลในช่วงเปลี่ยนผ่าน บริหารการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ ยุคการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ในขณะที่ดีแทคเป็นกิจการที่ถือหุ้นใหญ่โดยต่างชาติ และมีผู้บริหารสูงสุดเป็นชาวต่างชาติ กำลังปรับตัวและเรียนรู้บทบาทเชื่อมต่อช่วงบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาดีแทคปรับตัว นำสินค้าและบริการของดีแทค ให้เข้าถึงตลาดผู้บริโภคระดับกว้างของสังคมไทยด้วย

โดยเฉพาะในยุค Singve Brekke (เริ่มปี 2548) ผู้บริหารชาวต่างชาติ ตัวแทน Telenor ของดีแทค เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมนอร์เวย์ และผ่านการศึกษาจากฮาร์วาร์ด (Master of Public Administration ที่ JFK School of Government, Harvard University)

ธนา เธียรอัจฉริยะ มีบทบาทสำคัญเข้ากันได้อย่างดีพอสมควร อยู่ที่ดีแทคพักใหญ่ (จนถึงปี 2554) ก่อนจะไปแสวงหาประสบการรณ์บริหารด้านอื่นๆ อย่างหลากหลาย จนผันตัวเป็นผู้บริหารยุคสมัยในกิจการฟินเทค

ว่าไปแล้วปัจจุบัน ดีแทคมีโครงสร้างบริหารภายใต้เครือข่ายธุรกิจต่างชาติอย่างเต็มที่ กรรมการทั้งหมด 12 คน มีตัวแทน Telenor มากกว่าครึ่งถึง 7 คน รวมทั้งมีตำแหน่งบริหารสำคัญๆ ไว้ ทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดีแทคได้เผชิญช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในสังคมไทยอีกครั้ง

 

เหตุการณ์สำคัญ
สู่ยุคเทเลนอร์

2543
มิถุนายน

แทคขายหุ้นใหม่เพิ่มทุนจำนวน 21.5 ล้านหุ้นให้แก่เทเลนอร์ เป็นผลให้เทเลนอร์ถือหุ้นทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.34 ของทุนชำระแล้วของบริษัท

พฤษภาคม

ยูคอมขายหุ้นของบริษัทจำนวน 5.5 ล้านหุ้นให้แก่บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี

สิงหาคม

แทคขายหุ้นใหม่เพิ่มทุนจำนวน 48.5 ล้านหุ้นให้แก่เทเลนอร์ เป็นผลให้เทเลนอร์ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.94 ของทุนชำระแล้วของบริษัท

2544

เริ่มใช้ชื่อทางการค้า “ดีแทค-DTAC” และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีการดำเนินธุรกิจการตลาด

2548
ตุลาคม

บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด (เทเลนอร์) และบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด (ไทยเทลโค) ได้ทำการเสนอซื้อหุ้นของแทคเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยเทลโคซื้อหุ้นยูคอม

เอสแอนด์พี ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือ จากระดับ BB เป็น BB+ และปรับอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับหนี้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันจากระดับ BB เป็น BB+ และปรับเพิ่มแนวโน้มจากแนวโน้มคงที่เป็นแนวโน้มบวก มูดี้ส์ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศ และหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันเป็น Ba2 โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับอันดับความน่าเชื่อถือขึ้น

ธันวาคม

คำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด (เทเลนอร์) และบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด (ไทยเทลโค) ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 โดยมีปริมาณหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด 16,457,400 หุ้น (หรือ 3.47%)

2550

ดีแทคนำหุ้นเพิ่มทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งดีแทคเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ทั้ง 2 ตลาด (Dual listing) คือตลาดหุ้นไทยและสิงคโปร์

2555
ธันวาคม

ดีแทคได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ และใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามจาก กสทช. บริษัทดำเนินการยกระดับเครือข่ายทั้งหมดทั่วประเทศแล้วเสร็จ รวมถึงการติดตั้งฐานของ 3G 850 เมกะเฮิรตซ์ ครอบคลุมทุกจังหวัดหลักทั่วประเทศ

ตุลาคม

ดีแทคเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งจัดโดย กสทช. และเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวจำนวน 2×15 เมกะเฮิรตซ์

เปิดให้บริการ DtacDeezer บริการดิจิตอลมิวสิกสตรีมมิ่งรูปแบบใหม่ครั้งแรกในเอเชียที่ให้ลูกค้าฟังเพลงแบบไร้ขีดจำกัดกว่า 18 ล้านเพลงทั่วโลก

2557
มิถุนายน

ดีแทคมีมติอนุมัติเพิกถอนหุ้นของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

2558
พฤศจิกายน

ดีแทคเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800MHz ซึ่งจัดโดย กสทช.

บริษัทเปิดให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 1800MHz ภายใต้สัญญาร่วมการงานโดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ธันวาคม

ดีแทค ไตรเน็ต เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz ซึ่งจัดโดย กสทช.

ดีแทคเพิ่มแบนด์วิดท์ 4G คลื่น 1800 MHz เป็น 15 MHz และเพิ่มสถานีขึ้นเป็น 2,200 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

2559

ดีแทคไม่ประสบความสำเร็จในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ซึ่งจัดโดย กสทช.

2560
พฤษภาคม

แทคได้รับเอนุมัติจากทีโอทีให้ดำเนินการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz “ข้อเสนอของกลุ่มบริษัทจะให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับทีโอที โดยบริษัทจะรับซื้อความจุโครงข่ายร้อยละ 60 ของความจุโครงข่ายทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทเสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอที เป็นจำนวนปีละ 4,510 ล้านบาท กลุ่มบริษัทจะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีโอที และคาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติและเข้าทำสัญญาได้ภายในไตรมาส 4 ของปี พ.ศ.2560”

หมายเหตุ คำว่า “ดีแทค” ใช้แทนชื่อต่างๆ ของบริษัทในเครือข่ายทั้งหมด

(เรียบเรียงมาจากข้อมูลจากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ และ www.dtac.co.th)