ภูมิใจไทย ทะลุ ‘สภา’ ในสมรภูมิ ‘แก้ รธน.-ซักฟอก’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ภูมิใจไทย

ทะลุ ‘สภา’

ในสมรภูมิ ‘แก้ รธน.-ซักฟอก’

สมรภูมิในสภา ในห้วงปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องไปถึงต้นเดือนกันยายน

มากด้วยความร้อนระอุ

ระอุทั้งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะชี้ชะตากรรมพรรคการเมืองในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ระอุทั้งเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะชี้ชะตากรรมพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับคณะรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้น

และแน่นอน พรรคการเมืองที่ถูกจับตามองว่าจะได้รับผลกระทบจากเกมอันร้อนระอุนี้มากที่สุด

น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย

 

ด้วยเพราะในเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคใหญ่คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ เห็นพ้องกันที่จะแก้ระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้ “บัตร 2 ใบ” แทน “บัตรใบเดียว” และให้ ส.ส.เขต มี 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน

ถอดแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งพรรคใหญ่ต้องการเพราะได้เปรียบ

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย แม้ขณะนี้จะอยู่ในฐานะพรรคขนาดกลางที่เอียงไปในทางพรรคใหญ่

แต่เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยสดสวยนักกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540

โดยการเลือกตั้ง 2554 ที่เป็นระบบ “เขตเดียว เบอร์เดียว” ผลปรากฏว่า ต้องพ่ายแพ้ให้กับพรรคฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะในภาคอีสาน

ขณะที่การเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คือระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และมีบัตรใบเดียว

ปรากฏว่า ภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขต 39 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 คน รวม 51 คน

และเมื่อผนวกรวมกับกลุ่ม ส.ส.จากพรรคก้าวไกลอีก 10 คน พรรคภูมิใจไทยก็กลายเป็นพรรคอันดับสองในรัฐบาล

เป็นสถานะที่น่าพึงใจ แต่ในอนาคตก็อาจเปลี่ยนไปเมื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ

ประกอบกับพรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนต้องการที่จะให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดกว้างในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

จึงไม่ค่อยแฮปปี้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

 

ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91)

ออกมา “จุดพลุ” ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของคณะ กมธ.

เพราะเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ มีการแปรญัตติไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อที่ 124

คือมีการแก้ไขเพิ่มเติมความ และมาตราเพิ่มเติมเข้ามาเกินหลักการ

รวมทั้งหยิบเอาถ้อยคำ ข้อความ และมาตราที่อยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐสภาไม่ได้รับหลักการ มาหยิบใส่ในร่างนี้เพื่อพิจารณาด้วย

ถือว่าผิดหลักนิติธรรม ไม่เหมาะสม เป็นการกระทำโดยมิชอบ

“ผมไม่สนใจว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นบัตรกี่ใบ แต่เราไม่ควรเอาความประสงค์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง แล้วเอาสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง สิ่งนี้พรรคภูมิใจไทยปฏิเสธตลอดเพราะเป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน และสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว.” นายศุภชัยวางทุ่นระเบิดไว้

 

และดูเหมือนจะได้ผล เนื่องจากมีการขานรับ เช่น พรรคก้าวไกล ได้ยื่นญัตติให้รัฐสภาพิจารณาว่าทำผิดข้อบังคับหรือไม่ แต่ที่ประชุมรัฐสภาตีตกไปแล้ว

ขณะเดียวกัน ส.ส. และ ส.ว.บางส่วน ก็ได้ส่งสัญญาณว่า หากผ่านวาระที่ 3 อาจจะส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีสิทธิยืดเยื้อ และอาจบานปลายไปสู่ความสุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ดั่งว่า

จึงทำให้ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรีบทบทวนเรื่องนี้ก่อนการพิจารณาวาระที่ 2 จะเริ่มขึ้น

ซึ่งสะท้อนว่า การกดดันซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีส่วนอยู่ ได้ผล

แต่กระนั้น พรรคภูมิใจไทยก็ไม่หยุดเพียงนั้น

โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงยืนยันแนวทางของพรรคภูมิใจไทยยังคงยึดหลักการและจุดยืนเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น

คือให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เมื่อไม่สามารถเดินหน้าสำเร็จได้

พรรคภูมิใจไทยจึงเห็นว่าควรมีมติว่าจะดำเนินการ 2 งด

คือ งดออกเสียง และงดใช้เสียง

“งดใช้เสียง คืองดการอภิปรายวาระที่ 2 และงดออกเสียงทุกมาตรา เหตุผลคือเรายืนยันตั้งแต่แรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แต่การแก้ไขครั้งนี้เกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์โดยตรง พวกเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือแก้ไขได้หรือไม่ได้ แต่ควรให้ประชนชนเลือกว่าควรใช้กติกาในการเลือกผู้แทนฯ แบบใด จึงเป็นที่มาของการงดออกเสียงทั้งในวาระ 2 และ 3” นายภราดรระบุ

จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยเช่นนี้ จึงเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจาก “ทะลุรัฐสภา” ออกไปสู่ “มวลชน” ข้างนอก

ที่พรรคภูมิใจไทยเองก็ “จับต้อง” ได้ว่ามีประชาชนจำนวนมากต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา

การสวนทางพรรคใหญ่ทั้งในรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องนี้ จึงอาจจะคุ้มค่ากับเสียงประชาชนที่มีจุดร่วมกับพรรค

 

ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องการอย่างมากขณะนี้คือ เสียงสนันสนุน และแนวร่วม

เพราะรู้ดีว่าพรรคเสียรังวัดอย่างมากกับบทบาทของการดูแลกระทรวงสาธารณสุข ของหัวหน้าพรรคคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ต้องแก้มหาวิกฤตโควิด

ขณะที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของเลขาธิการพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็มีคำถามอื้ออึงในหลายประการเกี่ยวกับการทำงาน และความประพฤติส่วนตัว

อันทำให้ทั้งนายอนุทินและนายศักดิ์สยามกลายเป็นเป้าใหญ่ในศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

หากรับมือได้ไม่ดี อาจกลายเป็นแพะของสถานการณ์ด้วย

แม้ว่าเป้าหมายใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านจะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ย่อมได้รับการปกป้องดังไข่ในหินจากพรรคพลังประชารัฐ และคงกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะต้องเดินในแนวทางเดียวกัน นั่นคือต้องรักษาหัวหน้ารัฐบาลเอาไว้

ขณะที่รัฐมนตรีที่เหลืออีก 5 คนนั้น คงต้องใช้พลังและความสามารถในแต่ละพรรค ที่จะประคองตัวอยู่ให้ได้

 

จึงมีกระแสข่าวว่า จะมีการประชุมติวเข้ม ส.ส.ที่บุรีรัมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “ครูใหญ่” นายเนวิน ชิดชอบ จะมาร่วมติวเข้มด้วย เพราะมีประสบการณ์โชกโชนในเวทีสภามาก่อน

แต่การประชุมดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปเพราะพรรคต้องร่วมประชุมการพิจารณางบประมาณวาระที่ 2 และที่ 3

ขณะเดียวกันมีเสียงปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการประชุมเพื่อปกป้องใคร เป็นการประชุมใหญ่ของพรรคเท่านั้น และนายเนวินไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะทั้งนายอนุทินและนายศักดิ์สยามดูแลตัวเองได้ และสามารถตอบข้อสงสัยของฝ่ายค้านได้

นายศักดิ์สยามบอกว่า ในส่วนของการโหวตลงมติอภิปรายไม่วางใจนั้น ขออย่าให้คาดการณ์ล่วงหน้ากันไปก่อน อยากให้รอดูคำถามและคำชี้แจงในการอภิปรายก่อน ซึ่งก็เป็นมารยาททางการเมืองอยู่แล้ว และถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะพิจารณา

ส่วนพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่นายศักดิ์สยามมีปัญหากับ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์นั้น นายศักดิ์สยามระบุว่า ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะไปประชุมและมีมติกันอย่างไร

ซึ่งในกรณีนี้ จะว่าพรรคภูมิใจไทยไม่กังวลใจเลยก็คงไม่ได้

โดยเฉพาะในนาทีนี้ จะต้องแสดง “จุดยืน” แสดง “ตัวตน” และแสดง “บทบาท” ให้ชัดเจน เสียงดัง และได้การสนับสนุนชัดเจน อย่างการเล่นเกมเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

เพื่อที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาล เกรงใจ ให้น้ำหนัก และให้ราคา

เพราะเงื่อนไขเหล่านี้ จะทำให้พรรคปลอดภัยหลังศึกซักฟอก

พรรคภูมิใจไทยรู้ดีหากทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคเพลี่ยงพล้ำ จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากพรรคร่วม โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐอย่างหนัก

อาจมีการหยิบเรื่อง “ปรับคณะรัฐมนตรี” ขึ้นมาพิจารณา

ซึ่งหากนายอนุทินและนายศักดิ์สยามสะบักสะบอม ก็อาจทำให้พลังต่อรองในการรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคเอาไว้ อ่อนเปลี้ยลง

เพราะพรรคพลังประชารัฐเองก็หวังจะให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อสอดคล้องกับโครงสร้างพรรคใหม่

จึงอาจฉวยจังหวะที่พรรคร่วมไม่ว่าภูมิใจไทยหรือประชาธิปัตย์เพลี่ยงพล้ำ รุกเข้าไปยึดพื้นที่ “ทองคำ” เพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นอีกไม่นาน

ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวที่อยู่ในระดับ “ล่องลอย” ในอากาศ หนักไปในทางมโนมากกว่าจริง แต่คนในแวดวงการเมืองก็ยัง “ฟัง-ฟัง” กันอยู่

นั่นคือ การจับขั้วทางการเมืองใหม่ระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทย หากขั้วการเมืองปัจจุบันไปไม่ได้เพราะเผชิญวิกฤตศรัทธาหนัก

นี่ก็เป็นโจทย์ทางการเมืองที่พรรคภูมิใจไทยก็ต้องเริ่มคิดเหมือนกันว่า ที่ยืนของพรรคจะอยู่ที่ใด หากโจทย์การเมืองนี้เป็นความจริง

 

นี่เองจึงทำให้พรรคภูมิใจไทยรู้ดีว่า เกมการเมืองต่อแต่นี้ จะต้องรุกแบบ “ทะลุสภา” ไปหาเสียงสนับสนุนจากข้างนอกด้วย

จะหงอๆ หรือตั้งรับไม่ได้

การแตกหักอย่างเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือตัวอย่างที่พยายามจะโชว์ความมีตัวตน

ไม่เพียงจะข่มฝ่ายค้าน หากแต่ต้องแสดงให้ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยยังแกร่ง

พร้อมจะ “ทะลุ” ได้ทุกสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อพรรค!!