คาบูล 2021 ไซ่ง่อน 1975 ล่องแจ้ง (ลาว) 1974/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

คาบูล 2021 ไซ่ง่อน 1975

ล่องแจ้ง (ลาว) 1974

 

สามภาพที่เห็นอยู่นี้คือการ “หนีตายอย่างจ้าละหวั่น” ของคนเวียดนามใต้ที่ไซ่ง่อนปี 1975, ชาวม้งในลาวเมื่อ 1974 และที่สนามบินคาบูล, อัฟกานิสถานในเดือนนี้ปี 2021

ทั้งสามกรณีมีความเหมือนกันตรงที่สหรัฐทิ้งคนของประเทศที่ตนอ้างว่าสนับสนุนให้สู้เพื่อประชาธิปไตยหลังจากที่พ่ายแพ้การสู้รบกับนักรบท้องถิ่น

ประวัติศาสตร์จารึกว่ามหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกต้องแพ้นักรบที่มีความมุ่งมั่นจะปกป้องความเป็นชาติของตนแม้จะเสียเปรียบในทุกด้าน

เหตุการณ์ที่ไซ่ง่อนกับที่คาบูลอาจจะเป็นข่าวในช่วงนี้

แต่ภาพที่ “ล่องแจ้ง” ของลาวอาจจะไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก

ล่องแจ้ง, ลาว 1974

คุณแคน สาริกา คนข่าวที่ติดตามสถานการณ์ในอินโดจีนมายาวนานบอกผมว่าภาพที่ล่องแจ้งเป็นฝีมือถ่ายของ ดร.ยัง ดาว อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐ

ท่านเป็นคนม้งและได้บันทึกภาพของการที่ชาวม้งต้องแห่กันไปขอขึ้นเครื่องบินอเมริกันที่ล่องแจ้งหลังจากสหรัฐพ่ายสงครามเวียดนาม

คุณแคนพาดหัวภาพชุดนี้ว่า “นาที…หนีตาย…ล่องแจ้ง-อุดรธานี”

คุณแคนเขียนบรรยายไว้ว่า

ภาพเหตุการณ์จริงที่สนามบินล่องแจ้ง ปี 2517 (1974)

หลังสหรัฐถอนทหารออกจากเวียดนามใต้

ซีไอเอสั่งถอนทหาร ‘เสือพราน’ ออกจากลาว

ทหาร “แนวลาวฮักชาติ” และอาสามัครเวียดนาม ยึดเนินสกายไลน์

นายพลวังเปาจึงเริ่มอพยพทหารม้งและครอบครัว

ทิ้งถิ่นฐานบัานเกิดเมืองนอนมาอยู่เมืองไทย

ซีไอเอส่งเครื่องบิน C-130 และ C-46 อีก 2 ลำ

ไปรับชาวม้ง 2,500 คน ออกจากล่องแจ้ง มาลงที่สนามบินอุดรฯ

บินวันละ 3-4 เที่ยว เที่ยวละ 60-80 คน

ชาวม้งอีกหลายหมื่นคนเดินเท้าบุกป่าฝ่าดง

ออกจากเชียงขวาง สู่ไซยะบุลี และข้ามพรมแดนเข้าไทย

ไปอยู่ใน จ.เชียงราย จ.น่าน และ จ.เลย

ล่องแจ้ง คือกองบัญชาการทหารม้งของนายพลวังเปา ที่สหรัฐสนับสนุนผ่านซีไอเอ

มีภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์เวียดนามในแผ่นดินลาว

เสือพราน คือทหารอาสาสมัครไทย

โดยการดูแลของ บก.333 และซีไอเอ ที่อุดรธานี

 

นั่นคือภาพ “หนีตาย” ที่ลาวในปี 1974

ต่อมาในเดือนเมษายน 1975 ทหารเวียดนามเหนือรุกคืบเข้าเวียดนามใต้หลังจากประธานาธิบดีเจรัลด์ ฟอร์ด ประกาศถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามภายใต้นโยบาย Vietnamisation (ทำให้สงครามเป็นการสู้รบระหว่างคนเวียดนามกันเอง) ซึ่งเป็นฉากกำบังก่อนจะทิ้งเวียดนามใต้ให้สู้กับเวียดนามเหนือตามลำพัง

เย็นวันที่ 28 เมษายน 1975 ประธานาธิบดีฟอร์ดกำลังประชุมกับทีมงานด้านพลังงานอยู่ในทำเนียบขาว รองหัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงเดินเข้ามาในห้องและส่งข้อความในกระดาษให้

กระดาษแผ่นจิ๋วๆ นั้นบอกว่า “ไซ่ง่อนกำลังจะแตก…และเร็วกว่าที่เราคาดเอาไว้”

ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ สมาชิกคองเกรสและกระทรวงกลาโหมได้เสนอให้ฟอร์ดอพยพทหารอเมริกันและพันธมิตรเวียดนามใต้ออกจากไซ่ง่อนให้เร็วกว่าตารางเวลาเดิม

เพราะสัญญาณเริ่มจะบ่งชัดว่ากองกำลังของเวียดนามใต้ไม่อาจจะต้านการรุกคืบของทหารเวียดนามเหนือได้แล้ว

คาบูล, อัฟกานิสถาน 2021

ผ่านมา 46 ปี วันที่ 15 สิงหาคม 2021 นักรบทาลิบันมาประชิดเมืองหลวงคาบูลของอัฟกานิสถานหลังจากใช้เวลาเพียง 10 วันในการยึดเมืองเอกกว่า 10 เมือง

สหรัฐส่งทหารมายึดอัฟกานิสถานได้ 20 ปี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศ ณ เดือนเมษายนของปีนี้ว่าจะถอนทหารอเมริกันกลับบ้านให้หมดก่อน 11 กันยายนปีนี้

ตรงกับเหตุการณ์การก่อการร้ายกลางกรุงนิวยอร์กเมื่อปี 2001 อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐต้องส่งทหารมาไล่ล่าโอซามา บิน ลาเดน ที่เป็นผู้บงการการก่อเหตุร้ายที่สหรัฐ

ก่อนหน้าการยึดคาบูลโดยทาลิบันเพียงเดือนเดียว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันกับนักข่าวว่า แม้ทหารอเมริกันจะถอนตัวออกไป แต่เหตุการณ์แบบ “ไซ่ง่อนแตก” จะไม่เกิดที่ “คาบูล” เพราะสถานการณ์แตกต่างกัน

แต่กลับไม่มอง “ความเหมือน” ที่เป็นต้นตอแห่งการล่มสลายของทั้งสองกรณี

ไบเดนอ้างว่าวอชิงตันได้สร้างกองทัพอัฟกันที่แข็งแกร่งและได้เตรียมการตั้งรับทาลิบันอย่างดี

ที่ไหนได้…พอทหารอเมริกันเริ่มถอนตัว และทาลิบันลุยยึดเมืองต่างๆ มุ่งสู่เมืองหลวง ทหารอัฟกันที่สหรัฐและพันธมิตรฝีกฝนมาก็ถอดใจ

นักรบทาลิบันสามารถเข้ายึดคาบูล ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในทำเนียบประธานาธิบดีโดยไม่เจอกับการต่อต้านจากกองกำลังของรัฐบาลอัฟกันเลยแม้แต่น้อย

เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีอาฟรัฟ กานี ของรัฐบาลอัฟกันและบริวารได้บินหนีจากประเทศไปอยู่เพื่อนบ้านทางเหนือเรียบร้อยแล้ว

ไม่ต่างอะไรกับภาพของวันที่ 30 เมษายน 1975 ที่กองกำลังเวียดนามเหนือสามารถคุกเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีของเวียดนาใต้โดยไม่มีการต่อต้านจากทหารท้องถิ่นเลย

ไซ่ง่อน, เวียดนามใต้ 1975

ทาลิบันคงงุนงงกับความง่ายดายของการเข้ายึดเมืองหลวงได้

ทำนองเดียวกับที่ทหารเวียดนามเหนือก็แปลกใจที่รถถังจากทางเหนือสามารถแล่นเข้าไซ่ง่อนได้อย่างปราศจากแรงเสียดทานใดๆ จากทหารเวียดนามใต้

ทั้งๆ ที่สหรัฐได้ประกาศก่อนหน้านี้อย่างมั่นอกมั่นใจว่าได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลในการสร้างกองทัพเวียดนามใต้ (เหมือนที่ไบเดนอ้างว่าได้ทำให้กับรัฐบาลอัฟกัน) เพื่อปกปักรักษาฐานที่มั่นและอำนาจการบริหารประเทศต่อไปได้แม้จะไม่มีทหารอเมริกันคอยปกป้องแล้วก็ตาม

ในปี 1975 นั้นประธานาธิบดีฟอร์ดรับมรดกของสงครามเวียดนามจากอดีตผู้นำหลายคน

ก่อนหน้านั้นสองปี ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้เริ่มถอนทหารอเมริกันกลับจากเวียดนาม

แต่ก็ยังคงนักการทูต, ฝ่ายข่าวกรองและทหารจำนวนหนึ่งเอาในเวียดนาม

ก่อนหน้า 30 เมษายน 1975 มีเสียงเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐและชาวเวียดนามใต้ที่ทำงานให้กับอเมริกาได้ขอร้องอ้อนวอนให้ช่วยอพยพพวกเขาออกนอกประเทศก่อนที่ทหารเวียดนามเหนือจะรุกมาถึงเมืองหลวง

แต่การสั่งการล่าช้า ไร้แผนถอยอย่างเป็นระบบ และประเมินความแข็งแกร่งและรวดเร็วของทหารเวียดนามเหนือต่ำไป

ทำให้เกิดความโกลาหล, จ้าละหวั่นและสับสนอลหม่านเกิดขึ้นทั้งที่ไซ่ง่อนปีนั้นและคาบูลปีนี้อย่างที่เห็นกัน

ฉากเล็กๆ ที่ล่องแจ้งของลาวในปี 1974 ที่ขนชาวม้งอพยพหนีมาอุดรธานีของไทยเป็นการตอกย้ำว่าการถอยร่นของสหรัฐเป็นไปอย่างชุลมุนและไร้การวางแผนโดยสิ้นเชิง

มหาอำนาจอย่างสหรัฐไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์แห่งความล้มเหลวของตัวเองจริงๆ!