สถานการณ์อัฟกานิสถาน กับปฏิกิริยาของสังคมไทย และสามจังหวัดชายแดนใต้/บทความพิเศษ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

สถานการณ์อัฟกานิสถาน

กับปฏิกิริยาของสังคมไทย

และสามจังหวัดชายแดนใต้

เมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีการละหมาดฮายัดตอนที่ทหารอเมริกันและพันธมิตรบุกยึดอัฟกานิสถาน

ตอนนี้มีปฏิกิริยาที่ทั้งสนับสนุนฏอลิบาน และกระแสต่อต้านที่อาจจะเกินจริงจากสถานการณ์ปัจจุบัน

สังคมและความเชื่อของชาวมุสลิมชายแดนภาคใต้ มีหลายกลุ่ม

อย่างน้อยแบ่งได้เป็นสามกลุ่มในบริบทปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานีสถาน และก็ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันคือ

กลุ่มที่นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหา

อีกกลุ่มหนึ่งเห็นใจสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มมุสลิมที่ pro America (หนุนอเมริกา) หรือทางฝั่งตะวันตก

การให้ความเห็นทางวิชาการเรื่องปรากฏการณ์การที่ฏอลิบานยึดครองอัฟกานิสถานได้นั้นควรต้องเป็นการสื่อสารข้อมูลที่เกิดขี้นบนฐานความเข้าใจในความซับซ้อนของพื้นที่และต้องมีข้อมูลเชิงการข่าวที่ตรวจสอบแห่งที่มาแล้วจึงจะสามารถสื่อสารในทางการวิเคราะห์ได้

แต่ก็ค่อนข้างยากเพราะมีคนที่อยู่ในกระแสต่อต้านฏอลีบานอย่างเกินจริง มีคนที่สนับสนุนฏอลีบานมากด้วยความรู้สึก

การตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวแต่ละชิ้นจึงยากแต่ก็ต้องทำ

เช่น ทำไมฏอลิบานใช้อาวุธ

ทำไมทหารอัฟกันที่มีอุปกรณ์การรบจำนวนทหารมากมายจึงไม่ต่อสู้กับฏอลิบาน

ฏอลิบานปรับเปลี่ยนท่าทีไปแล้วเพียงเพื่อการได้รับการยอมรับหรือเปลี่ยนไปจริงๆ ตามที่แถลงการณ์ออกมา

 

ปัจจุบัน (ส่วนใหญ่) สังคมไทยไม่ได้เข้าถึงข้อมูลในสถานการณ์อัฟกานิสถานได้ง่ายนัก เพราะข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาหลายมุมมองและมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งจากประเทศตะวันตก จากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งใกล้ไกลและมีอิทธิพลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จึงต้องมีการกลั่นกรอง เหมือนเอามาใส่ตะแกรงร่อนให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการนำไปวิเคราะห์และทำงานตามสายงานของตน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักการศาสนา หรือสื่อมวลชน อีกทั้งตอนนี้ทุกคนมีสื่อในมือการวิเคราะห์ข่าวหรือการอ่านข่าวให้เป็นจริงมีความสำคัญมากในสถานการณ์ที่ยังฝุ่นตลบ

ในมุมมองของนักสิทธิสตรี (บางท่าน) ในพื้นที่ (อัฟกานิสถาน) สะท้อนมาว่าตนต้องหลบซ่อนตัวก่อน ปิดสื่อออนไลน์ และลบบัญชีไปทั้งหมดเพื่อป้องกันการคุกคาม รอดูสถานการณ์ กลุ่มสตรีนักกิจกรรมมีประสบการณ์ด้วยตนเองจึงยังไม่เชื่อมั่นว่าฏอลิบานจะทำตามที่แถลงต่อประชาคมโลก และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้สนับสนุนฏอลิบานที่ไม่ทราบสถานการณ์จริง

ในจังหวัดชายแดนใต้ไทยมีคนแสดงท่าทีสนับสนุนฏอลิบานในการปลดปล่อยอัฟกานิสถานและเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวสารที่ออกมาในทางลบต่อฏอลิบานนั้นเป็นข่าวที่ผลิตขึ้นจากฝั่งตะวันตกที่ต้องการให้ร้ายกับฝ่ายมุสลิม ซึ่งอาจหมายถึงไม่เชื่อข้อมูลจากนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนที่มาพูดเรื่องสิทธิสตรีและอื่นๆ ในตอนนี้

รวมทั้งพวกเขาบางส่วนยังมีความคิดมุ่งมั่นเรื่องการก่อตั้งรัฐอิสลาม ศาลชารีอะห์ ซึ่งก็ทำให้ข่าวสารเรื่องฏอลิบานกลายเป็นแรงบันดาลใจ

แต่จะถึงขั้นเข้าร่วมแนวทางการใช้ความรุนแรงหรือการต่อสู้ทางอาวุธขึ้นมาหรือไม่ยังไม่อาจตอบได้

 

ในมุมเรื่องการสื่อสาร ตอนนี้มีหลายฝ่ายที่สื่อสารในเรื่องอัฟกานิสถานในมุมมองที่สนับสนุนแนวคิดเดิมของตนเอง

เช่น อาจมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงอยู่แล้วก็จะสื่อสารในทำนองที่สนับสนุนหรือมีความฮึกเหิมในการต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรุนแรง ที่มองว่าประสบความสำเร็จได้

หรือในกรณีที่ต้องการสนับสนุนการกำหนดชะตากรรมของตนเองก็อาจจะมองเรื่องเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานเป็นแรงบันดาลใจ

ยิ่งถ้าเป็นข่าวสารที่ใช้ภาษาอาหรับหรือภาษามลายูด้วยแล้วก็จะเชื่อถือข่าวสารเหล่านั้นอย่างสนิทใจ รวมทั้งมีความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดอยู่แล้ว (Conspiracy Theory) ก็จะมองการวิพากษ์วิจารณ์ฏอลิบานเป็นวิจารณ์อิสลามของฝ่ายตะวันตก

ทั้งที่ข่าวสารด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิสตรีและเด็กก็เป็นข่าวที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในส่วนที่ได้มีการเผยแพร่และสื่อสาร เช่น จากชาวอัฟกันที่อยู่ต่างประเทศ หรือจากญาติพี่น้องที่ยังคงประสบเหตุการณ์ในปัจจุบัน

ไม่ใช่เรื่องว่ามีการสร้างข่าวหรือทำข่าวเท็จ เช่น การไปเคาะประตูบ้าน การเผาสวนสาธารณะ การฆ่าเด็กที่ถือธงชาติอัฟกัน เป็นต้น

นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักข่าวที่อยู่ห่างไกลจากข้อเท็จจริง ก็คงต้องยึดแนวทางการสื่อสารอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ในอัฟกานิสถาน

เมื่อเราเสพสื่อผ่านคนอื่น ก็จะมีทั้งความรู้สึก ความกลัว ผลประโยชน์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสพข้อมูลที่เป็นจริงอยู่หรือไม่อย่างไร และข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ใช่ตัวแทนของเรื่องราวนั้นก็ได้

เหตการณ์หนึ่งจากคนในเหตุการณ์ที่ประสบมาก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นทั่วอัฟกานิสถาน

มีข้อเสนอว่าเหตุการณ์ยังคุกรุ่น จึงต้องรับฟังอย่างรอบด้าน ใจเย็น ไม่ตีขลุม กรองความเห็นออกไปให้ได้มากที่สุด แสดงความเป็นห่วงใยต่อสถานการณ์เด็กและสตรีได้ อย่าลืมว่าสื่อก็มีธง และตัวเราเองเวลาเสพสื่อก็มีธง

เรามีทั้ง IO ในประเทศไทย IO ในระดับสากลก็มีหนักมากด้วย เราต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า Misinformation and information disorder

เราจึงต้องวิเคราะห์เนื้อหาข่าว สื่อมาจากไหน ใครเป็นคนสร้าง อะไรที่ซ่อนอยู่ในสื่อนั้น สื่อต้องการอะไรจากเรา

 

ข้อเสนอแนะเบื้องต้น

1.ทำ fact check ทั้งที่ทำอยู่แล้วและทำต่อ ก่อนการสื่อสารเผยแพร่แม้จะเป็นการส่งต่อด้วยช่องทางส่วนตัวและการสื่อสารอื่น

2. ส่งเสริมการสื่อสารเพื่อสันติภาพหรืออีกนัยหนึ่งคือการทำสื่ออย่างมืออาชีพต่อไปอย่างกว้างขวาง

3. ข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ในบริบทเวลาที่ต่างกัน อาจจะต้องมีการศึกษาเรื่องอัฟกานิสถานกันแบบเริ่มต้น set zero เพื่อการก้าวไปข้างหน้า ทั้งเรื่องกระบวนการสันติภาพและหรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพจริง การแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังกับมุมมองทางศาสนาอิสลาม

4. การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งผลกระทบที่อาจส่งมาถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ และก็คงหมายถึงการเฝ้าดูสถานการณ์ ทั้งห้าเรื่องนี้ที่กำลังเข้มข้นและก็จะไม่จางหายไป เมื่อสถานการณ์อัฟกานิสถานได้คลี่คลายลง

5. องค์กรสิทธิฯ ยืนยันในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารข้ามวัฒนธรรม หลักการด้านสิทธิมนุษยชนกับหลักศาสนาอิสลามต้องนำมาพูดคุยสร้างพื้นที่กลางปลอดภัย ให้เกิดบทสนทนาให้มุมมองที่แตกต่างสามารถรวมพบปะ พูดคุยกันได้ หาจุดร่วมกันในการพูดคุยกันต่อเนื่อง

 

ความท้าทาย

ความท้าทายหลังจากนี้สำหรับการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ของฏอลิบานมีสองปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลใหม่จะสามารถเดินต่อได้หรือไม่อย่างไร

หนึ่ง ภายในประเทศ บรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มและการได้มาของรัฐบาลครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผ่านด้วยการต่อสู้ทางอาวุธ

ซึ่งฏอลิบานจะใช้สันติวิธีอย่างไร ตามที่ประกาศแถลงการณ์ (ในเชิงประจักษ์ไม่ใช่ทฤษฎีสวยหรู) โจทย์ใหญ่ คือการให้โอกาสในการมีส่วนร่วม ทางการเมือง ร่วมออกออกแบบประเทศใหม่ รวมทั้งจะต้องไม่บีบคั้น กดขี่ ข่มเหง ทำร้าย ใช้ความรุนแรงและสร้างความหวาดกลัว ให้ประชาชนที่เห็นต่างจากฏอลิบานหรืออาจจะเห็นต่างหลักกฎหมายอิสลามให้มีพื้นที่กลางปลอดภัยที่ได้ถกแถลงทางวิชาการอย่างมีอารยะอันอาจเป็นผลทางตรงและทางอ้อมต่อสันติภาพ

อีกประการคือขุนศึกที่ร่วมรบจะรับประกันอย่างไรที่พวกเขาจะสามารถปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในแถลงการณ์ เพราะในอดีตเชิงประจักษ์หลังขุนศึกมุญาฮิดีนชนะสหภาพโซเวียตกลับแบ่งสันปันส่วนอำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง

สอง ปัจจัยภายนอกประเทศ

นโยบายของตะวันตกภายใต้การนำของอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน อินเดียอิหร่าน โลกอาหรับ และขบวนการอิสลามจะเป็นอย่างไร

องค์กรภายนอกโดยเฉพาะมหาอำนาจควรเลิกแทรกแซงกิจการภายในประเทศอัฟกานิสถาน ด้วยความหวังดีผ่าน “คำว่าสันติภาพ” ซึ่งตลอด 40 กว่าปีเป็นเวลามากพอแล้วที่ชาวโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามีสันติภาพหรือไม่

ปล่อยให้ชาวอัฟกานิสถานแม้จะหลากหลายกลุ่ม และแนวคิดได้ร่วมออกแบบอนาคตของเขาสักครั้ง

สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการนำหลักการอิสลามมาใช้เป็นกฎหมายประเทศซึ่งผู้นำฏอลิบานยืนยันต่อหน้าสื่อหลายครั้งว่าเป็นหลักการอิสลามสายกลางที่ไม่เหมือนกับปกครองประเทศเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว

หมายเหตุ : บทสนทนานี้ (สถานการณ์อัฟกานิสถานกับปฏิกิริยาของสังคมไทยและสามจังหวัดชายแดนใต้) เกิดจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ของผู้เขียน ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ นายมารุฟ อิบบาฮิม อ.อสมา มังกรชัย อัญชนา หีมมิน๊ะ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนูรอาซีกิน ยูโซ๊ะ