ยึดอำนาจได้ ปกครองไม่ได้! สู่รัฐล้มเหลวในเมียนมา/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ยึดอำนาจได้ ปกครองไม่ได้!

สู่รัฐล้มเหลวในเมียนมา

 

“การสังหารหมู่จากการปราบปรามของทหารกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านรุนแรงมากขึ้น”

Thant Myint-U (2021)

 

การต่อต้านรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา อันนำไปสู่การสูญเสียผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า 800 ชีวิต และมีผู้ถูกจับกุมแล้วมากกว่า 5,000 คน (ตัวเลข 6 เดือนหลังรัฐประหาร)

แม้รัฐประหารจะผ่านไปมากกว่าครึ่งปี แต่ก็เป็นครึ่งปีที่สร้างฝันร้ายให้แก่ผู้นำทหารเมียนมาไม่หยุด

จนต้องสรุปในเบื้องต้นว่า แม้ระยะเวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว แต่การยึดอำนาจกลับไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

สภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ผู้นำทหารเมียนมาสามารถที่จะยึดอำนาจได้ไม่ยาก แต่กลับไม่สามารถปกครองได้

หรืออาจกล่าวในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า “รัฐบาลทหารมีอำนาจ แต่ไม่มีความชอบธรรม” และไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล การดำรงอยู่ของระบอบทหารครั้งนี้จึงไม่ง่ายเหมือนกับหลังรัฐประหารในครั้งก่อนๆ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของความไร้เสถียรภาพ และการประท้วงทางการเมือง

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารมีพัฒนาการทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” ของฝ่ายประชาธิปไตยในเวทีสากล (The National Unity Government : NUG)

และมีรายงานถึงการติดต่อระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ อันเป็นสัญญาณทางการเมืองถึงการเชื่อมต่อระหว่าง “รัฐบาลพลัดถิ่น” กับรัฐบาลอื่นๆ

อันทำให้บทบาทของรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญในเวทีสากล

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าระยะเวลาของการยึดอำนาจผ่านมามากกว่าครึ่งปีแล้ว แต่การต่อต้านจากประชาชนบนถนนยังดำเนินต่อไป และยังไม่มีท่าทีที่จะอ่อนแรงลง

การต่อสู้ในเมียนมากลายเป็นหนึ่งในหัวข้อข่าวสำคัญของการเมืองโลกปัจจุบัน จนกลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้สหประชาชาติต้องหันมาพิจารณาความรุนแรงชุดนี้ด้วย และยังกดดันให้อาเซียนต้องออกข้อมติ อันนำไปสู่การเตรียมส่งทูตพิเศษเข้าไปเมียนมา เพื่อแสวงหาลู่ทางในการยุติความรุนแรง

ซึ่งก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลทหารคงไม่ยอมประนีประนอมกับฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อจะนำพาการเมืองเมียนมากลับไปสู่ “สถานะเดิม” ก่อน 1 กุมภาพันธ์

อีกทั้งฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่อาจเปิด “การรุกใหญ่” ทางทหาร จนกดดันให้รัฐบาลทหารเพลี่ยงพล้ำ และต้องยอมรับเงื่อนไขประนีประนอม

 

รัฐทหาร-รัฐล้มเหลว

แม้กองทัพจะใช้ความรุนแรงเพื่อกระชับอำนาจ แต่ผู้นำทหารกลับไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง ประชาชนที่ยืนหยัดกับการเรียกร้องประชาธิปไตยตามเมืองต่างๆ ไม่ได้ถดถอยไปกับการใช้กำลังปราบปราม

แต่ในอีกด้านของการเรียกร้องประชาธิปไตย สังคมเมียนมาต้องประสบปัญหาอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนอัตราการระบาดในเมียนมาเป็นประเด็นที่น่ากังวลกับสถานการณ์โควิดในภูมิภาค

อีกทั้งสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเมียนมาก็ขยายตัวออกไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ พร้อมกับการสร้างพันธมิตรระหว่างคนรุ่นใหม่ของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย

และรัฐประหารได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพาประเทศสู่ความเป็น “รัฐล้มเหลว”

รัฐบาลทหารไม่สามารถทำหน้าที่ของความเป็นรัฐได้ จนนำไปสู่การหลั่งไหลของผู้อพยพออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย อินเดีย และจีน

ความเป็น “รัฐล้มเหลว” กลายเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้นำทหารที่จะเข้ามาควบคุมพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ เช่น ผลประโยชน์จากธุรกิจไม้ อัญมณี เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดก็อาศัยความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ

แต่ในอีกด้าน สภาวะของความล้มเหลวของรัฐสร้างปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการช่วยเหลือและการดูแลผู้ป่วยจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงการช่วยเหลือคนยากจนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาโรคระบาดในภาวะปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงทั้งความอ่อนแอและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐทหาร

เพราะในสถานการณ์การระบาดเช่นนี้ คนจนและคนชั้นล่างของสังคมถูกทิ้งไว้โดยปราศจากความช่วยเหลือ เพราะรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ของตนในการดูแลประชาชนได้แล้ว

ขณะเดียวกันการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดังเห็นได้จากจำนวนของคนจนในสังคมเมียนมาที่มีรายได้ราว 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวัน พุ่งสูงขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 63 ในช่วงระยะเวลาประมาณ 8 เดือนที่ผ่านมา (อัตราแลกเปลี่ยนที่เหรียญละ 30 บาทโดยประมาณ หรืออาจกล่าวได้ว่าคนจนในสังคมเมียนมามีรายได้ไม่ถึงวันละ 60 บาท)

การขยายตัวของจำนวนคนจนอย่างรวดเร็วเป็นภาพสะท้อนสำคัญของความล้มเหลวของการบริหารของรัฐบาลทหาร ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับช่วงที่รัฐบาลเลือกตั้งปกครอง การขยายตัวของระบบทุนนิยมเปิดโอกาสให้คนมีความหวังในทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็เกิดการเพิ่มขึ้นของโรงงานและเป็นแหล่งของการว่าจ้างงาน ที่ก่อให้เกิดรายได้แก่คนในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดพลวัตทางสังคมอย่างมาก

เช่น ในปี 2011 แทบไม่มีใครมีโทรศัพท์มือถือ แต่ในปี 2016 คนเป็นจำนวนมากมีมือถือ ทั้งยังเข้าถึงการสื่อสารของโลกสมัยใหม่ เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตกับการเลือกตั้งตระหนักถึงการมีเสรีภาพ รวมถึงการมีความหวังทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เพราะดูเหมือนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในเมียนมากำลังเดินหน้าไปได้ การยึดอำนาจจึงมีผลกระทบทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจพร้อมกันไป อีกทั้งการปกครองของทหารในภาวะปัจจุบันกลายเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ทั้งยังเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก

ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งรัฐบาลทหารจึงกลายเป็นปัจจัยที่ปิดกั้นความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย

 

วิกฤตแล้ว วิกฤตอีก!

ปัญหาสำคัญอีกประการที่เกิดจากการบริหารของผู้นำทหารคือ การล้มละลายทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเห็นได้จากรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้แล้ว ฉะนั้น รัฐประหารครั้งนี้ก็เช่นกันที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และการบริหารของรัฐบาลทหารยิ่งทำให้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ทวีความรุนแรงขึ้น ผลที่เกิดเช่นนี้ทำให้ความเป็นรัฐล้มเหลวภายใต้รัฐบาลทหารปรากฏชัด และกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของชีวิตผู้คน

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมียนมาซึ่งมีปัญหาความยากจนอยู่แล้วกำลังถูกซ้ำเติมอย่างหนักด้วยผลกระทบจากการรัฐประหาร และการขยายตัวของความขัดแย้งที่นำไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท พร้อมกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 และการบริหารวิกฤตที่ไร้ประสิทธิภาพ

สิ่งที่ตามมาจากสถานการณ์นี้คือ การลดลงของรายได้ครัวเรือนของประชากร อันเป็นผลจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเมียนมาอย่างมาก ในปี 2019 (พ.ศ.2562) รายได้จากการท่องเที่ยว และรายได้จากภายนอกสูงถึง 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งรายได้ที่ลดต่ำลงจากแรงงานที่ออกไปทำงานนอกประเทศ โดยเฉพาะการทำงานในประเทศเพื่อนบ้านต้องประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19

อีกทั้งรายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เคยเป็นความสำเร็จของการสร้างผลตอบแทนแก่หลายครอบครัวในสังคม

แต่รายการสั่งซื้อจากโลกตะวันตกหายไปทันทีหลังรัฐประหาร อันเป็นผลจากการ “แซงก์ชั่น” ต่อการยึดอำนาจ

ซึ่งก่อนการรัฐประหารนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการจ้างคนงานมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสตรี

รัฐประหารจึงมีนัยถึงการตกงานของคนงานเป็นจำนวนมากจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ในขณะเดียวกันภาคการเกษตรเองก็ประสบปัญหาจากความไม่แน่นอน และไม่ได้ให้ผลตอบแทนมาก อีกทั้งยังไม่สามารถเป็นแหล่งของการจ้างงานได้จริง

ส่วนเศรษฐกิจในเมืองก็อ่อนแอลงจากการประท้วงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภาคการเงินและการธนาคาร

ดังจะเห็นได้ว่าธนาคารหลายแห่งต้องปิด และตู้กดเงินสดหลายแห่งไม่มีเงินที่จะลูกค้าถอนได้ รวมทั้งหลายธุรกิจไม่มีงบประมาณที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน

ในยามวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำทหารยังสามารถรวบรวมความมั่งคั่งได้จากงบประมาณทหาร และจากธุรกิจที่ทหารเข้าไปควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเหมืองอัญมณี (โดยเฉพาะหยก) ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้นำทหารยังเป็นผู้ที่คุมความมั่งคั่งของประเทศ โดยเฉพาะการเป็นผู้คุมงบประมาณของประเทศทั้งหมดที่มีมูลค่ามากถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ประชาชนเมียนมา 55 ล้านคนกำลังตกอยู่ในวิกฤตใหญ่ และความยากจนขยายตัวเป็นวงกว้าง

ในช่วง 6 เดือนหลังรัฐประหารจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และซ้ำเติมด้วยวิกฤตความขาดแคลนอาหาร จนถือเป็น “วิกฤตความมั่นคงของมนุษย์” ชุดใหญ่ ประมาณว่าคนจนราว 3.5 ล้านคนจะเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง

แต่ความหวังที่จะให้มีการปรับลดงบประมาณทหารเพื่อนำงบมาใช้ในการสู้กับวิกฤตโควิดนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก

ความขาดแคลนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในสังคม และยังต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างมาก สภาวะเช่นนี้ทำให้กลุ่มคนที่เปราะบางในสังคมประสบปัญหา

 

สงครามและประชาธิปไตย

ความเป็นรัฐล้มเหลวที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมานั้น มีนัยถึงการขยายตัวของความรุนแรงที่เกิดในสังคม แม้กองทัพจะสามารถควบคุมพื้นที่ในเมืองได้ แต่การขยายตัวของสงครามกองโจร จากชนบทเข้าสู่เมือง ด้านหนึ่งส่งผลอย่างมากต่อการปกครองของระบอบทหาร และทำให้รัฐบาลทหารไม่อาจกระชับอำนาจได้

หลังรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ สังคมเมียนมาเผชิญกับทั้งวิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสงครามกลางเมือง และวิกฤตโรคระบาด และวิกฤตทั้งสี่เกิดทับซ้อนกัน จนความหวังที่จะพาสังคมเมียนมาออกจากวิกฤตเหล่านี้ในระยะเวลาอันสั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คาดคะเนในช่วงต้นของการต่อสู้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงคงไม่ยุติได้ง่าย และรัฐบาลทหารคงไม่ยอมถอยออกจากการเมืองในขณะเดียวกัน เมียนมาก็ก้าวไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลวมากขึ้น

แน่นอนว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมียนมาในยุคโควิด-19 ยังไม่อาจชนะได้อย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลทหารก็ดำรงอยู่ด้วยความสั่นคลอนและไร้เสถียรภาพเป็นอย่างยิ่ง!