โควิด-19 กับกลุ่มคน ที่สังคมไทยไม่เคยเหลียวแล/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

โควิด-19 กับกลุ่มคน

ที่สังคมไทยไม่เคยเหลียวแล

 

เว็บไซต์ แชนแนลนิวส์ เอเชีย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่งของบรรดา “ผู้ให้บริการทางเพศ” อันเป็นผู้คนในกลุ่มที่สังคมไทยพูดถึงกันน้อยมาก อย่าว่าแต่จะให้เหลียวแล ห่วงหาอาทรกันเลย

ทั้งๆ ที่ “พนักงานบริการ” เหล่านี้มีอยู่จริง และมีมากไม่น้อยเสียด้วย

ประเด็นที่ “พิชญดา พรมเชิดชู” ผู้เขียนนำเสนอไว้ในข้อเขียนชิ้นดังกล่าวนี้ ก็คือ ในยามที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักอยู่ในไทยในเวลานี้ ผู้คนเหล่านี้ ได้รับผลกระทบอย่างไร ใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เอาตัวรอดกันได้หรือไม่?

ในยามที่แสงสีนีออน เสียงดนตรีและนักเที่ยว เหือดหายไปจนหมดจากแหล่งบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นวอล์กกิ้งสตรีต ที่พัทยา ป่าตอง หรือพัฒน์พงศ์ ในกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่เคยเป็น “ที่ทำงาน” เลี้ยงตัวเองและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังของผู้คนเหล่านี้มานานนับ 10 ปีปิดไป

ผู้คนเหล่านี้รู้สึกอย่างไร?

 

“หดหู่” คือคำที่แอนนา ผู้ขายบริการที่ใช้ชีวิตอยู่กับถนนคนเดินในพัทยามานานถึง 12 ปีบอก “ทุกวันนี้ ถึงหกโมงเย็น พัทยาก็เหมือนเมืองร้าง วอล์กกิ้งสตรีตไม่มีแม้แต่สัญญาณแสดงความมีชีวิตชีวา อยากร้องไห้เหมือนกัน ที่นี่สร้างรายได้ สร้างอนาคตให้กับผู้คนมามากมายนัก” เธอบอก

พิชญดาพูดคุยกับ “สุรางค์ จันทร์แย้ม” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพนักงานบริการที่ทำกิจกรรมเพื่อผู้หญิงเหล่านี้มานานร่วม 3 ทศวรรษ ในนามของ “มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ” หรือ SWING” ได้รับคำบอกกล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้คนเหล่านี้ “หลายแสนคน” ที่ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง “จู่ๆ ก็ว่างงานกะทันหัน” ไม่มีการดูแลจากรัฐ ไม่มีเงินบรรเทาความเดือดร้อนมานานกว่าปีแล้ว

“จินตนาการได้ยากเหลือเกินว่า พวกเขาเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร ในเมื่อไม่มีรายได้เข้ามา เพราะทุกคนยังชีพอยู่ได้ด้วยรายได้รายวันทั้งนั้น”

“ผู้หญิงบริการราว 200,000 คนทั่วประเทศไทย ยังคงต้องต่อสู้เพื่อให้ ‘งาน’ ของตัวเองเป็นงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับหลักประกันตามค่าแรงขั้นต่ำแล้วยังจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการเหมือนกับตำแหน่งงานอื่นๆ ต่อไป” สุรางค์บอก

เธอชี้ให้เห็นว่า ในเมื่อไม่ได้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม นั่นหมายถึงแม้แต่เงินประกันสังคมที่รัฐประกาศมอบให้อันเนื่องมาจากการตกงานเพราะมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด คนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับ

 

การระบาดระลอกล่าสุด ทำให้คนไทยติดเชื้อกว่า 20,000 คนต่อวันในเดือนนี้ ไนต์คลับ บาร์ทั่วประเทศยังคงปิดตายต่อเนื่องกันนานหลายเดือน หลายจังหวัด รวมทั้ง กทม.และพัทยา ตกอยู่ภายใต้เคอร์ฟิว ปิดกั้นโอกาสหา “ลูกค้า” ลงโดยสิ้นเชิง

รายได้ไม่มี แต่ข้าวยังต้องกิน ค่าเช่าบ้านยังต้องจ่าย หลายคนถึงตกอยู่ในสภาพลำบากสาหัส

ข้อมูลของ “สวิง” ระบุว่า บางส่วนถึงกับต้อง “ทนอด” ใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากข้าวปลาอาหารนานนับเป็นวันๆ อีกบางส่วนจำเป็นต้องนำเอาเงินออมจากหลายปีที่ผ่านมาออกมายืดชีวิต อีกไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อของนายทุนเงินกู้นอกระบบ

แอนนาซึ่งตอนนี้ใช้เวลาทำงานพาร์ตไทม์ให้กับ “สวิง” บอกว่า เพื่อนร่วมอาชีพของตนบางรายไม่มีเงินจ่ายค่าห้องเช่า ต้องลงเอยด้วยการอาศัยชายหาดเป็นที่นอน เสี่ยงเอาเองกับการถูกจับเพราะละเมิดเคอร์ฟิว

บางส่วนเลือกใช้ผับ บาร์ เปิดโล่ง ที่ปิดตัวลงเป็นที่ซุกหัวไปวันๆ ขดตัวอยู่หลังเคาน์เตอร์เครื่องดื่ม ท่ามกลางฝูงยุงกระหายเลือด ชนิด “ฝนตกเมื่อไหร่ก็เปียกเมื่อนั้น”

 

สถานการณ์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นทั่วประเทศ “เอ็มพาวเวอร์ ฟาวเดชั่น” ที่ทำงานเพื่อสิทธิ สวัสดิการ และการศึกษาของคนกลางคืนที่เชียงใหม่ โดยมีสมาชิกมากกว่า 50,000 คนทั้งตอนเหนือและอีกหลายส่วนของประเทศ ก็ต้องทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อผู้หญิงกลางคืน ทั้งที่เป็นคนไทยและผู้อพยพเข้ามาจากต่างแดน

หลายคนต้องกระเสือกกระสนทำงานทุกอย่างเท่าที่สามารถหาได้ ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟ ผู้ช่วยในร้านขายของ หรือพนักงานในปั๊มน้ำมัน

แต่มีอีกมากมายที่ไม่มีงานให้ทำ แม้แต่งานเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

เอ็มพาวเวอร์ ฟาวเดชั่น เคยนำกลุ่มผู้หญิงบริการจากอุตสาหกรรมบันเทิง มาเรียกร้องถึงทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ขอเงินชดเชยรายละ 5,000 บาทจากการถูกปิดกิจการเพราะมาตรการของรัฐ

คำตอบคือ “ความเงียบ”

ตอนนี้ ทุกคนได้แต่ถูลู่ถูกัง ลากสังขาร ลากชีวิตให้ยืนยาวต่อไปทีละวัน แต่ถ้าวิกฤตโควิดยืดเยื้อ ลากยาวต่อไปจนถึงปีหน้า ทุกคนได้แต่ส่ายหน้าบอกเหมือนกันหมดว่า

“เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร”